รหัสมาตรฐาน ลดการจ่ายยาผิด (ตอนที่ 1)

Healthcare Logistics Cluster คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ศึกษาวิจัยด้านระบบสายโซ่อุปทาน (Supply chain) ทางการแพทย์เพื่อยกระดับการให้บริการด้านสุขภาพและอนามัยของประเทศไทยมาเป็นเวลา 2 ปี แล้วพบว่า รหัสยาหลากหลายรูปแบบที่เกิดขึ้นภายในสายโซ่อุปทาน ทางการแพทย์นี้ ได้สร้างภาระงานให้โรงพยาบาลเป็นอย่างมาก และทำให้มีโอกาสเกิดความผิดพลาดในการรักษาและจ่ายยา (Medication error) เพราะยาบางชนิดมีรูปลักษณ์ ขนาด สี และชื่อที่คล้ายกันมาก . . .

. . . ถึงแม้จะมีการใช้รหัสแท่ง (Barcode) กับยาอยู่แล้ว แต่บริษัทผู้ผลิตยาแต่ละแห่ง ได้ใช้รหัสแท่งที่หลากหลาย ทำให้โรงพยาบาลต้องเสียเวลาสร้างรหัสแท่งขึ้นมาใหม่เพื่อรองรับ ซึ่งรหัสยาที่แตกต่างกันออกไปนี้ ไม่สามารถสอบย้อนกลับในกระบวนการการผลิตได้ จึงมีแนวคิดที่จะนำรหัสมาตรฐาน (Standard code) ของ GS1 มาใช้แก้ปัญหาดังกล่าว

ในขณะเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการพัฒนาการทำงานให้มีมาตรฐานตามความปลอดภัยและประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์สุขภาพ ในรูปแบบองค์รวมที่บูรณาการข้อมูลการกำกับผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้งก่อนและหลังออกวางจำหน่าย รวมไปถึงรายงานอาการอันไม่พึงประสงค์ (Adverse reaction) จากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ

แต่ปัจจัยสำคัญในการเชื่อมโยงข้อมูลดดังกล่าว คือ รหัสผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งจะทำให้กลไกการสร้างระเบียนประวัติ (Product profile) เพื่อการตรวจสอบและติดตาม (Tracing and tracking) ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้เป็นไปได้อย่างถูกต้อง ซึ่งในการพัฒนารหัสผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้น จะต้องคำนึงถึงการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหลัก

ดังนั้น รหัสผลิตภัณฑ์ที่จะพัฒนาขึ้นมาจึงต้องเป็นระบบที่สอดคล้องกับความเป็นจริงในการตลาดรวมทั้งสามารถที่จะใช้งานในฐานข้อมูลร่วม (Data pool) ได้จริง ปัจจุบัน อย. ได้พิจารณาแล้วว่า รหัสผลิตภัณฑ์สากล (Global Trade Item Number : GTIN) เป็นระบบที่สามารถใช้สื่อสารข้อมูลผลิตภัณฑ์ได้ทุกประเภททั่วโลกและรองรับการสื่อสารข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ ได้ดี

แต่เดิม ภาคธุรกิจได้ก่อตั้งหน่วยงานกลางขึ้นมารับผิดชอบรหัสผลิตภัณฑ์ โดยที่ Uniform Code Council (UCC) รับผิดชอบการออกรหัสผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ส่วน EAN (= European Article Number) International รับผิดชอบการออกรหัสผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในสหภาพยุโรป

หลังจากนั้นสองหน่วยงานก็ได้รวมตัวกันเป็นองค์กรใหม่เพื่อให้ได้รหัสผลิตภัณฑ์มาตรฐานโลกเพียงระบบเดียว ภายใต้ชื่อ “Global Standard 1” (GS1) เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2548 แล้วเรียกชื่อรหัสผลิตภัณฑ์ใหม่ว่า GTIN ซึ่งอาจมีจำนวนตัวเลข 8, 13 หรือ 14 หลัก ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งาน

รหัสผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ โดยทั่วไปจะใช้ GTIN –13 โครงสร้างของรหัสผลิตภัณฑ์สากล GTIN – 13 ที่ใช้กันแพร่หลาย จะประกอบด้วย 2 ส่วนคือ เลขรหัสทั่วไป และ เลขตรวจสอบ (Check digit) แต่ในกรณีของ GTIN – 14 จะมีเลขบ่งชี้ (Indicator digit) อีก 1 หลัก

อย่างไรก็ตาม รหัสทั่วไปยังแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน กล่าวคือ (1) รหัสประเทศที่ออกรหัสผลิตภัณฑ์ซึ่งกำหนดโดยสำนักงานสถาบันรหัสสากล ประเทศเบลเยี่ยม (2) รหัสผู้ประกอบการซึ่งจะกำหนดโดยสำนักงานสาขาของสถาบันรหัสสากลในแต่ละประเทศ และ (3) รหัสผลิตภัณฑ์ ซึ่งกำหนดผู้ประกอบการเองโดยกำหนดตามลำดับของการใช้งาน

แหล่งข้อมูล:

  1. วงการแพทย์ใช้ GTIN คุมการ 'รักษา-จ่ายยา'คนไข้ 5 โรงพยาบาลใหญ่ขานรับ http://www.manager.co.th/mgrweekly/ViewNews.aspx?NewsID=9550000018296 [2012, February 17].
  2. การใช้งานรหัสผลิตภัณฑ์สากล (GTIN) กับผลิตภัณฑ์สุขภาพ http://logistics.fda.moph.go.th/healthproductid/HealthProductID.asp?id=5 [2012, February 17].