ยืนนานกลางแดด (ตอนที่ 1)

ยืนนานกลางแดด

นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ประชาชนที่เดินทางมาแสดงความอาลัยถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พบว่ามีผู้เป็นตะคริวทุกวัน ซึ่งเกิดได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกเวลา

โดยตะคริวเกิดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงเป็นเวลานาน มักเป็นไม่เกิน 2 นาที บางรายอาจนานถึง 5 นาที หรือนานกว่านั้น ส่วนใหญ่มักเกิดที่บริเวณน่องซึ่งจะทำให้ปลายเท้าชี้ลง

สาเหตุมีทั้งจากการกินยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาลดไขมันในเลือด หรือโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เพราะมีภาวะหลอดเลือดแดงส่วนปลายแข็งตัว ทำให้การไหลเวียนเลือดบริเวณน่องไม่ดี รวมทั้งการเสียเหงื่อมากจากสภาพอากาศร้อน ร่างกายขาดสารน้ำและความผิดปกติของเกลือแร่ในเลือดต่ำ ได้แก่ แมกนีเซียม แคลเซียม โปแตสเซียม

นพ.วิศิษฎ์ กล่าวว่า การป้องกันการเกิดตะคริว ขอแนะนำให้ประชาชนที่เดินทางมาแสดงความอาลัย ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ คือ วันละไม่ต่ำกว่า 6 - 8 แก้ว หรือให้ได้วันละ 2 ลิตร โดยให้จิบต่อเนื่อง ซึ่งประชาชนบางคนไม่กล้าดื่มน้ำมากระหว่างเดินทาง เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้ปวดปัสสาวะบ่อย ไม่สะดวกเข้าห้องน้ำ ไม่กล้ารบกวนลูกหลาน จึงทำให้ร่างกายขาดน้ำ

ส่วนเครื่องดื่มที่ควรลดหรือหลีกเลี่ยงการดื่มระหว่างเดินทาง ได้แก่ ชา กาแฟ เนื่องจากจะทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น ร่างกายสูญเสียน้ำได้ง่าย อาหารที่ควรรับประทานเพิ่ม เนื่องจากมีประโยชน์และมีเกลือแร่ประเภทแคลเซียม โปแตสเซียม แมกนีเซียม ได้แก่ นมสด กล้วยหอม โยเกิร์ต ผักโขม ปลาเล็กปลาน้อย เป็นต้น

นพ.วิศิษฎ์ ยังได้กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม วิธีการตรวจสอบตัวเองว่าร่างกายได้รับน้ำเพียงพอหรือไม่ สามารถสังเกตได้จากสีของน้ำปัสสาวะทุกครั้ง หากปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม แสดงว่าร่างกายขาดน้ำ ให้ดื่มน้ำเพิ่มขึ้นจนกว่าจะหยุดกระหายน้ำและสีของปัสสาวะใสขึ้น โดยได้มอบหมายกองสุขศึกษาเผยแพร่ความรู้นี้ทางเว็บไซต์ของกรม สบส. แล้ว

สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเกิดอาการตะคริวที่น่อง สามารถทำได้โดยค่อยๆ ใช้กำลังดันปลายเท้าข้างที่เป็นเข้าหาเข่า โดยค่อยๆ เพิ่มกำลังดัน เพื่อยืดกล้ามเนื้อที่เกร็งให้ยืดออก ให้อยู่ในความยาวที่ปกติ จนกระทั่งหายปวดประมาณ 1 - 2 นาที แล้วปล่อยมือ หากยังมีอาการเกร็งกล้ามเนื้อน่อง ให้ทำซ้ำ จนกระทั่งปล่อยมือแล้วไม่มีอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ

ตะคริว (Muscle cramp) เป็นภาวะการหดเกร็งของกล้ามเนื้อรุนแรงทันทีโดยเราบังคับไม่ได้ ซึ่งอาจเกิดกับกล้ามเนื้อเพียงมัดเดียวหรือหลายๆ มัดพร้อมกันก็ได้ ทำให้เกิดอาการปวด/เจ็บกล้ามเนื้อมัดที่เกิดการหดเกร็ง โดยในขณะเกิดอาการจะไม่สามารถใช้งานกล้ามเนื้อมัดนั้นได้

ตะคริวส่วนใหญ่มีอาการเกิดที่กล้ามเนื้อขา โดยเฉพาะที่น่อง นอกจากอาการปวดเฉียบพลันแล้ว อาจจะรู้สึกเหมือนมีก้อนเนื้อแข็งใต้ผิวหนัง นอกจากจะเป็นตะคริวกล้ามเนื้อที่เท้าและกล้ามเนื้อที่น่องแล้ว กล้ามเนื้อส่วนอื่นก็อาจเป็นได้ด้วย เช่น ด้านหน้าและหลังของต้นขา มือ แขน ช่องท้อง และกล้ามเนื้อตามกระดูกซี่โครง (Rib cage)

บรรณานุกรม

1. เตือน ปชช.ร่วมสักการะพระบรมศพ จิบน้ำบ่อย ๆ วันละ 2 ลิตร เลี่ยงชา-กาแฟ ป้องกันเกิด “ตะคริว”. http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9590000107181 [2016, November 4].

2. Muscle cramp. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/muscle-cramp/home/ovc-20186047 [2016, November 4].

3. Muscle Spasms, Cramps, and Charley Horse. http://www.webmd.com/pain-management/muscle-spasms-cramps-charley-horse [2016, November 4].