ระบบ P4P มีดีมีเสีย (ตอนที่ 1)

นายแพทย์เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ออกมาต่อต้านการตัดสินใจผลักดันนโยบาย P4P ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยกล่าวว่า การศึกษาเอกสารต่างประเทศโดยเฉพาะงานวิจัยของ Bruin และคณะที่ทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ พบว่า P4P มิได้มีผลกระทบต่อสุขภาวะของประชากรอย่างชัดเจน หรือประหยัดงบประมาณในการรักษาพยาบาลได้มาก

นอกจากนี้ มีงานวิจัยล่าสุดในอังกฤษ (ซึ่งเป็นประเทศที่ทำ P4P อย่างจริงจังที่สุดในโลก โดยใช้เงินเป็นหลักพันล้านปอนด์ต่อปี) โดย Fleetcroft และคณะก็ยืนยันว่า P4P ในอังกฤษล้มเหลว การจ่ายเงินช่วยให้สุขภาวะของประชากรดีขึ้นเพียงเล็กน้อย แม้จะมีความพยายามในการแก้ไข ปรับปรุง ตัวชี้วัดในการจ่ายเงินให้ตรงกับผลลัพท์ทางสุขภาพมาหลายครั้งและหลายปีแล้ว

กระทรวง สธ. ไทยยังไม่มีรายละเอียดของวิธีการ และกระบวนการที่ชัดเจนแต่อย่างใด ในขณะที่ประเทศไทยก็ยังขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในชนบท โรงพยาบาลชุมชนได้รับฟังคำชี้แจงของกระทรวง สธ. ผ่านการประชุมโทรศัพท์ทางไกล (Teleconference) แล้ว เกือบทั้งหมดไม่เห็นด้วยกับกระทรวง สธ. และได้ยื่นหนังสือคัดค้านไปที่สำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังแล้ว

ในเวลาต่อมา ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์กรณีกระทรวง สธ. ปรับเปลี่ยนวิธีการจ่ายค่าตอบแทนเป็นแบบผสมผสานระหว่างการจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามพื้นที่ และการจ่ายตามภาระงาน (P4P : Pay for Performance) โดยกล่าวว่า

การจ่ายค่าตอบแทนแบบ P4P นั้น ได้มีการนำมาใช้ในหลายองค์กรแล้ว โรงพยาบาลศิริราชเองก็มี เพราะเห็นว่าฐานเงินเดือนของข้าราชการทั่วไปต่ำกว่าเอกชนมาก ทำให้มีช่องว่างกว้างมากจนไม่สามารถดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ให้กับอยู่องค์กรได้ โรงพยาบาลศิริราชจึงใช้เงินรายได้ของโรงพยาบาลจ่ายค่าตอบแทนเพิ่มเติม จากเงินเดือนปกติให้แก่บุคลากรทุกระดับ

การจ่ายแบบ P4P ของโรงพยาบาลศิริราช จะพิจารณาภาระงานตามความยากง่ายในแต่ละระดับ เช่น พยาบาลที่ประจำห้องไอ.ซี.ยู.ซึ่งต้องดูแลผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง ก็จะได้ค่าตอบแทนสูงกว่าพยาบาลทั่วไป รองลงมาเป็นพยาบาลห้องผ่าตัด แล้วก็พยาบาลประจำหอผู้ป่วย ซึ่งก็จะแบ่งตามระดับการดูแลผู้ป่วยที่อาการ หนักมากหรือน้อย

นายแพทย์อุดม กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลศิริราชไม่ได้ผลักดันให้บุคลากรทุกระดับทำงานด้วยเงิน แต่พยายามตอกย้ำเรื่อง “ใจที่ทำประโยชน์เพื่อสังคม” เป็นหลัก บุคลากรศิริราชทุกคนจึงอยู่เพราะใจรัก และได้ทำประโยชน์ให้สังคมจริงๆ เพียงแต่เราต้องดูแลบุคลากรเหล่านี้ให้อยู่ได้ด้วยเช่นกัน

ในประเด็นการจ่ายค่าตอบแทนแบบ P4P ที่กระทรวง สธ. กำลังดำเนินการอยู่นี้ นายแพทย์อุดม คิดว่าเป็นสิ่งจำเป็น แต่ควรปรับรูปแบบ อาทิ เรื่องพื้นที่ทุรกันดาร ซึ่งบางแห่งได้กลายเป็นตัวเมืองที่มีความเจริญมากขึ้นแล่ เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามพื้นที่ดังกล่าว จึงอาจต้องลดลง เพื่อปรับให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ตรงนี้เข้าใจว่า [ทำได้] ยาก เพราะคนเคยได้รับ [ผลประโยชน์] ดังกล่าว และทำงานหนักอยู่แล้ว ก็จะรู้สึกไม่พอใจ

แหล่งข้อมูล:

  1. หมอชนบทจวก “ประดิษฐ” พบงานวิจัย P4P ล้มเหลว กลับนำมาใช้ในไทย - http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000032113&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2013, April 29].
  2. ศิริราชหนุน P4P ชี้ รพ.ก็ใช้ระบบนี้เพื่อดึงบุคลากร - http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000046747&Keyword=P4P [2013, April 29].