ระบบการแพทย์ทางไกล ใกล้เป็นจริงแล้ว (ตอนที่ 2)

ทิศทางการพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เกิดขึ้นหลังจากความสำเร็จของ โครงการ "เจ็บป่วยฉุกเฉิน ถึงแก่ชีวิต ไม่ถามสิทธิ ใกล้ที่ไหน ไปที่นั้น" ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 เป็นต้นมา ซึ่ง นพ. ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานความก้าวหน้าของการให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินดังกล่าว ว่ามีประชาชนไปรับบริการโรงพยาบาลเอกชนนอกระบบ จำนวน 2,353 คน ใน 191 แห่ง ใน 50 จังหวัด ผู้ป่วยที่ใช้บริการต่างจังหวัดมีร้อยละ 58.0

ปัจจุบันมีโรงพยาบาลรัฐ 2 แห่งในประเทศไทยที่ให้การรักษาพยาบาลโดยใช้ระบบการแพทย์ทางไกล คือ โรงพยาบาลอ่าวลึก จังหวัดกระบี่ และ โรงพยาบาลแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยทั้งสองแห่งเป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย และสถานีอนามัยที่ตนเองรับผิดชอบเป็นลูกข่าย [ปัจจุบันสถานีอนามัยเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล]

โรงพยาบาลอ่าวลึกอาศัยสัญญาณโทรศัพท์และระบบอินเทอร์เน็ตของการสื่อสารแห่งประเทศไทยในการส่งข้อมูลผู้ป่วย ส่วนโรงพยาบาลแม่สะเรียงใช้ระบบการถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียม ซึ่งทั้งสองแห่งใช้งานผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video conference)

ระบบการแพทย์ทางไกลสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ

  1. การเก็บข้อมูลแล้วส่งต่อ (Store-and-forward telemedicine)
  2. การควบคุมจากระยะไกล (Remote monitoring) และ
  3. โทรเวชกรรมปฏิสัมพันธ์ (Interactive telemedicine)

Store-and-forward telemedicine เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลทางการแพทย์ เช่น ภาพเอกซเรย์ (Medical imaging) และ สัญญาณทางชีวภาพ (Biosignals) แล้วส่งไปให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เพื่อการวินิจฉัยโรคและวางแผนการรักษาในเวลาไหนก็ได้ที่สะดวก ไม่จำเป็นที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องนั่งอยู่หน้าจอในเวลาเดียวกัน

การรักษาตามระบบการแพทย์ทางไกลประเภทนี้จะอาศัยข้อมูลประวัติการรักษาในอดีตและข้อมูลทางภาพหรือเสียง แทนการตรวจร่างกายโดยตรง (Physical examination) วิธีนี้นิยมใช้เพื่อปรึกษาขอการวินิจฉัยโรค หรือให้คำแนะนำอาทิ การรักษาเกี่ยวกับโรคผิวหนังที่เรียกว่า Teledermatology หรือการรับส่งข้อมูลภาพถ่ายรังสีที่เรียกว่า Teleradiology หรือการรับส่งข้อมูลภาพชิ้นเนื้อจากกล้องจุลทรรศน์ที่เรียกว่า Telepathology

Remote monitoring หรือที่เรียกว่า Self-monitoring / testing เป็นการรักษาที่นิยมใช้สำหรับการติดตามการรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรืออาการเฉพาะ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน (Diabetes mellitus) หรือ โรคหืด (Asthma) ตัวอย่างของการใช้วิธีนี้ ได้แก่ ผู้ป่วยตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองโดยใช้เครื่องเจาะน้ำตาลในเลือดจากปลายนิ้ว แล้วส่งผลการตรวจผ่านทางโทรสาร หรือโทรศัพท์ หรือ อีเมล มาให้แพทย์เพื่อแนะนำปรับยารักษาโรคเบาหวาน เป็นต้น

ข้อสำคัญผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือคลินิก เป็นวิธีที่ให้ผลเช่นเดียวกับการรักษาที่พบแพทย์โดยตรง สร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก เพราะไม่เสียเวลาและสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปพบแพทย์ได้

Interactive telemedicine เป็นการรักษาทางไกลที่ทั้งแพทย์และผู้ป่วยได้พูดคุยตอบโต้กันได้ทันทีในเวลาเดียวกัน (Real-time) เช่น การพูดคุยผ่านทางโทรศัพท์ (Phone conversations) หรือการสื่อสารผ่านระบบการประชุมปรึกษาหารือกันทางไกล (Video conference) ที่สามารถเห็นหน้าคู่สนทนาทั้งสองฝ่ายได้

แหล่งข้อมูล:

  1. นายกฯประชุมร่วม 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1340272325 [2012, July 3].
  2. Telemedicine. http://en.wikipedia.org/wiki/Telemedicine [2012, July 3].
  3. โทรเวชกรรม (Telemedicine) ในประเทศไทย http://www.thaipopulation.org/Stable/index.php?option=com_content&view=category&layout=blog&id=71&Itemid=59 [2012, July 3].