รอบคอบสักนิด ก่อนคิดให้ขายปลาปักเป้า (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

ปลาปักเป้ามีมากกว่า 120 สายพันธุ์ เป็นวงศ์ที่อาศัยในน้ำทะเล บริเวณทรายปนโคลน ปัจจัยสำคัญในการเลือกที่อยู่ของปลาปักเป้าคืออุณหภูมิ กล่าวคือ ชอบอากาศเขตร้อน ไม่สามารถอยู่ได้ในน้ำเย็น มักมีหัวโต ลำตัวกลม ครีบและหางเล็ก ฟันแหลมคมไว้ขบเปลือกสัตว์น้ำ เช่น กุ้ง หอย และปู เมื่อเวลาไม่พองตัว ปลาปักเป้าจะว่ายน้ำช้า ดูน่ารัก

คนที่ลงเล่นน้ำจึงมักไม่ระวัง จึงถูกกัดทำร้ายเป็นแผลบ่อยๆ เมื่อตกใจหรือจะข่มขู่ศัตรู โดยปลาปักเป้าจะสูดน้ำหรือลมเข้าช่องท้องให้ตัวพองออกได้เหมือนลูกโป่ง บางชนิดมีหนามแข็ง ปลาปักเป้ามีหลายชื่อในภาษาอังกฤษ เช่น Pufferfish, Sunfish, Triggerfish, Filefish, Globefish, Porcupinefish, Balloonfish, Blowfish, Swellfish, Bubblefish หรือ Toadfish แต่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Tetraodontiformes

พิษปลาปักเป้า มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Tetrodotoxin ขนาดของพิษที่ทำให้มนุษย์เสียชีวิต (Human lethal dose) คือ 2 มิลลิกรัม ซึ่งในบรรดาสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังทั้งหมด ปลาปักเป้า Pufferfish มีพิษที่ร้ายแรงเป็นรองเพียง “กบพิษสีทอง” (Golden poisoning frog) ซึ่งร้ายแรงที่สุด

ปลาปักเป้าจะมีพิษมากในฤดูวางไข่ อวัยวะที่มีพิษสะสมมากที่สุดคือ ไข่ ตับ ลำไส้ และหนัง ส่วนที่เป็นเนื้อปลาจะมีพิษน้อยมากหรือไม่มีเลย พิษ ของปลาปักเป้านี้ทนต่อความร้อนสูง จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่าการที่ชาวประมงนำไปต้ม หรือแม้แต่ทอดซึ่งใช้ความร้อนสูงก็ยังไม่สามารถทำลายพิษได้

ปลาปักเป้าส่วนใหญ่มีขนาดเล็กถึงขนาดกลาง เช่น ตัวที่เป็นอาหารของชาวประมงในข่าวเมื่อวานนี้คือ ยาว 40 เซนติเมตร อย่างไรก็ตามปลาปักเป้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยพบ มีความยาวกว่า 1 เมตร ระยะหลังมานี้พบว่า มีกระแสนิยมลักลอบนำปลาปักเป้ามาขายในประเทศไทยโดยใช้ชื่อ “ปลาเนื้อไก่”

ในประวัติศาสตร์มีความนิยมการประกอบอาหารด้วยปลาปักเป้าในประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น แต่ต้องจัดการด้วยพ่อครัวที่มีความชำนาญพิเศษ มีความรู้ว่าส่วนใดมีพิษ ส่วนใดรับประทานได้ มีเทคนิคการแล่เนื้อที่ถูกต้อง และมีขั้นตอนการประกอบอาหารที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นซุป หรือบางครั้งรับประทานดิบ รวมถึงมีความรู้ว่า ต้องกำหนดปริมาณเท่าใดให้กับผู้บริโภคด้วย

หากถูกพิษปลาปักเป้าจะมีอาการมึน บางครั้งก็ล่องลอย ชาที่ลิ้นและปาก แต่บางครั้งก็มีความตั้งใจจะบริโภคปลาปักเป้าเพื่อให้เกิดอาการดังกล่าว ต่อมาก็อาจเกิดการวิงเวียน อาเจียน จนถึงเจ็บปวดเหมือนถูกทิ่มแทงทั่วตัว หัวใจเต้นรัว ความดันโลหิตลดลง และกล้ามเนื้อไม่ตอบสนอง (อัมพาต)

พิษสามารถทำให้กล้ามเนื้อกระบังลมเป็นอัมพาตและระบบหายใจล้มเหลว ผู้ป่วยที่สามารถรอดชีวิตอยู่ได้เกิน 24 ชั่วโมง ส่วนมากก็จะฟื้นได้ แม้อาจใช้เวลาอยู่ในอาการหมดสติ (Coma) อยู่หลายวัน ผู้ป่วยมักเล่าว่ารู้สึกตัวตลอดเวลา โดยจะเล่าเหตุการณ์ที่ผ่านมาได้ เพียงดูเหมือนไม่รู้สึกตัวเลย การเป็นอัมพาตทำให้ร่างกายต้องการออกซิเจนน้อยมาก

นอกจากนี้ พิษนี้จะขัดขวางการทำงานของระบบประสาทสมอง สายตาและหู ชาวอัฟริกาจึงนำไปใช้ในพิธีศาสนาและเวทมนตร์คาถา (Voodoo) ทำให้เหยื่อมีอาการดังกล่าวเหมือนคนตายแล้ว ซึ่งเป็นที่มาของมนุษย์ผีดิบ “ซอมบี้” (Zombie) อย่างไรก็ตามปลาปักเป้าที่ถูกเลี้ยงแบบควบคุมสิ่งแวดล้อมจะไม่มีพิษเลย

แหล่งข้อมูล:

  1. อันดับปักเป้า http://th.wikipedia.org/wiki/อันดับปลาปักเป้า [2012, March 1].
  2. Tetraodontidae. http://en.wikipedia.org/wiki/Tetraodontidae [2012, March 1].