ยาไซโปรเฮปตาดีน (Cyproheptadine) เพอริแอคติน (Periactin)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

ไซโปรเฮปตาดีน (Cyproheptadine หรือรู้จักกันดีในชื่อ ‘เพอริแอคติน/Periactin’) คือยาใช้รักษาอาการแพ้ต่างๆ (เช่น โรคภูมิแพ้),  นอกจากนี้ ยังใช้ป้องกันไมเกรนในเด็ก, รักษาอาการคลื่นไส้อาเจียน, ใช้เป็นยากระตุ้นให้อยากอาหารและช่วยทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น, รูปแบบยาจะเป็นยารับประทาน

ไซโปรเฮปตาดีน เป็นยาในกลุ่มยาแก้แพ้(Antihistamine), หลังการรับประทาน ตัวยาจะถูกดูดซึม และเปลี่ยนโครงสร้างที่อวัยวะตับ, การคงระดับยานี้ในร่างกายอยู่ที่ประมาณ 8-9 ชั่วโมง, จากนั้นยานี้จะถูกขับออกจากร่างกายโดยทางปัสสาวะและอุจจาระ

ยาไซโปรเฮปตาดีนมีผลข้างเคียงได้หลายอย่าง การใช้ยานี้จึงสมควรต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ หรือขอคำแนะนำก่อนใช้ยาจากเภสัชกรที่ร้านขายยา

ยาไซโปรเฮปตาดีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

 

ยาไซโปรเฮปตาดีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:  

  • กระตุ้นความอยากอาหาร/ยาเจริญอาหาร รวมถึงกระตุ้นการอยากอาหารในผู้ป่วยโรคมะเร็ง
  • รักษาอาการภูมิแพ้ต่างๆ เช่น อาการผื่นคัน  คลื่นไส้อาเจียน

ยาไซโปรเฮปตาดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไซโปรเฮปตาดีนจะออกฤทธิ์ โดยเข้าไปแข่งขันแย่งพื้นที่ของตัวรับ (Receptor) กับสารเซโรโทนิน (Serotonin, สารสื่อประสาทชนิดหนึ่ง)ในบริเวณกล้ามเนื้อเรียบของอวัยวะต่างๆ เช่น ลำไส้เล็ก, นอกจากนี้ ยาไซโปรเฮปตาดีนยังออกฤทธิ์แข่งขันและแย่งการรวมตัวของสารฮิสตามีนกับตัวรับ,  ซึ่งจากกลไกดังกล่าว จึงส่งผลให้ยาไซโปรเฮปตาดีนมีฤทธิ์ในการรักษาอาการของโรคได้

ยาไซโปรเฮปตาดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบการจัดจำหน่ายของยาไซโปรเฮปตาดีน:  

  • เป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 4 มิลลิกรัม
  • ยาน้ำชนิดรับประทาน ขนาด 2 มิลลิกรัม/ 5 มิลลิลิตร/ 1 ช้อนชา

ยาไซโปรเฮปตาดีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดรับประทานของยาไซโปรเฮปตาดีน: เช่น

  • ผู้ใหญ่: เช่น รับประทานครั้งละ ½- 1 เม็ด ก่อนอาหาร, ขนาดรับประทานสูงสุด ไม่เกิน 5 มก./น้ำหนักตัว1กก./วัน     
  • เด็กอายุ 2 – 6 ปี: เช่น รับประทานครั้งละ 2 มก. ก่อนอาหาร, ทุก 8-12 ชั่วโมง, ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 12 มก./วัน     
  • เด็กอายุ 7-14 ปี: เช่น รับประทานครั้งละ 4 มก. ก่อนอาหาร, ทุก 8-12 ชั่วโมง, ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 16 มก./วัน

 *****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไซโปรเฮปตาดีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก หรือ แน่นหน้าอก หายใจติดขัด/ หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอื่นอยู่ เพราะยาไซโปรเฮปตาดีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงของยาต่อทารกได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไซโปรเฮปตาดีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า

ยาไซโปรเฮปตาดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา หรือผลข้างเคียง/อาการข้างเคียงของยาไซโปรเฮปตาดีน: เช่น  

  • ง่วงนอน
  • ปากคอแห้ง
  • การมองเห็นภาพไม่ชัดเจน
  • ปัสสาวะติดขัด
  • น้ำหนักตัวเพิ่ม
  • ใจสั่น

มีข้อควรระวังการใช้ยาไซโปรเฮปตาดีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังในการใช้ยาไซโปรเฮปตาดีน เพราะยานี้อาจทำให้อาการของโรคบางโรครุนแรงขึ้นได้ ซึ่งข้อควรระวัง: เช่น  

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยด้วยโรคต้อหิน
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคท่อปัสสาวะอุดตัน
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินอาหารอุดตัน/ลำไส้อุดตัน
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยด้วยโรคต่อมลูกหมากโต
  • ระมัดระวังการใช้กับผู้ป่วยด้วย โรคหืด โรคไทรอยด์ ชนิด ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ/ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน  โรคความดันโลหิตสูง  และโรคหัวใจ:โรคหลอดเลือดหัวใจ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับ ผู้สูงอายุ เด็ก  เพราะผลข้างเคียงจากยาอาจรุนแรงขึ้น   
  • หลีกเลี่ยงการใช้กับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เพราะยาอาจผ่านมาทางน้ำนมจนก่อผลข้างเคียงต่อทารกได้
  • การใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ต้องอยู่ในคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้  "ยา" ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมถึงยาไซโปรเฮปตาดีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาไซโปรเฮปตาดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไซโปรเฮปตาดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น 

  • การใช้ยานี้ ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะทำให้มีอาการ วิงเวียน อ่อนแรง และ ง่วงนอนมากยิ่งขึ้น
  • การใช้ยานี้ ร่วมกับยารักษาอาการวิตกกังวล จะส่งผลให้เพิ่มผลข้างเคียงจากยารักษาอาการวิตกกังวลได้ เช่น อาการง่วงนอน และมีฤทธิ์สงบประสาทมากขึ้น, ยารักษาอาการวิตกกังวลดังกล่าว เช่นยา Diazepam, Lorazepam
  • การใช้ยานี้ ร่วมกับยารักษาอาการแพ้/ยาแก้แพ้ต่างๆสามารถทำให้มีอาการง่วงนอนได้มากยิ่งขึ้น, ยาแก้แพ้ดังกล่าว เช่น ยา Brompheniramine, Chlorpheniramine (ซีพีเอ็ม/CPM)

ควรเก็บรักษายาไซโปรเฮปตาดีนอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาไซโปรเฮปตาดีน: เช่น  

  • สามารถเก็บยาได้ที่อุณหภูมิห้อง
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาไซโปรเฮปตาดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ชื่อการค้าอื่น และชื่อบริษัทผู้ผลิต ของยาไซโปรเฮปตาดีน เช่น

ชื่อทางการค้า บริษัทผู้ผลิต
Anpro (แอนโปร) The Forty-Two
Cycodine (ไซโคดีน) Utopian
Cyheptine (ไซเฮปทีน) Greater Pharma
Cyprocap (ไซโปรแคป) SSP Laboratories
Cyprodine (ไซโปรดีน) A N H Products
Cyprogin (ไซโปรจิน) Atlantic Lab
Cyproheptadine Asian Pharm (ไซโปรเฮปตาดีน เอเซียน ฟาร์ม) Asian Pharm
Cyproheptadine Asian Union (ไซโปรเฮปตาดีน เอเซียน ยูเนียน) Asian Union
Cyproheptadine K.B. (ไซโปรเฮปตาดีน เค.บี.) K.B. Pharma
Cyproheptadine MacroPhar (ไซโปรเฮปตาดีน มาโครฟาร์) MacroPhar
Cyproheptadine Medicine Products (ไซโปรเฮปตาดีน เมดิซีน โปรดักซ์) Medicine Products
Cyproheptadine Medicpharma (ไซโปรเฮปตาดีน เมดิกฟาร์มา) Medicpharma
Cyproheptadine T Man (ไซโปรเฮปตาดีน ที แมน) T. Man Pharma
Cypronam (ไซโปรแนม) SSP Laboratories
Cyprono (ไซโปรโน) Milano
Cypropicco (ไซโปรพิคโค) Picco Pharma
Cyprosian (ไซโปรเซียน) Asian Pharm
Cyprotec (ไซโปรเทค) Chew Brothers
Periactin (เพอริแอคทิน) M & H Manufacturing
Polytab (โพลีแทบ) Pharmasant Lab

บรรณานุกรม

  1. https://www.rxlist.com/consumer_cyproheptadine/drugs-condition.htm  [2022,Oct15]
  2. https://www.mims.com/thailand/drug/info/cyproheptadine?mtype=generic  [2022,Oct15]
  3. https://www.drugs.com/mtm/cyproheptadine.html  [2022,Oct15]
  4. https://www.drugs.com/mtm/cyproheptadine.html#interactions  [2022,Oct15]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Cyproheptadine  [2022,Oct15]
  6. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Cyprogin/?q=cyproheptadine&type=brief  [2022,Oct15]