ยาเอนเทคคาเวียร์ (Entecavir)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเอนเทคคาเวียร์ (Entecavir)เป็นยาต้านไวรัสที่มีฤทธิ์จำเพาะกับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี(Hepatitis B virus) โดยมีข้อบ่งใช้สำหรับโรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังในผู้ใหญ่ สามารถใช้ยานี้ได้ทั้งในระยะที่เชื้อไวรัสตับอักเสบบีกำลังเพิ่มจำนวน และระยะที่มีผลการตรวจพบว่า ผู้ป่วยกำลังอยู่ในระยะตับอักเสบ(Active liver inflammation) ซึ่งจะพบค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้นผิดปกติ (Abnormal liver function test)

ยาเอนเทคคาเวียร์ มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ยาเอนเทคคาเวียร์

ยาเอนเทคคาเวียร์ มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • สำหรับโรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังในผู้ใหญ่ที่มีผลการตรวจพบว่าผู้ป่วยกำลังอยู่ในระยะตับอักเสบ (Active liver inflammation)
  • รักษาโรคไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังที่พบว่าผู้ป่วยมีการดื้อต่อการรักษาด้วยยาลามิวูดีน (Lamivudine: ยารักษาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี) ซึ่งหมายถึง ผู้ป่วยที่มีประวัติตรวจพบเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในกระแสเลือดขณะกำลังได้รับยาลามิวูดีน หรือพบการดื้อของเชื้อไวรัสต่อยาลามิวูดีน (Lamivudine resistance) เนื่องจากเชื้อกลายพันธุ์

ยาเอนเทคคาเวียรมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเอนเทคคาเวียร์จัดเป็นยาต้านไวรัส (Antiviral agent) กลุ่ม Guanosine Nucleoside Analog ที่มีฤทธิ์แรงและยับยั้งจำเพาะต่อเอนไซม์ที่มีชื่อว่า HBV polymerase(Hepatitis B virus polymerase,เอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของDNA)ซึ่งเป็นเอนไซม์ของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เมื่อยาเข้ายับยั้งเอนไซม์ HBV polymerase จะส่งผลยับยั้งเอนไซม์รีเวิร์สทรานสคริปเตส (Reverse Transcriptase enzyme, เอนไซม์เกี่ยวข้องกับการทำงานของRNA และ DNA)ต่อไป ทำให้การเชื่อมต่อของดีเอ็นเอของไวรัสหยุดชะงัก เชื้อไวรัสจึงไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ในมนุษย์

ยาเอนเทคคาเวียร์ มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบที่มีจำหน่ายของยาเอนเทคคาเวียร์ในประเทศไทยมีรูปแบบทางเภสัชภัณฑ์เป็นยาเม็ดเคลือบฟิล์ม ชนิดรับประทาน มีความแรงยา 0.5 มิลลิกรัม และ 1 มิลลิกรัม

ยาเอนเทคคาเวียร์มีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?

ยาเอนเทคคาเวียร์มีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยา เช่น

ก. ขนาดยาสำหรับการรักษาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B):

1. เด็กอายุ 2 – 17 ปี ที่ยังไม่เคยได้รับยากลุ่มนิวคลีโอไซด์มาก่อน (Nucleoside treatment naïve): ขนาดยาปรับตามน้ำหนักตัวและค่าการทำงานของไตในเลือดของผู้ป่วย โดยศึกษาขนาดยาได้จากเอกสารกำกับยาของยาเอนเทคคาเวียร์

อนึ่ง ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกในขนาดการใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี

2. เด็กอายุ 2 – 17 ปี ที่เคยได้รับยาลามิวูดีนมาก่อน (Lamivudine experienced): ขนาดยาปรับตามน้ำหนักตัวและค่าการทำงานของไตฯของผู้ป่วย โดยขนาดยาสูงขึ้นเป็น 2 เท่าของขนาดยาในผู้ป่วยที่ยังไม่เคยได้รับยากลุ่มนิวคลีโอไซด์มาก่อน โดยศึกษาขนาดยาได้จากเอกสารกำกับยาเอนเทคคาเวียร์

3. สำหรับผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่ยังไม่เคยได้รับยากลุ่มนิวคลีโอไซด์มาก่อน (Nucleoside treatment naïve): รับประทานยา 0.5 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง โดยรับประทานขณะท้องว่าง ห่างจากอาหารอย่างน้อย 2 ชั่วโมง

4. สำหรับผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่ดื้อต่อยาลามิวูดีน (Lamivudine resistance): รับประทานยา 1 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง โดยรับประทานขณะท้องว่าง ห่างจากอาหารอย่างน้อย 2 ชั่วโมง

ข. ขนาดยาสำหรับการป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี (Hepatitis B)ในผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะตับ (HBV reinfection prophylaxis, post liver transplant) : รับประทานยา 0.5 - 1 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง โดยรับประทานขณะท้องว่าง ห่างจากอาหารอย่างน้อย 2 ชั่วโมง

ค. ระยะเวลาในการรักษาด้วยยาเอนเทคคาเวียร์: ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ร่วมกับผลตรวจปริมาณไวรัสในเลือดทางห้องปฏิบัติการ ทั้งนี้ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาตามคำแนะของแพทย์ ไม่เพิ่มหรือลดขนาดยาหรือหยุดรับประทานยาด้วยตนเอง พร้อมทั้งติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากยาขณะกำลังรับประทานยานี้ตามแพทย์ พยาบาล เภสัชกร แนะนำ

ง. ขนาดยาในผู้ป่วยที่มีการทำงานไตบกพร่อง: แพทย์จะปรับขนาดยาเอนเทคคาเวียร์ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตน้อยกว่า 50 มิลลิลิตร/นาทีเป็นต้นไปในผู้ป่วยผู้ใหญ่ แต่สำหรับผู้ป่วยเด็ก แพทย์อาจพิจารณาลดขนาดยาโดยอ้างอิงการปรับขนาดยาเช่นเดียวกับผู้ใหญ่

จ. ขนาดยาในผู้ป่วยที่มีการทำงานตับบกพร่อง: ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาเอนเทคคาเวียร์ในในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับบกพร่องทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาเอนเทคคาเวียร์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยา / แพ้อาหาร / แพ้สารเคมีทุกชนิด
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะ ยาเอนเทคคาเวียร์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยาเอนเทคคาเวียร์ยังคงมีข้อมูลความปลอดภัยในหญิงตั้งครรภ์ หรือหญิงให้นมบุตรอย่างจำกัด ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเอนเทคคาเวียร์ในช่วงตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะ หากยาสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกแล้วเข้าสู่ตัวทารก อาจจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากยาที่รุนแรงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

ปกติแล้วผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาเอนเทคคาเวียร์ให้ตรงเวลาอย่างเคร่งครัด อาหาร มีผลลดการดูดซึมยาเอนเทคคาเวียร์เข้าสู่ร่างกาย ดังนั้นการรับประทานยานี้เพื่อให้ได้มีประสิทธิภาพดี ผู้ป่วยควรรับประทานยาเอนเทคคาเวียร์ขณะท้องว่างสนิท คือ ก่อนอาหารอย่างน้อย 2 ชั่วโมง หรือหลังรับประทานอาหารไปแล้ว 2 ชั่วโมง เนื่องจากการศึกษาพบว่าอาหารส่งผลทำให้การดูดซึมยาเข้าสู่ร่างกายช้าลง และทำให้ปริมาณยาทั้งหมดที่ควรได้รับลดลงเช่นกัน

กรณีลืมรับประทานยานี้ โดยวิธีการรับประทานยาเอนเทคคาเวียร์ คือ รับประทานยาเพียงวันละ 1 ครั้ง ดังนั้นกรณีลืมรับประทานยานี้ แนะนำให้รับประทานยานี้ทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ทั้งนี้ควรรับประทานยาในช่วงที่ท้องว่างสนิท คือ ก่อนอาหารอย่างน้อย 2 ชั่วโมง หรือหลังรับประทานอาหารไปแล้ว 2 ชั่วโมง กรณีนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยาในช่วงเวลาเกิน 12 ชั่วโมงจากเวลารับประทานยาปกติ แนะนำให้ข้ามยามื้อที่ลืมไปเลย แล้วรอรับประทานยามื้อถัดไปในวันรุ่งขึ้น โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ตัวอย่างเช่น ปกติรับประทานยาเวลา 7.00 น. หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 7.00 น. ตอนเวลา 18.00 น. ก็ให้รับประทานยามื้อ 7.00 น. ทันที เนื่องจากยังไม่เกิน 12 ชั่วโมงจากเวลารับประทานยาปกติ แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงเวลาที่ใกล้กับวันถัดไป เช่น นึกขึ้นได้เวลา 23.00 น. ให้ข้ามยามื้อ 7.00 น. ที่ลืมไปเลย แล้วให้รับประทานยามื้อ 7.00 น. ของวันถัดไปในขนาดยาปกติเช่นเดิม ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม การกินยานี้ไม่สม่ำเสมอ จะทำให้ระดับยานี้ในเลือดอยู่ในระดับสูงบ้างต่ำบ้าง ซึ่งช่วงที่ระดับยานี้มีขนาดต่ำ อาจกระตุ้นให้เชื้อไวรัสเกิดการกลายพันธุ์เป็นสาเหตุของการดื้อยาในเวลาต่อมา

ยาเอนเทคคาเวียร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

อาการไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง)ของยาเอนเทคคาเวียร์ที่พบได้บ่อย ได้แก่ รู้สึก กล้ามเนื้ออ่อนแรง, ปวดศีรษะ, เหนื่อยล้า, มึนงง และรู้สึกคลื่นไส้

อาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงจากยานี้ ได้แก่ ภาวะเลือดเป็นกรดทำให้เซลล์ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่พียงพอ เช่น ภาวะเลือดเป็นกรดที่เรียกว่า แลกติคแอซิโดซิส (Lactic acidosis) ซึ่งเป็นภาวะที่มีอันตรายรุนแรงถึงแก่ชีวิตที่มักเกิดภาวะนี้ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับผิดปกติอยู่ก่อนแล้ว และผู้ป่วยอาจกำลังได้รับยาเอนเทคคาเวียร์อยู่ ดังนั้นหากผู้ป่วยที่กำลังได้รับยานี้อยู่ แล้วเกิดอาการเหนื่อย/อ่อนเพลียมากผิดปกติ รู้สึกหนาวแขนและขา มึนศีรษะ รู้สึกว่าหัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ ปวดกล้ามเนื้อ หายใจลำบากหรือหอบเหนื่อย ร่วมถึง ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

นอกจากนี้ ยังพบรายงานการเกิดความเป็นพิษต่อตับ (Hepatotoxicity)หลังใช้ยานี้ ซึ่งค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดจะเพิ่มสูงขึ้น โดยอาจเกิดร่วมกับภาวะตับโตอย่างรุนแรงร่วมกับมีไขมันสะสมในตับ (Hepatomegaly with steatosis) ซึ่งภาวะดังกล่าวเป็นภาวะที่อันตรายและอาจถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นหากผู้ป่วยที่กำลังได้รับยานี้อยู่แล้วมีภาวะ ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระสีอ่อนลงจากปกติ ไม่อยากอาหาร/เบื่ออาหารหลายวัน รู้สึกคลื่นไส้ และปวดท้อง ควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้ยาเอนเทคคาเวียร์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเอนเทคคาเวียร์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • กรณีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหยุดรับประทานยาเอนเทคคาเวียร์เองโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ ภาวะการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอาจแย่ลงได้ โดยมักเกิดขึ้นภายใน 6 เดือนหลังหยุดใช้ยาเอนเทคคาเวียร์
  • ก่อนการเริ่มต้นรักษาด้วยยาเอนเทคคาเวียร์ แพทย์จะตรวจการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีของผู้ป่วยก่อนเสมอ เนื่องจาก หากผู้ป่วยกำลังติดเชื้อไวรัสเอชไอวี และได้รับยาเอนเทคคาเวียร์เพื่อรักษาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ โดยยังไม่ได้รับการรักษาการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีมาก่อน ยาเอนเทคคาเวียร์ที่ผู้ป่วยได้รับสามารถส่งผลกระตุ้นเชื้อไวรัสเอชไอวีให้เกิดพัฒนาการดื้อยาขึ้นได้ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวีต่อไปในอนาคต
  • ระวังการใช้ยาเอนเทคคาเวียร์ในผู้ป่วยที่มีภาวะการทำงานของไตบกพร่อง โดยแพทย์จะพิจาณาลดขนาดยาลงเมื่อผู้ป่วยมีค่าการทำงานของไตน้อยกว่า 50 มิลลิลิตรต่อนาทีเป็นต้นไป
  • ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาเอนเทคคาเวียร์ในผู้ป่วยตับบกพร่อง เนื่องจากภาวะตับบกพร่องไม่มีผลที่มีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงยาเอนเทคคาเวียร์ในเลือดผู้ป่วย
  • ระมัดระวังการใช้ยาเอนเทคคาเวียร์ในผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์ หรือมีแผนการตั้งครรภ์ เนื่องจากยาเอนเทคคาเวียร์ยังคงมีข้อมูลความปลอดภัยในหญิงตั้งครรภ์หรือหญิงให้นมบุตรอย่างจำกัด ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเอนเทคคาเวียร์ในช่วงตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะหากยานี้สามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกแล้วเข้าสู่ตัวทารก อาจจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงจากยาต่อทารกได้
  • ระวังการใช้ยาเอนเทคคาเวียร์ในผู้ป่วยตับบกพร่อง, ตั้งครรภ์, ผู้ป่วยโรคอ้วน เนื่องจากมีรายงานการเกิดภาวะเลือดเป็นกรดชนิดแลคติกแอซิโดซิส (Lactic acidosis: ภาวะเลือดเป็นกรดแลคติก ทำให้เซลล์ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่พียงพอ) และภาวะตับโตรุนแรงร่วมกับมีไขมันสะสมในตับรุนแรง(Severe Hepatomegaly with steatosis) โดยควรหยุดยาเอนเทคคาเวียร์ทันที หากมีอาการทางคลินิก หรือผลตรวจทางห้องปฏิบัติการรายงานการเกิดภาวะแลคติกแอซิโดซิส(Lactic acidosis)
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาเอนเทคคาเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยังไม่มีรายงานที่พบ ปฏิกิริยาระหว่างยาเอนเทคคาเวียร์กับยาตัวอื่นๆ เนื่องจากยานี้ไม่ได้ถูกขจัดผ่านทางไซโตรโครมพี-450 (Cytochrome P450 ย่อว่าCYP 450,เอนไซม์กำจัดยา) จึงทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา(Drug interaction)

ควรเก็บรักษายาเอนเทคคาเวียร์อย่างไร?

แนะนำเก็บยาเอนเทคคาเวียร์ที่อุณหภูมิห้อง ไม่เก็บยาในที่อุณหภูมิสูงเกินกว่า 30 องศาเซลเซียส(Celsius) หรือเก็บยาในห้องที่ร้อนจัดหรือมีความชื้นมาก เช่น ห้องที่ถูกแสงแดดส่องถึงทั้งวัน ในรถยนต์ ห้องครัว หรือห้องน้ำ นอกจากนี้ยังควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิมและเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาให้พ้นจากแสงแดด หรือบริเวณที่มีแสงสว่างส่องถึงตัวยาตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อรักษาคุณภาพของยาให้มีประสิทธิภาพตลอดถึงวันสิ้นอายุของยา หากยาเกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพ เช่น สี, ลักษณะเม็ดยาเปลี่ยนแปลงจากปกติ ควรทิ้งยานั้นๆไป

ยาเอนเทคคาเวียร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเอนเทคคาเวียร์ ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Baraclude (0.5 และ 1 มิลลิกรัม)Bristol-Myers Squibb

บรรณานุกรม

  1. Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 24th ed. Ohio: Lexi-Comp; 2015-16.
  2. Product Information: Baraclude, Entecavir, Bristol-Myers Squibb, Thailand.
  3. TIMS (Thailand). MIMS. 140th ed. Bangkok: UBM Medica; 2015