รหัสมาตรฐาน ลดการจ่ายยาผิด (ตอนที่ 4)

รศ. ดร. ดวงพรรณ กริชชาญชัย ศฤงคารินทร์ หัวหน้า Healthcare Logistics Cluster คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า GTIN จะสามารถแก้ปัญหาในการบริหารจัดการโลจิสติกส์ได้ตลอดสายโซ่อุปทาน (Supply chain) ทางการแพทย์ โดยเฉพาะโรงพยาบาลจะสามารถบริหารจัดการสต็อคได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น . . .

. . . การมีฐานข้อมูลร่วม (Data pool) ที่จะบรรจุข้อมูลมาตรฐานทางเภสัชกรรม จะช่วยให้แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ หรือแม้กระทั่งผู้ใช้ยา สามารถเชื่อมต่อฐานข้อมูลร่วมของโรงพยาบาลได้ โดยใช้ GTIN เป็นตัวอ้างอิง ทำให้ลดโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดในการสั่งจ่ายยา (Medication error) และถ้ามีการเชื่อมต่อระบบเข้ากับเครื่องจ่ายยาอัตโนมัติ โรงพยาบาลยังสามารถสั่งจ่ายยาให้ผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วขึ้น

ในประเทศสหรัฐอเมริกามีผู้เสียชีวิตจากความผิดพลาดในการใช้ยาถึงปีละ 100,000 คน ส่วนพวกที่ใช้ยาผิดแต่ไม่ถึงกับตายมีโอกาสเกิดขึ้นได้ 10% ซึ่งเป็นตัวเลขที่แพทย์ไทยยืนยันว่ายังสูงเกินไป และควรจะมีกลไกควบคุมความผิดพลาดเหล่านี้

GTIN มีอัตลักษณ์เฉพาะเลขหมาย (Uniqueness) คือกำหนดเลขหมายให้สินค้าหรือบริการเพียงชิ้นเดียว โดยที่เลขหมายปราศจากความหมายใดๆ (Non-significance) แต่จะเป็นเพียงตัวบ่งชี้ในฐานข้อมูลร่วมซึ่งทุกหน่วยงานสามารถใช้งานได้ จึงรองรับการใช้งานแบบหลายภาคส่วน (Multi-sectoral) ได้ และมีความเป็นสากล (International) เนื่องจากรหัสหนึ่งๆ สามารถใช้ได้ทั่วโลกโดยไม่มีข้อจำกัด

นอกจากนี้ ข้อมูลใน GTIN มีความมั่นคงปลอดภัย (Security and data integrity) เนื่องจากมีระบบเลขตรวจสอบ (Check digit) ซึ่งสามารถจะยืนยันได้ทันทีโดยการคำนวณ และยังมีเว็บไซท์ให้ตรวจสอบฐานะของผู้ผลิตที่ขอใช้งานรหัสไว้บริการด้วย

ดังนั้น การนำรหัส GTIN มาใช้งานกับผลิตภัณฑ์สุขภาพจึงเป็นการประสานงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพเข้ากับความเป็นจริงของตลาดซึ่งจะส่งผลดีต่อการวางแผนและกำหนดมาตรการ รวมทั้งการดำเนินแผนงานและมาตรการดังกล่าวของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

ประโยชน์ในทางการค้าเป็นสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน เพราะปัจจุบันนี้ คู่ค้าโดยเฉพาะฝ่ายผู้ซื้อซึ่งมีการใช้งานระบบฐานข้อร่วม (Data pool) มูลสินค้าคงคลังและการจัดเก็บเงิน ณ จุดขายด้วยระบบอิเล็กทรอนิคส์ได้เรียกร้องให้ผู้ขายจัดทำรหัสผลิตภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์ของตนโดยไม่ซ้ำซ้อนกับรหัสผลิตภัณฑ์ของผู้ขายรายอื่นๆ เพื่อลดต้นทุนในการจัดการสินค้าคงคลังและการจัดเก็บเงิน ณ จุดขาย

อย่างไรก็ตาม การกำหนดใช้รหัส GTIN ต้องมีค่าใช้จ่าย และค่าใช้จ่ายนั้น มิได้เป็นภาระต่อภาคธุรกิจสำหรับการขอใช้งานเท่านั้น แต่ยังมีค่าใช้จ่ายที่หน่วยงานกำกับการคุ้มครองผู้บริโภคอย่าง อย. ต้องใช้ในการสำรวจและรวบรวมข้อมูลเพื่อมาใช้ประโยชน์ในการทำงานอีกด้วย

นอกจากนี้แล้ว ปัญหาพื้นฐานของการใช้รหัส GTIN ในปัจจุบันยังเกิดจากความสมัครใจของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะจากแรงผลักดันจากการแข่งขันทางการค้าเป็นปัจจัยสำคัญ ดังนั้น หากมีผู้ประกอบการรายใดไม่ให้ความสนใจกับแรงผลักดันดังกล่าว ผู้ประกอบการรายนั้นก็อาจไม่ให้ความสนใจที่จะใช้งานรหัส GTIN และ/หรือเลิกใช้งานไปในที่สุด

แหล่งข้อมูล:

  1. วงการแพทย์ใช้ GTIN คุมการ 'รักษา-จ่ายยา'คนไข้ 5 โรงพยาบาลใหญ่ขานรับ http://www.manager.co.th/mgrweekly/ViewNews.aspx?NewsID=9550000018296 [2012, February 20].
  2. การใช้งานรหัสผลิตภัณฑ์สากล (GTIN) กับผลิตภัณฑ์สุขภาพ http://logistics.fda.moph.go.th/healthproductid/HealthProductID.asp?id=5 [2012, February 20].