ยิ่งสูง ยิ่งหนาว ยิ่งเสี่ยง (ตอนที่ 3)

ตามโปรแกรมเที่ยวยุโรปช่วงสงกรานต์ จะต้องรับประทานอาหารร่วมกันที่ภัตตาคารบนยอดเขา แต่คนใกล้ตัวรู้สึกไม่สบายตัวอย่างมาก เราจึงขึ้นรถไฟมาลงที่สถานีไคลน์ไชเด็ค (Kleine scheidegg) เพื่อรอกลุ่มมาสมทบ มีผู้ร่วมทัวร์ตามลงมาโดยรถไฟขบวนถัดมาอีกครอบครัวหนึ่ง เพราะรู้สึกไม่สบายจากอากาศที่เบาบางเช่นกัน

มีเพื่อนร่วมทัวร์ที่พกพาออกซิเจนกระป๋องมากจากเมืองไทยนำมาให้ใช้ และผู้เขียนก็ได้ซื้อออกซิเจนเพิ่มอีก 1 กระป๋องด้วย คนใกล้ตัวบอกว่าออกซิเจนกระป๋องช่วยให้หายใจได้สะดวกขึ้นมาก และการลงมาสู่ระดับต่ำที่ร่างกายรู้สึกสบายขึ้น น่าเป็นทางแก้ไขที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่ร่างกายมีปฏิกิริยาต่อความสูงและอากาศที่เบาบาง เกินความอ่อนไหวที่ร่างกายจะรับได้

เราจะพบอาการปวดศีรษะได้เป็นอย่างแรก แม้อาจมีสาเหตุจากการขาดน้ำด้วย (Dehydration) แต่การปวดศีรษะที่เกิดขึ้นที่ความสูงกว่า 2,400 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล อาจบ่งชี้การเจ็บป่วยจากที่สูง โดยเฉพาะเมื่อมีอาการต่อไปนี้ร่วมด้วย

เบื่ออาหาร คลื่นไส้ (Nausea) หรืออาเจียน อ่อนล้า วิงเวียน หรือเลื่อนลอย (Light-headedness) นอนไม่หลับ (Insomnia) ต้องเพ่งความสนใจ (Pins & needles) ห้วงหายใจสั้นเมื่อออกแรง เลือดออกทางจมูก ชีพจรสูงต่อเนื่อง สัปหงกเซื่องซึม รู้สึกร่างกายไม่ดี (Malaise) โดยรวม มีอาการบวม ตามแขน ขา หรือใบหน้า (Peripheral endema)

อาการที่อาจร้ายแรงถึงชีวิต เนื่องจากการเจ็บป่วยจากที่สูง ได้แก่ อาการปอดบวมน้ำ (Pulmonary edema) ที่มีอาการเหมือนหลอดลมอักเสบ ไอแห้งๆ เรื้อรัง มีไข้ ลมหายใจสั้นแม้ขณะอยู่เฉยๆ หรืออาการสมองบวมน้ำ (Cerebral edema) ที่ยาแก้ ไม่สามารถบรรเทาอาการปวดศีรษะลงได้ การเดินโซเซ (Gait) เหม่อลอยขาดสติมากขึ้น คลื่นไส้มากขึ้น และมีอาการตกเลือดของเยื่อเรตินา (Retina)/จอตา

อาการที่ร้ายแรงที่สุดของการเจ็บป่วยจากที่สูง เกิดจากการบวมน้ำ เพราะมีของเหลว/น้ำสะสมในเนื้อเยื่อของร่างกาย เช่น อาการปอดบวมน้ำจากที่สูง (High altitude pulmonary edema : HAPE) หรืออาการสมองบวมน้ำจากที่สูง (High altitude cerebral edema : HACE)

อาการปอดบวมน้ำ อาจลุกลามรวดเร็วและถึงชีวิตได้ โดยจะมีอาการเหนื่อยล้า หายใจลำบาก (Dyspnea) และไอแห้งๆ แล้วค่อยมีเสมหะ เป็นฟองสีชมพู ส่วนอาการสมองบวมน้ำ เป็นอาการที่คุกคามผู้ป่วย จนอาจถึงขั้นหมอสติ หรือเสียชีวิตได้ โดยมีอาการปวดศีรษะ เหนื่อยล้า มีปัญหาในการมองเห็น กระเพาะปัสสาวะ และ/หรือลำไส้ ทำงานผิดปกติ ร่างกายทำงานผิดเพี้ยนไป เป็นอัมพาต ครึ่งตัว หรือมีอาการสับสน การลดระดับลงมาจากที่สูงนั้น อาจช่วยให้ผู้ป่วยทรมานจากอาการสมองบวมน้อยลงได้

การขึ้นที่สูงอย่างช้าๆ รักษาจังหวะสม่ำเสมอ เป็นการป้องกันการเกิดอาการเจ็บป่วยจากที่สูง ที่ดีที่สุด และควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ใช้แรงมาก เช่น เล่นสกี ปีนเขา ในช่วง 24 ชั่วโมงแรก เพื่อลดโอกาสการเจ็บป่วยจากที่สูงอย่างเฉียบพลัน การดื่มแอลกอฮอล์อาจเป็นสาเหตุให้ร่างกายขาดน้ำ และทำให้การเจ็บป่วยจากสูงแย่ลง จึงไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 24 ชั่วโมงแรกที่เพิ่งเดินทางถึงความสูงระดับที่ต้องการ

แหล่งข้อมูล:

  1. Altitude sickness. http://en.wikipedia.org/wiki/Altitude_sickness [2012, June 8].