ยืนนานกลางแดด (ตอนที่ 4)

ยืนนานกลางแดด

นพ.เจษฎา ได้แนะนำประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรมกลางแจ้งในสภาพอากาศร้อนอบอ้าวว่า ควรเตรียมตนเองให้พร้อมเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอาการเจ็บป่วย โดยสิ่งที่ควรมีติดตัว คือ 1. ร่มหรือหมวก เพื่อป้องกันแสงแดด 2. พัดหรือพัดลมมือถือ เพื่อช่วยคลายความร้อนให้กับร่างกาย และ 3. น้ำดื่ม ควรพกน้ำติดตัวไว้และหมั่นจิบน้ำเรื่อย ๆ เพื่อชดเชยการเสียน้ำในร่างกายจากเหงื่อออก อย่าปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำได้

นอกจากนี้ ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี โปร่งสบาย ไม่รัดแน่นจนเกินไป และหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน ควรพักเข้ามาหลบอยู่ในที่ร่มทุกๆ ชั่วโมง รวมถึงหมั่นสังเกตคนรอบข้างและตนเอง หากเกิดอาการเจ็บป่วย ขอให้พบแพทย์ทันที หรือ โทร.ขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร. 1669 โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวต้องระวังเป็นพิเศษ รวมถึงพกยารักษาโรคประจำตัวติดตัวไว้

โรคลมแดด หรือ ฮีตสโตรก (Heat stroke) เป็นภาวะที่ร่างกายมีความร้อนเกิน มักเป็นผลมาจากการอยู่หรือการออกกำลังกายมากในสภาพที่มีอุณหภูมิสูง ฮีตสโตรกสามารถเกิดขึ้นได้ถ้าอุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส

สาเหตุของการเกิดฮีตสโตรก ได้แก่

  • การสัมผัสกับอากาศร้อนเป็นระยะเวลานาน ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูง มักเกิดในผู้สูงอายุและผู้ที่ป่วยเรื้อรัง
  • การออกกำลังกายที่มากเกิน ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูง โดยเฉพาะการออกกำลังกายในที่ที่มีอากาศร้อน
  • การใส่เสื้อผ้าที่มากเกิน ทำให้เหงื่อระเหยได้ยาก ร่างกายไม่สามารถลดความร้อนได้
  • การดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีผลกระทบต่อการควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย
  • การมีภาวะขาดน้ำ เพราะไม่ได้ดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอกับการสูญเสียน้ำจากเหงื่อ

อาการฮีตสโตรกจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว หากไม่รักษาทันที สมอง หัวใจ ไต และกล้ามเนื้อ อาจถูกทำลายอย่างรวดเร็ว ยิ่งรักษาช้าอาการยิ่งแย่ลง เพิ่มความเสี่ยงในการมีภาวะแทรกซ้อนหรือเสียชีวิตได้

อาการโดยทั่วไปของฮีตสโตรก ได้แก่

  • อุณหภูมิในร่างกายสูง 40 องศาเซลเซียส หรือมากกว่า ซึ่งถือเป็นอาการสำคัญของฮีตสโตรก
  • สภาพจิตใจหรือพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น สับสน (Confusion) กระสับกระส่าย (Agitation) พูดไม่ค่อยชัด (Slurred speech) หงุดหงิดฉุนเฉียว (Irritability) เพ้อคลั่ง (Delirium) ชัก (Seizures) และหมดสติ (Coma)
  • คลื่นไส้และอาเจียน
  • ผิวแดง (Flushed skin) เพราะอุณหภูมิในร่างกายสูง
  • หายใจเร็วและตื้น
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • ปวดศีรษะตุบๆ (Throbbing headache)
  • ไม่มีเหงื่อออกแม้ว่าจะร้อน
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือเป็นตะคริว

บรรณานุกรม

1. เตือน ปชช.ร่วมสักการะพระบรมศพ จิบน้ำบ่อย ๆ วันละ 2 ลิตร เลี่ยงชา-กาแฟ ป้องกันเกิด “ตะคริว”. http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9590000107181 [2016, November 6].

2. Muscle cramp. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/muscle-cramp/home/ovc-20186047 [2016, November 6].

3. Muscle Spasms, Cramps, and Charley Horse. http://www.webmd.com/pain-management/muscle-spasms-cramps-charley-horse [2016, November 6].