ยาเลิกบุหรี่ (Smoking cessation drugs)

บทความที่เกี่ยวข้อง


ยาเลิกบุหรี่

ยาเลิกบุหรี่คือยาอะไร?

ยาเลิกบุหรี่(Smoking cessation drugs) เป็นยาที่ช่วยลดอาการถอนนิโคติน(Nicotine)/ถอนการติดสารนิโคตินและอาการอยากบุหรี่ การจะเลือกใช้ยาชนิดใดนั้นขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ป่วย โรคร่วม และพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของตัวผู้ป่วยเอง ซึ่งถ้าสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ ผลดีจะเกิดขึ้นกับตัวของผู้ป่วยและคนใกล้ชิด คือ ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆที่มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่และการได้รับควันบุหรี่ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็งชนิดต่างๆโดยเฉพาะมะเร็งปอด โรคหืด โรคถุงลมโป่งพอง เป็นต้น

ยาเลิกบุหรี่มีกี่กลุ่มยา?

ยาเลิกบุหรี่ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ดังนี้

1. สารนิโคตินทดแทน (Nicotine replacement therapy): ในประเทศไทยมีจำหน่าย 2 รูปแบบ คือ

  • หมากฝรั่งนิโคติน (Nicotine gum) และ
  • แผ่นแปะนิโคติน (Nicotine patch)

    แต่ในต่างประเทศ ยังมีจำหน่ายในรูปแบบอื่นๆ อีก เช่น

  • นิโคตินชนิดเม็ดอม (Nicotine lozenges)
  • นิโคตินชนิดสเปรย์พ่นจมูก (Nicotine nasal spray)
  • นิโคตินชนิดสูดเข้าทางปาก (Nicotine oral inhaler)

2. ยาที่ไม่มีส่วนผสมของสารนิโคติน (Non-nicotine replacement therapy) ได้แก่ยา บูโพรพิออน(Bupropion), วาเรนนิคลีน (Varenicline), นอร์ทริปไทลีน (Nortriptyline), โคลนิดีน (Clonidine)

ยาเลิกบุหรี่มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเลิกบุหรี่มีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้ เช่น

  • หมากฝรั่ง (Gum)
  • แผ่นแปะผิวหนัง (Patch)
  • ยาเม็ดอม (Lozenges)
  • ยาพ่นจมูก (Nasal spray)
  • ยาสูดเข้าทางปาก (Oral inhaler)
  • ยาเม็ด (Tablet)

อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของยาต่างๆได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”

มีข้อบ่งใช้ยาเลิกบุหรี่อย่างไร?

มีข้อบ่งใช้ยาเลิกบุหรี่ ดังนี้ เช่น

1. สารนิโคตินทดแทน: ใช้ทดแทนนิโคตินจากการสูบบุหรี่เพื่อช่วยลดอาการถอนนิโคติน (Nicotine withdrawal symptoms) เช่น หงุดหงิด โกรธง่าย ไม่มีสมาธิ เบื่อหน่าย ซึมเศร้า ใจสั่น ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย หิวบ่อย น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น

2. ยาที่ไม่มีส่วนผสมของสารนิโคติน: ช่วยลดอาการถอนนิโคตินและอาการอยากบุหรี่ จึงช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเลิกบุหรี่ได้สำเร็จมากขึ้น

มีข้อห้ามใช้ยาเลิกบุหรี่อย่างไร?

มีข้อห้ามใช้ยาเลิกบุหรี่ เช่น

1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ หรือผู้บริโภคมีปฏิกิริยาตอบสนองที่รุนแรง(Hypersensitivity)ต่อยานั้นๆ

2. ห้ามใช้สารนิโคตินทดแทน ในผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอย่างรุนแรง หรือมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายภายใน 2 สัปดาห์ก่อนเริ่มใช้ยา

3. ห้ามใช้ยา Bupropion ในผู้ที่มีประวัติเป็นโรคลมชัก โรคการรับประทานอาหารบกพร่องชนิดบูลีเมีย (Bulemia nervosa) และอโนเร็กเซียเนอร์โวซ่า (Anorexia nervosa) ผู้ที่อยู่ในระยะเพิ่งหยุดดื่มสุรา หรือผู้เลิกรับประทานยานอนหลับทันที เพราะจะยิ่งเพิ่มอุบัติการณ์ของการชัก

4. ห้ามใช้ยา Bupropion และยา Nortriptyline ร่วมกับยากลุ่ม Monoamine Oxidase Inhibitors (MAOIs) เพราะอาจเกิดกลุ่มอาการซีโรโทนิน (Serotonin syndrome) ทำให้มีอาการสับสน กระสับกระส่าย มีไข้สูงเฉียบพลัน หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรง มีอาการชักอย่างรุนแรง ดังนั้นหากต้องการใช้ยาร่วมกัน ควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 สัปดาห์

5. ห้ามใช้ยา Nortriptyline ในผู้ป่วยที่เพิ่งมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือด ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคอารมณ์สองขั้ว ผู้มีการทำงานของตับบกพร่องอย่างรุนแรง

6. ห้ามหยุดใช้ยา Nortriptyline ทันที การหยุดยานี้จะต้องค่อยๆปรับลดขนาดยาลงเพื่อป้องกันการเกิดอาการถอนยา เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และอ่อนแรง

7. ห้ามหยุดใช้ยา Clonidine ทันที การหยุดยานี้จะต้องค่อยๆปรับลดขนาดยาลง เพื่อป้องกันการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงเฉียบพลัน (Rebound hypertension)

มีข้อควรระวังการใช้ยาเลิกบุหรี่อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเลิกบุหรี่ เช่น

1.ควรระวังการใช้สารนิโคตินทดแทน ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน โรคตับ โรคไต ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน มีแผลในทางเดินอาหาร เช่น แผลในกระเพาะอาหาร โรคกรดไหลย้อน โรคความดันโลหิตสูง

2.ควรระวังการใช้แผ่นแปะนิโคติน ในผู้ที่แพ้แผ่นแปะผิวหนัง หรือป่วยเป็นโรคผิวหนัง

3.ไม่ควรใช้หมากฝรั่งนิโคติน ในผู้ที่มีปัญหาทางทันตกรรม มีการอักเสบในช่องปาก หรือเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อขากรรไกร

4.ไม่ควรใช้นิโคตินชนิดสเปรย์พ่นจมูก ในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติบริเวณจมูกเรื้อรัง เช่น ไซนัสอักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ ริดสีดวงจมูก เป็นต้น

5.ไม่ควรใช้นิโคตินชนิดสูดเข้าทางปาก ในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ

6.ควรระวังการใช้ยา Bupropion, Varenicline, Nortriptyline ในผู้ป่วยจิตเวช เพราะอาจทำให้อาการป่วยทางจิตแย่ลง อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ดังนั้นควรติดตามพฤติกรรมของผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด หากมีอารมณ์หรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปควรหยุดยาและไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที

7.ควรระวังการใช้ยา Bupropion ในผู้ที่มีการทำงานของตับบกพร่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่เป็นโรคตับแข็งขั้นรุนแรง อาจต้องลดความถี่ของการให้ยา หรือลดขนาดยาลง

8. ควรระวังการใช้ยา Bupropion ในผู้ที่มีโอกาสเกิดลมชักอยู่แล้ว เช่น ผู้ที่มีประวัติบาดเจ็บที่ศีรษะ มีเนื้องอกบริเวณระบบประสาทส่วนกลาง หรือได้รับยาอื่นที่เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการชัก เช่น ยารักษาโรคจิต ยาต้านซึมเศร้า ยากลุ่ม Corticosteroids ชนิดรับประทาน และยา Theophylline

9. ควรระวังการใช้ยา Varenicline ในผู้ป่วยโรคไต โรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน หรือมีประวัติเป็นโรคลมชัก

10. การรับประทานยา Varenicline ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะส่งผลให้ความทนต่อแอลกอฮอล์ของผู้ป่วยลดลง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการทางจิตประสาท เช่น พฤติกรรมก้าวร้าวผิดปกติ มีอาการมึนเมามากผิดปกติ เป็นต้น

11. ควรระวังการใช้ยา Nortriptyline ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน เบาหวาน มีประวัติโรคลมชัก ต่อมลูกหมากโตบีพีเอช ต้อหินชนิดมุมปิด ความดันลูกตาสูง ท้องผูก ปัสสาวะคั่ง/ปัสสาวะขัด

12. ควรระวังการใช้ยา Clonidine ในผู้ที่มีเลือดมาเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ มีการนำไฟฟ้าของหัวใจผิดปกติ เพิ่งมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง ไตวายเรื้อรัง

13. ยาNortriptyline และยา Clonidine เป็นยาที่มีอาการไม่พึงประสงค์จากยา คือ ทำให้ง่วงซึม ดังนั้นควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ที่ขับขี่ยานพาหนะ ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล ทำงานที่เสี่ยงต่อการพลัดตกจากที่สูง และควรระวังการใช้ยานี้ร่วมกับยากลุ่มอื่นที่ออกฤทธิ์เป็นยากดประสาทส่วนกลาง เช่น ยานอนหลับ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะยิ่งทำให้เกิดอาการง่วงซึมได้มากขึ้น

การใช้ยาเลิกบุหรี่ในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาเลิกบุหรี่ในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น

1. การสูบบุหรี่ทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ยากขึ้นและยังทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ ดังนั้นในผู้ที่สูบบุหรี่และวางแผนตั้งครรภ์ ควรพบแพทย์เพื่อหาวิธีเลิกบุหรี่ถาวรหรืออย่างน้อยให้หยุดสูบบุหรี่ในช่วงเวลาที่ตั้งครรภ์

2. ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากการใช้ยาเลิกบุหรี่มากเพียงพอในผู้ป่วยหญิงมีครรภ์/ตั้งครรภ์ หากจำเป็นต้องใช้ยาเลิกบุหรี่ อาจพิจารณาใช้สารนิโคตินทดแทนในรูปแบบ หมากฝรั่ง หรือเม็ดอม ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อให้ผู้ป่วยมีโอกาสเลิกบุหรี่สำเร็จมากขึ้นและป้องกันการกลับมาสูบบุหรี่ซ้ำหลังคลอด

การใช้ยาเลิกบุหรี่ในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาเลิกบุหรี่ในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น

  • ผู้สูงอายุ สามารถใช้ยาเลิกบุหรี่ได้ แต่เนื่องจากเป็นวัยที่อาจมีโรคประจำตัว และมียาอื่นๆที่ต้องใช้เป็นประจำอยู่แล้ว จึงต้องเฝ้าระวังการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา และ/หรืออาการไม่พึงประสงค์จากยา และแพทย์จะปรับขนาดยาให้เหมาะกับผู้ป่วยสูงอายุแต่ละราย

การใช้ยาเลิกบุหรี่ในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาเลิกบุหรี่ในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น

1. ผู้ป่วยเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป สามารถใช้สารนิโคตินทดแทนได้ แต่ควรใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์

2. ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยา Bupropion และ Varenicline ในผู้ป่วยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เพราะยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากการใช้ยามากเพียงพอ หากจำเป็นต้องใช้ยานี้ ควรเฝ้าติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากยาที่มีโอกาสพบในเด็กและในวัยรุ่นได้มากกว่าวัยอื่น เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตเวชอาจมีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2 เดือนแรกของการรักษา

อาการไม่พึงประสงค์จากยาเลิกบุหรี่เป็นอย่างไร?

อาการไม่พึงประสงค์จากยาเลิกบุหรี่มีดังนี้ เช่น

1. หมากฝรั่งนิโคติน ทำให้ระคายเคืองช่องปากและลำคอ มีแผลในปาก สะอึก ปวดกราม มึนงง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ไม่สบายท้อง ท้องอืด หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ

2. แผ่นแปะนิโคติน ทำให้มีอาการระคายเคืองบริเวณผิวหนัง ผื่นแดง ผื่นไหม้ ผื่นคัน เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ นอนไม่หลับ ฝันร้าย หัวใจเต้นเร็ว

3. นิโคตินชนิดเม็ดอม ทำให้ คลื่นไส้ สะอึก เจ็บคอ ไอ แสบร้อนกลางอก แน่นท้อง ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว

4. นิโคตินชนิดสเปรย์พ่นจมูก ทำให้มีอาการระคายเคืองจมูก น้ำมูกไหล น้ำตาไหล ไอ จาม ระคายคอ ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว

5. นิโคตินชนิดสูดเข้าทางปาก ทำให้ระคายเคืองช่องปากและลำคอ ไอ น้ำมูกไหล ไม่สบายท้อง ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว

6.ยาBupropion ทำให้ มือสั่น ปวดศีรษะ ผื่นแพ้ คัน นอนไม่หลับ ฝันร้าย กระสับกระส่าย วิตกกังวล ซึมเศร้า เบื่ออาหาร ปากแห้ง ชัก การมองเห็นผิดปกติ คลื่นไส้อาเจียน

7. ยาVarenicline ทำให้นอนไม่หลับ ฝันร้าย คลื่นไส้ ง่วงซึม มึนงง หมดสติ ไม่มีสมาธิ และเกิดอาการทางจิตเวช เช่น พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง หดหู่ กระวนกระวาย ก้าวร้าว ทำร้ายตัวเอง

8. ยา Nortriptyline ทำให้ปากแห้ง ตาพร่า ทองผูก ปัสสาวะคั่ง หน้ามืด มือสั่น ใจสั่น ง่วงซึม หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นเร็ว เวียนศีรษะ ชัก ประสาทหลอน วิตกกังวล สับสน

9.ยา Clonidine ทำให้ปากแห้ง ตาแห้ง มองภาพไม่ชัด ง่วงซึม มึนงง ปวดท้อง เบื่ออาหาร ท้องผูก การเต้นของหัวใจผิดปกติ วิตกกังวล สับสน นอนไม่หลับ ฝันร้าย

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเลิกบุหรี่) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. ธีรพล ทิพย์พยอม และชวนชม ธนานิธิศักดิ์. นอร์ทริปไทลีนสำหรับการเลิกสูบบุหรี่. ศรีนครินทร์เวชสาร 25 (2553) : 147-155.
  2. สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา และสุรจิต สุนทรธรรม. แนวทางเวชปฏิบัติอิงหลักฐานการบำบัดโรคเสพยาสูบในประเทศไทย ปี 2555 http://resource.thaihealth.or.th/library/hot/13415 [2018,Aug25]
  3. Karpinski, J.P., Timpe, E.M., and Lubsch, L. Smoking Cessation Treatment for Adolescents. Pediatr Pharmacol Ther 15 (2010) : 249-263.
  4. The American Cancer Society medical and editorial content team. Nicotine Replacement Therapy for Quitting Tobacco https://www.cancer.org/healthy/stay-away-from-tobacco/guide-quitting-smoking/nicotine-replacement-therapy.html [2018,Aug25]
  5. World Health Organization. Pregnancy and Postpartum Smoking Cessation : http://www.who.int/tobacco/publications/gender/en_tfi_gender_women_pregnancy_postpartum_smoking_cessation.pdf [2018,Aug25]