รองช้ำเพราะอะไร (ตอนที่ 2)

รองช้ำเพราะอะไร-2

คนที่เป็นโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบจะมีอาการดังนี้

  • ปวดเมื่อก้าวเดินครั้งแรกหลังจากที่ได้นอนหรือนั่งเป็นเวลานาน แต่เมื่อเดินไปได้เล็กน้อยจะรู้สึกปวดน้อยลง
  • อาจจะมีอาการปวดมากขึ้นเมื่อต้องขึ้นบันไดหรือหลังจากที่ยืนเป็นเวลานาน
  • ปวดเมื่อเริ่มต้นการออกกำลังกาย แล้วอาการดีขึ้นหรือค่อยๆ หายไประหว่างที่ออกกำลังกาย และกลับมาปวดอีกครั้งเมื่อสิ้นสุดการออกกำลังกาย

ส่วนอาการที่ปวดเท้าตอนกลางคืน อาจจะเกิดจากปัญหาอื่น เช่น โรคข้ออักเสบ (Arthritis) หรือมีปัญหาเส้นประสาทอย่างกลุ่มอาการที่มีการกดทับของเส้นประสาทบริเวณข้อเท้าเอง (Tarsal tunnel syndrome)

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ ได้แก่

  • มีอายุในวัยกลางคนหรือสูงอายุ
  • มีน้ำหนักตัวมากหรือน้ำหนักตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น หญิงอ้วนหรือหญิงตั้งครรภ์
  • มีพฤติกรรมหรือนิสัยที่ไปทำให้เท้าตึง เช่น

1. ใส่รองเท้าที่ไม่มีแผ่นรองเท้าหรือพยุงเท้า

2. ใส่รองเท้าส้นสูงมาก

3. ทำงานที่ต้องยืนเป็นเวลานาน

  • เป็นนักกีฬาโดยเฉพาะนักวิ่ง หรือ เป็นทหาร

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้ด้วยการตรวจสุขภาพเท้า และดูกายภาพของเท้าขณะยืนและเดิน หรืออาจให้ทำการเอ็กซเรย์เท้าเพื่อว่ามีปัญหาเรื่อกระดูกเท้าหรือไม่ เช่น กระดูกหักล้า

[กระดูกหักล้า (Stress fracture) คือ การหักของกระดูกที่เกิดจากการใช้งานซ้ำๆ ออกกำลังกายหนักมาก ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนล้าและไม่สามารถรองรับน้ำหนักหรือแรงกระแทก เมื่อกล้ามเนื้อเริ่มอ่อนล้าแล้วจะส่งผลให้เพิ่มแรงกระทำมาที่กระดูกมากขึ้น ทำให้เกิดการแตกหักเล็กๆขึ้นภายในโครงสร้างของกระดูก]

สำหรับการรักษาโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ ไม่มีการรักษาด้วยวิธีใดวิธีเดียว แต่ต้องอาศัยการปรับรักษาด้วยหลายวิธี เช่น

  • ให้เท้าได้พักด้วยการหยุดกิจกรรมที่ทำร้ายเท้า เช่น การไม่เดินหรือวิ่งบนพื้นผิวแข็งๆ อย่างพื้นคอนกรีต
  • ใช้น้ำแข็งประคบเพื่อลดอาการปวดและบวมประมาณ 15-20 นาที
  • ใช้ยาลดปวด เช่น ยา Ibuprofen ยา Naproxen
  • ฝึกกระดกปลายเท้า (Toe stretches) ยืดกล้ามเนื้อน่อง (Calf stretches) เหยียดขาโดยใช้ผ้าขนหนูช่วย (Towel stretches) วันละหลายๆ ครั้ง
  • ใส่รองเท้าคู่ใหม่ที่มีการรองเสริมอุ้งเท้าและที่รองรับแรงกระแทกตรงส้นรองเท้า หรือใส่แผ่นรองส้นเท้า (Heel cups) แผ่นรองเท้า (Orthotics) ทั้งสองข้าง แม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องการปวดบวมเพียงข้างเดียว
  • ลดน้ำหนักตัว
  • ฉีดยา เช่น สเตียรอยด์ เข้าที่ส้นเท้า (แต่ไม่แนะนำให้ฉีดบ่อย เพราะอาจทำให้เอ็นฉีกได้)

แหล่งข้อมูล:

  1. Plantar Fasciitis - Topic Overview. http://www.webmd.com/a-to-z-guides/tc/plantar-fasciitis-topic-overview#1 [2017, October 15].
  2. Plantar fasciitis. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/plantar-fasciitis/home/ovc-20268392 [2017, October 15].