รวมรุ่นไวรัสตับอักเสบ (ตอนที่ 5)

รวมรุ่นไวรัสตับอักเสบ-5

กลุ่มคนที่ควรทำการตรวจเพื่อหาเชื้อ HBV อย่างยิ่ง (ต่อ)

  • ผู้ที่เสพยาโดยใช้เข็มฉีดยา
  • เจ้าหน้าที่ที่ทำงานเกี่ยวกับการเลือดหรือสารติดเชื้อ
  • ผู้ป่วยที่ทำการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
  • ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด
  • หญิงตั้งครรภ์ (กรณีที่พบว่าแม่มีการติดเชื้อ ทารกจำเป็นต้องได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B immune globulin = HBIG) ภายใน 12 ชั่วโมงหลังการคลอด

ไวรัสตับอักเสบบีจะกลายเป็นโรคเรื้อรัง หากมีการติดเชื้อแบบเฉียบพลันมาแล้ว 1 ปี และหากไม่ได้รับการรักษา ก็จะติดเชื้อไปตลอดชีวิต โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่มีอาการป่วย ในขณะที่บางคนอาจมีอาการปวดท้อง อ่อนเพลีย และปวดข้ออยู่เสมอๆ

การติดเชื้อเรื้อรังมักเกิดขึ้นในเด็กเล็ก โดยร้อยละ 90 ของทารก และร้อยละ 50 ของเด็กที่อายุระหว่าง 1-5 ปี และร้อยละ 5 ของผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อแบบเฉียบพลันจะกลายสภาพเป็นการติดเชื้อแบบเรื้อรัง

สำหรับการรักษานั้น ไม่มีวิธีเฉพาะแต่เป็นการรักษาตามอาการ (Supportive care)

ส่วนผู้ที่ติดเชื้อแบบเรื้อรังนั้น ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำถึงการให้ยาต้านไวรัส ซึ่งไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการรักษาให้หาย แต่เป็นไปเพื่อหยุดการแพร่กระจายของเชื้อที่สามารถจะพัฒนาไปเป็นโรคตับอื่นๆ เช่น โรคตับแข็ง โรคมะเร็งที่ตับ ซึ่งมักจะไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า โดยผู้ติดเชื้อ HBV ต้องได้รับการประเมินและการอัลตราซาวด์ตับทุก 6 เดือน เพื่อให้แน่ใจว่าตับไม่ได้ถูกทำลายหรือเป็นโรค

ในส่วนของวัคซีนที่ใช้ป้องกันเชื้อ HBV นั้นมีมาตั้งแต่ พ.ศ.2525 จะต้องฉีด 3 เข็ม โดยหลังการฉีดเข็มที่ 1 แล้วอีก 1 เดือน จึงฉีดเข็มที่ 2 และ เข็มที่ 3 จะฉีดอีก 6 เดือน หลังเข็มที่ 1 โดยใช้ป้องกันได้อย่างน้อย 20 ปี ทั้งนี้ หน่วยงานป้องกันโรคติดต่อในสหรัฐอเมริกา (CDC) ได้แนะนำให้ทารกทุกคนฉีดวัคซีนนี้ให้ครบภายใน 6-18 เดือนหลังคลอด

ไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C Virus = HCV) เป็นโรคติดเชื้อจากเลือดที่พบมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา โดยมีการประมาณว่ามีชาวอเมริกัน 3.2 ล้านคนที่ติดเชื้อ ในขณะที่ทั่วโลกมีประมาณ 130-150 ล้านคน และพบว่าร้อยละ 50 ของผู้ติดเชื้อจะไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อ ทั้งนี้ หากหลังการติดเชื้อแล้วไม่ได้รักษาภายใน 6 เดือน จะกลายเป็นการติดเชื้อแบบเรื้อรัง

ไวรัสตับอักเสบซีเป็นไวรัสที่มีอาร์เอ็นเอ (กรดไรโบนิวคลีอิก) เป็นสารพันธุกรรม ไม่ติดต่อด้วยทางการหายใจ การจูบ หรือทางอาหาร แต่ติดต่อจากเลือดสู่เลือด (Blood-to-blood infection) โดยปัจจัยเสี่ยงที่มากที่สุดคือ การใช้เข็มฉีดยาหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการฉีดร่วมกัน

แหล่งข้อมูล:

  1. Hepatitis B: Causes, Symptoms and Treatment. http://www.medicalnewstoday.com/articles/145869.php [2017, September 7].
  2. Hepatitis C: Causes, Symptoms and Treatments. http://www.medicalnewstoday.com/articles/145869.php [2017, September 7].