ยาโรคจิต ยารักษาโรคจิต (Neuroleptics or Antipsychotics or Major tranquilizers)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโรคจิต หรือยารักษาโรคจิต (Neuroleptics or Antipsychotics or Major tranquilizers) เป็นกลุ่มยาที่ถูกนำมาบำบัดอาการทางจิตประสาท อาการหลงผิด (Delusion) ประสาทหลอน (Hallu cination) และโรคจิตประเภทไบโพลาร์/อารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder) ปัจจุบันยากลุ่มนี้ได้ขยายประสิทธิผลโดยนำไปรักษาโรคที่ไม่จัดอยู่ในประเภทโรคจิตอีกด้วย (Non-psychotic disorders) เช่น กรณีโรคสมองเสื่อม (Dementia) แต่ในกลุ่มผู้ป่วยด้วยโรคสมองเสื่อมมักจะได้รับยารักษาโรคจิตเป็นทางเลือกหลังๆกล่าวคือ แพทย์จะใช้วิธีการรักษาอื่นก่อนเช่น ให้ยาวิตามินเสริม หรือรักษาอาการโรคที่เป็นต้นเหตุเช่น เนื้องอกสมอง มีของเหลวคั่งในสมองมาก/ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ ได้รับบาดแผลทางศีรษะ มีโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 1 หรือสูบบุหรี่จัด เป็นต้น แม้แต่กลุ่มผู้ป่วยสูงอายุแพทย์จะไม่ใช้ยารักษาโรคจิตเป็นทางเลือกแรกในการรักษาโรคสมองเสื่อม

ปัจจุบันกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องใช้ยารักษาโรคจิตมีจำนวนมากเป็นอันดับต้นๆเมื่อเทียบกับผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ ประกอบกับมีรูปแบบของผลิตภัณฑ์ยารักษาโรคจิตได้ถูกผลิตออกมาทั้งยารับประทานที่ออกฤทธิ์ได้นาน (Extended release form) รวมถึงกลุ่มยาฉีดที่ต้องใช้ในสถานพยาบาลซึ่งตอบสนองต่อความต้องการของผู้ป่วยได้มากขึ้น ทำให้ธุรกิจของยารักษาโรคจิตขยายตัวอย่างรวดเร็ว

กลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่มนี้อยู่ที่สมองเป็นหลักโดยเฉพาะทำให้มีการปิดกั้นการทำงานของตัวรับ (Receptor) ในสมองที่มีชื่อว่า D2 receptors (Dopamine receptor) และส่งผลต่อสารสื่อประ สาทของสมองที่มีชื่อว่า Dopamine ซึ่งมีความสัมพันธ์กับอาการป่วยทางจิต

ทางคลินิกอาจจัดกลุ่มยารักษาโรคจิตออกเป็น 2 หมวดใหญ่ๆดังนี้

1. ยารักษาโรคจิตในรุ่นที่ 1 หรือเรียกว่า Typical antipsychotics: ยากลุ่มนี้ยังแบ่งออกเป็นหมวดย่อยตามลักษณะโครงสร้างเคมีของตัวยาได้ดังนี้

1.1 Butyrophenones: เช่น Benperidol, Bromperidol, Droperidol, Haloperidol, Pipamperone, Timiperone

1.2 Diphenylbutylpiperidine: เช่น Fluspirilene, Penfluridol, Pimozide

1.3 Phenothiazines: เช่น Cyamemazine, Dixyrazine, Fluphenazine, Levomepromazine, Mesoridazine, Perazine, Pericyazine, Perphenazine, Pipotiazine, Promazine, Prochlorpera zine, Promethazine, Prothipendyl, Thioproperazine, Thioridazine, Trifluoperazine, Triflupro mazine

1.4 Thioxanthenes: Chlorprothixene, Clopenthixol, Flupentixol, Thiothixene, Zuclopenthixol

1.5 ตัวยาอื่นๆ: เช่น Clotiapine, Loxapine, Prothipendyl

2. ยารักษาโรคจิตรุ่นที่ 2 หรือที่เรียกว่า Atypical antipsychotics: เช่นรายการยาดังต่อไป นี้ Amisulpride, Amoxapine, Aripiprazole, Asenapine, Clozapine, Blonanserin, Iloperidone, Lurasidone, Melperone, Nemonapride, Olanzapine, Paliperidone, Perospirone, Quetia pine, Remoxipride, Risperidone, Sertindole, Trimipramine, Ziprasidone, Zotepine

นอกจากนี้ยังมียาอีกกลุ่มถูกจัดรวมให้เป็นได้ทั้งยารุ่นที่ 1 และยารุ่น 2 อาจจะเป็นผลมาจากเหตุผลของการออกฤทธิ์ของตัวยาเป็นสำคัญ ตัวอย่างของยากลุ่มนี้เช่น Carpipramine, Clocapra mine, Molindone, Mosapramine, Sulpiride, Sultopride, Veralipride

ข้อแตกต่างระหว่างยารุ่นที่ 1 Typical antipsychotics และ ยารุ่นที่ 2 Atypical antipsy chotics คือ

  • Typical antipsychotics จะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของสารสื่อประสาทที่เรียกว่า Dopamine
  • ในขณะที่ Atypical antipsychotics จะยับยั้งการทำงานของ Dopamine และยังส่งผลต่อระดับของสารสื่อประสาทอีกตัวที่มีชื่อว่า Serotonin ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของร่างกายของผู้ป่วยโรคจิตอีกด้วย

ซึ่งจะเลือกใช้ยารักษาโรคจิตตัวไหนนั้นขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้รักษาและการตอบสนองของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

การใช้ยากลุ่มรักษาโรคจิตให้เห็นประสิทธิผลอาจต้องใช้เวลานานประมาณ 1 เดือนเป็นอย่างต่ำ ซึ่งก็น่าเพียงพอที่จะวิเคราะห์ออกว่ายาที่ใช้อยู่เหมาะสมกับผู้ป่วยหรือไม่ อาจมีคำถามจากญาติผู้ป่วยว่าต้องใช้ยาเป็นเวลานานเท่าใด อาจตอบในแนวทางกลางๆว่า ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยว่าดีขึ้นจนเหมาะสมที่แพทย์ผู้รักษาจะพิจารณาหยุดการใช้ยาหรือยัง ความเห็นของแพทย์ผู้รักษาจะช่วยตัดสินใจว่าสมควรให้ใช้ยาต่อหรือให้หยุดการใช้ยา ดังนั้นการจะใช้ยารัก ษาโรคจิตชนิดใดและใช้นานเท่าไรนั้นขึ้นกับลักษณะอาการของผู้ป่วย อายุ ความรุนแรง และระยะของโรคเป็นสำคัญ ผู้ป่วยต้องใช้ยาตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ห้ามปรับเปลี่ยนหรือซื้อหายามารับประทานเองโดยเด็ดขาด

ยารักษาโรคจิตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยาโรคจิต

ยารักษาโรคจิตมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

  • บำบัดรักษาอาการของโรคจิตเภท (Schizophrenia) เช่น อาการหลงผิดหรือมีภาวะประสาทหลอน
  • รักษาอาการโรคอารมณ์สองขั้ว/ไบโพลาร์ (Bipolar disorder) โรคอารมณ์แปรปรวน (Mania)
  • รักษาโรคสมองเสื่อม/จิตเสื่อม (Dementia)
  • รักษาภาวะซึมเศร้าขั้วเดียว (Unipolar depression)
  • รักษาอาการอื่นๆเช่น โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-compulsive disorder) โรคเครียดจากเหตุสะเทือนใจ (Posttraumatic stress disorder) บุคลิกภาพแปรปรวน (Personality disorders) โรคทูเร็ตต์ (Tourette’s syndrome, โรค/กลุ่มอาการที่ร่างกายมีการเคลื่อนไหวผิดปกติ) และโรคออทิซึม (Autism)

ยารักษาโรคจิตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

อาจแบ่งกลไกการออกฤทธิ์ของยารักษาโรคจิตตามกลุ่มหรือรุ่นของยาได้ดังนี้

ก. ยารุ่นที่ 1/Typical antipsychotics: จะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานที่ตัวรับ D2 receptors ในสมอง ส่งผลรบกวนการออกฤทธิ์ของสารสื่อประสาทที่เรียกว่า Dopamine ส่งผลให้เกิดสมดุลของสารสื่อประสาทที่เหมาะสมทำให้อาการผู้ป่วยพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น

ข. ยารุ่นที่ 2/Atypical antipsychotics: จะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานที่ตัวรับ D2 receptors ในสมองเช่นเดียวกับกลุ่ม Typical antipsychotics ส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของสาร Dopamine ในสมอง และยังออกฤทธิ์ต่อตัวรับอีกจำพวกที่มีชื่อว่า Serotonin receptors (5-hydroxytryptamine/5-HT receptor) โดยเฉพาะตัวย่อยๆที่มีชื่อเรียกว่า 5-HT2A และ 5-HT2C receptors ส่งผลให้อาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ที่เรียกว่า Extrapyramidal side effect (การเคลื่อนไหวผิดปกติของกล้ามเนื้อ/ของร่างกาย) ลดน้อยลงและยังทำให้อาการทางจิตของผู้ป่วยดีขึ้นด้วย

การออกฤทธิ์ของยาแต่ละตัวยาจะมีความแตกต่างกันทั้งนี้มาจากโครงสร้างทางเคมีของตัวยาที่ต่างกัน ประกอบกับการออกฤทธิ์ที่ตำแหน่งตัวรับใดในสมอง ยังรวมไปถึงระยะเวลาของการกำจัดตัวยาเหล่านี้ของร่างกาย และการจับตัวรวมกันระหว่างโปรตีนในเลือดกับตัวยาเหล่านี้ที่แตกต่างกัน ซึ่งล้วนส่งผลให้ตัวยาออกฤทธิ์ได้สั้นหรือยาวนานและมีความแตกต่างกันออกไปในการออกฤทธิ์

ยารักษาโรคจิตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยารักษาโรคจิตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น

  • ยาชนิดรับประทานทั้งชนิดเม็ด-แคปซูล และยาน้ำ
  • ยาฉีด

ยารักษาโรคจิตมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดรับประทานของยารักษาโรคจิตย่อมขึ้นกับลักษณะของอาการโรครวมถึงอายุ ความแข็งแรง โรคประจำตัวของผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา ซึ่งรวมถึงมีหลายกรณีที่แพทย์ผู้รักษาต้องสั่งจ่ายยาอื่นๆในการร่วมรักษาด้วย ผู้ป่วยจึงต้องรับประทานยาตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น และไม่ควรปรับเปลี่ยนขนาดรับประทานด้วยตนเอง

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยารักษาโรคจิต ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยารักษาโรคจิตอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยารักษาโรคจิตสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยารักษาโรคจิตให้ตรงเวลาเสมอ

ยารักษาโรคจิตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยารักษาโรคจิตมีผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

ก. อาการข้างเคียงจากยากลุ่มรุ่นที่ 1/Typical antipsychotics มีดังนี้เช่น วิงเวียน มีอาการ ตัวสั่น ปากแห้ง ท้องผูก ตาพร่า อารมณ์แปรปรวน คัดจมูก น้ำหนักเพิ่ม ตึงคัดเต้านม มีน้ำนมไหล ประจำเดือนมาผิดปกติ (ในสตรี) กล้ามเนื้อเกร็งตัว/เป็นตะคริว

ข. อาการข้างเคียงของยากลุ่มรุ่นที่ 2/Atypical antipsychotics จะมีความแตกต่างออก ไปเล็กน้อยเช่น ทำให้น้ำหนักเพิ่ม เสี่ยงกับภาวะเบาหวาน มีอาการสั่น ง่วงนอน อ่อนแรง ความรู้สึกทางเพศถดถอย ประจำเดือนมาผิดปกติ (ในสตรี) เกิดอาการน้ำนมไหล เป็นต้น

ทั้งนี้อาการข้างเคียงต่างๆดังกล่าวอาจเกิดได้มากขึ้นตามปริมาณยาที่ร่างกายได้รับเข้าไป ซึ่งอาจควบคุมบรรเทาอาการข้างเคียงต่างๆได้โดย

  • ควบคุมการบริโภคอาหารอย่างเหมาะสมเช่น รับประทานอาหารที่ไขมันต่ำ หวานน้อย รับประทานอาหารที่มีกากใยมาก ลดภาวะกินจุกจิก
  • การลุก เดิน นั่ง ให้ทำในกิริยาอาการช้าๆเพื่อป้องกันอาการวิงเวียน เป็นต้น

มีข้อควรระวังการใช้ยารักษาโรคจิตอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยารักษาโรคจิตเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับเปลี่ยนขนาดรับประทานเอง
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับในระยะรุนแรง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน ผู้ป่วยที่มีภาวะไขกระดูกไม่ทำงาน ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตต่ำหรือโรคความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรง ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะโคม่า
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต ผู้ป่วยโรคต้อหิน ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร และผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจแบบเรื้อรัง
  • การใช้ยาในสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ จะต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง ด้วยยาหลายตัวห้ามใช้กับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว แพทย์ผู้รักษาเท่านั้นที่จะเป็นผู้คัดเลือกตัวยาได้อย่างเหมาะสมให้กับผู้ป่วย
  • การใช้ยาทุกตัวมีระยะเวลาของการรักษา หากพบว่าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 เดือนหลังจากการใช้ยาควรกลับไปปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยารักษาโรคจิตด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยารักษาโรคจิตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยารักษาโรคจิตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ยา Chlorpromazine ร่วมกับยากลุ่ม MAOIs มีผลทำให้ความดันโลหิตต่ำได้ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยา Haloperidol ร่วมกับยานอนหลับหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์สามารถทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าขึ้นได้ สมควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยา Bromperidol ร่วมกับยา Levodopa อาจเป็นสาเหตุให้เกิดผลข้างเคียงที่สูงขึ้นของ ยา Bromperidol ติดตามมาได้ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยา Pimozide ร่วมกับยากลุ่ม SSRIs อาจส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติในการเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้นซึ่งมีสาเหตุจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมองหรือที่เรียกว่า Extrapyramidal side effects หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษายารักษาโรคจิตอย่างไร?

ควรเก็บยารักษาโรคจิตตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้ เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยารักษาโรคจิตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยารักษาโรคจิตที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Clopaze (โคลแพซ) Pharminar
Cloril (โคลริล) Atlantic Lab
Clozamed (โคลซาเมด) Medifive
Clozaril (โคลซาริล) Novartis
Clozapin (โคลซาปิน) Central Poly Trading
Halomed (ฮาโลเมด) Medifive
Halo-P (ฮาโล-พี) P P Lab
Haloperidol GPO (ฮาโลเพอริดอล จีพีโอ) GPO
Halopol (ฮาโลพอล) General Drugs House
Halox (ฮาล็อกซ์) Ranbaxy
Haricon (ฮาริคอน) Condrugs
Haridol (ฮาริดอล) Atlantic Lab
Haridol Decanoate (ฮาริดอล เดคาโนเอด) Atlantic Lab
H-Tab (เฮท-แทป) Pharmaland
Polyhadon (โพลีฮาดอน) Pharmasant Lab
LARAP (ลาแรพ) La Pharma
MOZEP (โมเซพ) Intas
NEURAP (นูแรพ) Torrent
NOTIC (โนติค) Sunrise
ORAP (โอแรพ) J & J (Ethnor)
PIMOZ (พิมอซ) Swiss Biotech
R-ZEP (อาร์-เซพ) Reliance
Neuris (นูริส) NeuPharma
Risperdal Consta (ริสเพอร์ดอล คอนสตา) Janssen-Cilag
Risperdal/Risperdal Quicklet (ริสเพอร์ดอล/ริสเพอร์ดอล ควิกเลท) Janssen-Cilag
Risperidone GPO (ริสเพอริโดน จีพีโอ) GPO
Ama (เอมา) Atlantic Lab
Ammipam (แอมมิแพม) MacroPhar
Chlopazine (คลอปาซีน) Condrugs
Chlorpromazine GPO (คลอโพรมาซีน จีพีโอ) GPO
Chlorpromed (คลอโพรเมด) Medifive
Matcine (แมทซีน) Atlantic Lab
Plegomazine (พลีโกมาซีน) Chew Brothers
Pogetol (โพจีทอล) Cental Poly Trading
Prozine (โพรซีน) Utopian

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Antipsychotic [2015,Oct10]
  2. http://www.nhs.uk/conditions/dementia-guide/pages/dementia-treatment.aspx [2015,Oct10]
  3. http://knowledgex.camh.net/amhspecialists/resources_families/antipsychotics_upm/Pages/types.aspx [2015,Oct10]
  4. http://knowledgex.camh.net/amhspecialists/resources_families/antipsychotics_upm/Pages/starting_stopping.aspx [2015,Oct10]
  5. http://downloads.lww.com/wolterskluwer_vitalstream_com/sample-content/9780781762632_abrams/samplechapter1.pdf [2015,Oct10]