รวมรุ่นไวรัสตับอักเสบ (ตอนที่ 8)

รวมรุ่นไวรัสตับอักเสบ-8

ไวรัสตับอักเสบดีมักไม่แสดงอาการ กรณีที่มีอาการโดยทั่วไป ได้แก่ อาการดีซ่าน ปวดข้อ ปวดท้อง อาเจียน เบื่ออาหาร ปัสสาวะสีเข้ม และอ่อนเพลีย

อาการของไวรัสตับอักเสบดีจะคล้ายกับอาการของไวรัสตับอักเสบบี ดังนั้นจึงยากที่จะหาสาเหตุของอาการที่เกิดขึ้นได้จริงว่าเกิดจากเชื้อตัวไหน ในบางกรณีไวรัสตับอักเสบดีจะทำให้อาการของไวรัสตับอักเสบบีแย่ลง หรือบางทีอาจทำให้อาการไวรัสตับอักเสบบีปรากฏขึ้นในผู้ที่ไม่เคยแสดงอาการมาก่อน

ทั้งนี้ เชื้อ HDV สามารถติดต่อและแพร่กระจายได้ด้วยการสัมผัสกับของเหลวในร่างกายของผู้ติดเชื้อ เช่น

  • ปัสสาวะ
  • ของเหลวจากช่องคลอด (Vaginal fluids)
  • น้ำอสุจิ (Semen)
  • เลือด
  • การคลอด (จากแม่สู่ลูก)

ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ HDV ได้แก่

  • ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
  • ผู้ชายที่มีรักร่วมเพศ
  • ผู้ที่ได้รับการถ่ายเลือด
  • ผู้ที่เสพยาด้วยการฉีด

เช่นเดียวกันการวินิจฉัยโรคทำได้ด้วยการตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบดี (Anti-hepatitis D antibodies) การตรวจสุขภาพของตับ เช่น การวัดค่าโปรตีน ค่าเอนไซม์ และค่าบิลิรูบิน (Bilirubin) ที่มีในเลือด

สำหรับการรักษา ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาหรือวัคซีนรักษา HDV แต่ผู้ติดเชื้ออาจได้รับยาที่เรียกว่า อินเตอร์เฟอรอน (Interferon) เป็นเวลานานถึง 12 เดือน โดยอินเตอร์เฟอรอนเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่สามารถหยุดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสและบรรเทาอาการของโรคได้

ผู้ป่วยที่เป็นไวรัสตับอักเสบดีแบบเฉียบพลันส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นใน 2-3 สัปดาห์ และค่าเอนไซม์ของตับจะกลับสู่สภาวะปกติภายใน 16 สัปดาห์ มีประมาณร้อยละ 10 ทีอาจพัฒนาไปไวรัสตับอักเสบดีแบบเรื้อรัง

อย่างไรก็ดี หลังการรักษาเลือดของผู้ติดเชื้อก็ยังคงเป็นบวกเหมือนเดิม ผู้ติดเชื้อต้องระวังการมีอาการกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ดังนั้น ทางที่ดีที่สุด คือ การตรวจพบได้เร็ว จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อป้องกันการที่ตับถูกทำลายมากขึ้น มิฉะนั้นอาจพัฒนาไปเป็นโรคตับแข็งหรือมะเร็งตับได้

ส่วนการป้องกันการติดเขื้อไวรัสตับอักเสบดีที่ทำได้ก็คือ การหลีกเลี่ยงการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งได้แก่

  • การใช้ถุงยางอนามัยป้องกันในการมีเพศสัมพันธุ์
  • การไม่เสพยาเสพติดที่ใช้เข็ม
  • การไม่สักตามร่างกาย
  • การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีให้ครบ 3 เข็มในเวลา 6 เดือน

แหล่งข้อมูล:

  1. Hepatitis D. http://www.healthline.com/health/delta-agent-hepatitis-d [2017, September 10].
  2. Hepatitis D (Delta agent). https://medlineplus.gov/ency/article/000216.htm [2017, September 10].