รหัสมาตรฐาน ลดการจ่ายยาผิด (ตอนที่ 2)

Thailand Healthcare Cluster เป็นการรวมกลุ่มของนักวิจัยด้านโลจิสติกส์ กับโรงพยาบาลผู้ให้บริการทางการแพทย์ และผู้ประกอบการบริษัทยารวม 11 แห่ง เพื่อร่วมกันพัฒนานวัตกรรมดูแลสุขภาพ

กลุ่มนี้ประกอบด้วย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ สถาบันรหัสสากลในประเทศไทย (GS1 Thailand) สภาอุตสาหกรรม บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ จำกัด (N-Health) องค์กรเภสัชกรรม (GPO) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และสถาบันรับรองคุณภาพของโรงพยาบาล (สรพ.)

นพ. สุธี ทุวิรัตน์ กรรมการบริหารสมาคมเวชสารสนเทศไทย (Thai Medical Informatics: TMI) กล่าวว่า หลังจากการประชุมกันครั้งแรก ได้ตกลงร่วมกันที่จะใช้ GS1 หรือ GTIN เป็นมาตรฐานสากล ในการบ่งชี้ยาอย่างไม่ซ้ำซ้อนกันทั่วโลก และเป็นกุญแจที่จะไขเข้าไปสู่ฐานข้อมูล (Data pool) ที่ Thailand Healthcare Cluster จะจัดทำขึ้นในอนาคต

ส่วนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีนโยบายในการพัฒนาระบบรหัสผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยกำหนดโครงสร้างของรหัส 3 ประการคือ (1) มีโครงสร้างยืดหยุ่น (2) มีตัวบ่งชี้ระบบสากล และ (3) มีความสามารถใช้ในการสื่อสารกับหน่วยงานต่างๆ

อย. ได้กำหนดให้รหัสผลิตภัณฑ์สุขภาพ ประกอบด้วยส่วนต่างๆ อย่างน้อย 3 ส่วนคือ (1) ส่วนบ่งชี้ผลิตภัณฑ์ (Product) (2) ส่วนบ่งชี้กลุ่มประเภทผลิตภัณฑ์ (Category) (3) ส่วนบ่งชี้รายการเฉพาะ (Trade item) ผลิตภัณฑ์ ในระดับกลุ่มประเภทได้แก่ (1) ยา/วัตถุเสพติด (2) เครื่องมือแพทย์ (3) อาหาร (4) เครื่องสำอาง และ (5) วัตถุอันตราย

เครื่องมือแพทย์เป็นกลุ่มประเภทผลิตภัณฑ์สากลระบบเดียว (Single global system) ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน กล่าวคือ ระบบ Global Medical Device Nomenclature (GMDN) ส่วนกลุ่มประเภทอื่นๆ จะต้องกำหนดขึ้นมาใช้งานเอง โดยจะประกอบด้วยข้อมูลพื้นฐานที่เป็นภาคบังคับ 3 หัวข้อคือ (1) รหัส (Code) หมายถึง เลขหมายที่เป็นเอกลักษณ์ (2) ชื่อทั่วไป (Term) หมายถึง คำที่ใช้เรียกในการสื่อสารทั่วไป และ (3) นิยาม (Definition) หมายถึง คำบรรยายถึงลักษณะเฉพาะของกลุ่มประเภท

จากนั้นก็จะจัดทำระเบียนประวัติผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product profile) จากฐานข้อมูลร่วมที่จะจัดเก็บโดยสอดคล้องกันโดยบูรณาการข้อมูลในด้านต่างๆ คือ (1) การเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์หลังวางจำหน่าย (2) รายงานอาการอันไม่พึงประสงค์ (Adverse reaction) (3) ข้อมูลการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ก่อนออกวางจำหน่าย (4) รายงานการร้องเรียน

ส่วนในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้น การตรวจสอบและติดตาม (Tracing and tracking) ผลิตภัณฑ์ ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลประชาชน และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นสำคัญ ดังนั้น รหัสผลิตภัณฑ์ที่จะพัฒนาขึ้นมาจึงต้องสอดคล้องกับความเป็นจริงในการตลาดรวมทั้งสามารถที่จะใช้งานในฐานข้อมูลร่วมได้จริง

แหล่งข้อมูล:

  1. วงการแพทย์ใช้ GTIN คุมการ 'รักษา-จ่ายยา'คนไข้ 5 โรงพยาบาลใหญ่ขานรับ http://www.manager.co.th/mgrweekly/ViewNews.aspx?NewsID=9550000018296 [2012, February 18].
  2. การใช้งานรหัสผลิตภัณฑ์สากล (GTIN) กับผลิตภัณฑ์สุขภาพ http://logistics.fda.moph.go.th/healthproductid/HealthProductID.asp?id=5 [2012, February 18].