รวมรุ่นไวรัสตับอักเสบ (ตอนที่ 6)

รวมรุ่นไวรัสตับอักเสบ-6

ขนาดจุดเลือดที่เล็กและไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ก็สามารถมีเชื้อ HCV อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และแม้การล้างเข็มด้วยแอลกอฮอล์ สบู่ หรือน้ำ ก็ไม่สามารถฆ่าเชื้อ ดังนั้นการถูกเข็มทิ่มเพียงครั้งเดียวก็มีโอกาสที่ติดเชื้อได้

ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่ปรากฏอาการ แต่หากมีอาการจะปรากฏในสัปดาห์ที่ 4-15 หลังการติดเชื้อ โดยมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ เป็นไข้ ปวดข้อ อ่อนเพลีย และอาจเป็นดีซ่านหรือมีอุจจาระเป็นสีโคลน

ไวรัสตับอักเสบซีที่ติดเชื้อแบบเฉียบพลันจะกลายเป็นแบบเรื้อรังหากมีการติดเชื้อนาน 1 ปี และไม่ได้รับการรักษา โดยหลังจากระยะเวลา 25-30 ปี การติดเชื้อแบบเรื้อรังจะทำให้ตับมีรอยแผลเป็นพังผืด (Fibrosis) และพัฒนาเป็นโรคตับแข็ง (Cirrhosis) ตับวาย (Liver failure) และมะเร็งเซลล์ตับ (Hepatocellular carcinoma = HCC)

เนื่องจากไวรัสตับอักเสบซีมักไม่แสดงอาการออกมา จึงทำให้เราไม่สามารถวินิฉัยโรคได้ระหว่างที่อยู่ในระยะติดเชื้อแบบเฉียบพลัน โดยระบบภูมิต้านทานของร่างกายจะพยายามกำจัดเชื้อ อย่างไรก็ดี มีเพียงร้อยละ 20 ของผู้ติดเชื้อเท่านั้น ที่สามารถกำจัดเชื้อได้เอง ที่เหลือจะกลายเป็นผู้ติดเชื้อแบบเรื้อรังและไม่ทราบว่าตัวเองเป็นพาหะของโรคด้วย

การตรวจหาเชื้อทำได้ด้วยการตรวจเลือดที่เรียกว่า การคัดกรอง HCV antibody (Anti-HCV) ซึ่งถ้าตรวจพบว่ามีผลเลือดเป็นบวกแล้วจะต้องมีการตรวจเลือดครั้งที่ 2 ที่เรียกว่า HCV RNA (PCR) อีกครั้ง

ผู้ที่ติดเชื้อ HCV ไม่ได้หมายความว่า จะมีภูมิคุ้มกันเชื้อตลอดชีวิตเหมือนผู้ทีฉีดวัคซีนไข้หัดเยอรมัน (Measles) หรือไข้สุกใส (Chicken pox) ดังนั้น จึงอาจติดเชื้อจากไวรัสต่างสายพันธุ์ได้อีก ทั้งนี้ หน่วยงานป้องกันโรคติดต่อในสหรัฐอเมริกา (CDC) ได้แนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงดังต่อไปนี้ทำการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อ

  • ผู้ที่มีการถ่ายเลือดหรือปลูกถ่ายอวัยวะก่อนปี พ.ศ.2535
  • ผู้ที่เสพยาผ่านเข็มฉีดยา
  • ผู้ที่เป็นโรคเลือออกง่ายหยุดยาก (Hemophiliacs)
  • ผู้ป่วยที่ทำการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเป็นระยะเวลานาน
  • เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ถูกเข็มทิ่ม
  • ผู้ที่ติดเชื้อเฮชไอวี (HIV)
  • ผู้ที่สักตามร่างกาย
  • ทารกที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อ HCV
  • ผู้ที่เป็นโรคตับ
  • ผู้ที่พฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยง

หรือในบางกรณีอาจมีการตัดชิ้นเนื้อที่ตับไปตรวจ เพื่อดูความรุนแรงของโรค ระยะของโรค และประเมินว่าตับถูกทำลายไปมากน้อยแค่ไหน

แหล่งข้อมูล:

  1. Hepatitis C: Causes, Symptoms and Treatments. http://www.medicalnewstoday.com/articles/145869.php [2017, September 8].