รองช้ำเพราะอะไร (ตอนที่ 1)

รองช้ำเพราะอะไร-1

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบหรือโรครองช้ำ เป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยจะพบมากในวัยทำงานที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก ผู้ที่ยืนนาน เดินนาน ผู้ที่ต้องยืนตลอดกะการทำงานทั้ง 8 ชั่วโมง หรือนานกว่านั้น เช่น พนักงานขายของในห้างสรรพสินค้า พนักงานโรงงาน พยาบาลห้องผ่าตัด เป็นต้น ผู้ที่สวมใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสมเป็นประจำ เช่น รองเท้าที่ไม่มีพื้นบุรองส้นเท้า และผู้ที่มีอุ้งเท้าแบนหรือโก่งเกินไป

โรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบจะมีอาการปวดและกดเจ็บบริเวณส้นเท้า ในระยะแรกอาจเกิดอาการภายหลังการออกกำลังกาย เดิน หรือยืนนานๆ แต่ถ้าอาการมากขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดส้นเท้าอยู่ตลอดเวลา

นพ.เกียรติภูมิ อธิบายถึงลักษณะเฉพาะของโรคนี้ว่า เมื่อลุกขึ้นเดิน 2-3 ก้าวแรกหลังจากตื่นนอนในตอนเช้า หรือหลังจากนั่งพักขาเป็นเวลานาน จะรู้สึกเจ็บบริเวณส้นเท้า เนื่องจากเกิดการกระชากของเอ็นฝ่าเท้าที่อักเสบอย่างทันทีทันใด แต่เมื่อเดินไประยะหนึ่ง เอ็นฝ่าเท้าจะค่อยๆ ยืดหยุ่นขึ้น อาการเจ็บส้นเท้าจึงค่อยๆ ทุเลาลง

โรคนี้ไม่ได้เป็นโรคร้ายแรง หากเป็นแล้วจะส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ซึ่งต้องใช้เวลาในการรักษาเป็นระยะเวลานาน หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้รับการรักษาจนลุกลาม อาจทำให้เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อข้อต่อของสะโพกและบั้นเอวด้วยจากลักษณะการเดินที่ผิดไปจากอาการเจ็บส้นเท้า

นพ.เกียรติภูมิ แนะนำว่า เพื่อป้องกันโรคดังกล่าว ควรเลือกใช้รองเท้าที่ถูกลักษณะ มีตัวรองส้นที่นุ่ม พื้นไม่บางหรือแข็งเกินไป พร้อมลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ลดน้ำหนัก ไม่ยืนหรือเดินมากเกินไป และหากมีอาการปวดส้นเท้าผิดปกติควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

โรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบหรือโรครองช้ำ (Plantar fasciitis) เป็นสาเหตุสำคัญของการเจ็บบริเวณส้นเท้า เกิดจากการตึงของเส้นเอ็น (Ligament) ที่ยึดส่วนโค้ง ความตึงที่เกิดซ้ำๆ สามารถทำให้เส้นเอ็นฉีกหรือปริแตกซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดและบวม

โรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบมักเกิดในหมู่นักวิ่ง และคนที่มีลักษณะดังต่อไปนี้

  • เท้าล้มเข้าด้านในมากขณะเดิน (Excessive pronation)
  • เท้าแบนหรือมีส่วนโค้งที่สูง
  • เดิน ยืน หรือ วิ่ง เป็นเวลานาน โดยเฉพาะบนพื้นที่แข็ง
  • น้ำหนักตัวมาก
  • ใส่รองเท้าที่ไม่พอดีหรือรองเท้าที่เก่าชำรุด
  • เอ็นร้อยหวาย (Achilles tendons) หรือ กล้ามเนื้อที่น่อง (Calf muscles) ตึง

โรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบมักจะค่อยๆ เกิด และมีน้อยรายที่อาจทำให้เกิดโรคกระดูกส้นเท้างอก (Heel spur) ได้ (แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า คนที่เป็นโรคกระดูกส้นเท้างอกจะต้องเป็นโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ)

แหล่งข้อมูล:

  1. คนอ้วน-ยืน-เดินนานๆ กลุ่มเสี่ยง “โรครองช้ำ”. http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9600000070048&Keyword=%e2%c3%a4 [2017, October 14].
  2. Plantar Fasciitis - Topic Overview. http://www.webmd.com/a-to-z-guides/tc/plantar-fasciitis-topic-overview#1 [2017, October 14].
  3. Plantar fasciitis. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/plantar-fasciitis/home/ovc-20268392 [2017, October 14].