ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate, MTX)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) จัดเป็นยาที่เลือกใช้ลำดับแรก (First line) ของกลุ่มยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค (Disease modifying antirheumatic drugs หรือย่อว่า DMARDs ) ซึ่งใช้ในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ร่วมกับยาต้านอักเสบอื่นๆ

โดยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์เป็นโรคที่มีความผิดปกติของการควบคุมภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย (Autoimmune disease/ โรคออโตอิมมูน/ โรคภูมิต้านตนเอง) ซึ่งก่อให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อต่างๆโดยเป็นการอักเสบชนิดที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ดังนั้นยาที่ใช้ในการรักษาจึงเป็นกลุ่มที่มีฤทธิ์ปรับภูมิคุ้มกันต้านทานโรคให้ทำงานลดลง รวมทั้งลดการสร้างสารก่อการอักเสบ (ชนิดไม่ได้เกิดจากติดเชื้อโรค) ต่างๆ

นอกจาก นี้ยาเมโธเทรกเซท ยังถูกนำมาใช้ในการรักษามะเร็งอีกด้วย

ยาเมโธเทรกเซทมีสรรพคุณอย่างไร?

ยาเมโธเทรกเซท

ยาเมโธเทรกเซทมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้

  • รักษาโรคภูมิต้านตนเอง/โรคออโตอิมมูน เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
  • ใช้เป็นยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง เช่น โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) โรคมะเร็งกระดูก (Osteosarcoma)

ยาเมโธเทรกเซทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเมโธเทรกเซท มีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการสร้าง ดีเอ็นเอ (DNA) และอาร์เอ็นเอ (RNA) ของเซลล์ โดยยับยั้งเอนไซม์ไดไฮโดรโฟเลตรีดักเทส (Dihydrofolate reductase, DHFR) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ใช้ในการเปลี่ยนไดไฮโดรโฟเลต (Dihydrofo late) ไปเป็นเตตระไฮโดรโฟเลต (Tetrahydrofolate) จึงยับยั้งการสังเคราะห์ดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอ (RNA) ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมของร่างกาย ดังนั้นจึงทำให้เซลล์มะเร็งตาย ซึ่งเซลล์ปกติในร่างกายที่แบ่งตัวเร็วเช่น ผม เซลล์เยื่อบุช่องปากอาจตายด้วยเช่นกัน

ในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ฤทธิ์ที่สำคัญของยานี้ อาจไม่ใช่การยับยั้งเอนไซม์ไดไฮโดรโฟเลตรีดักเทสเท่านั้น แต่ยาเมโธเทรกเซทสามารถยับยั้งเอนไซม์ได้หลายชนิดรวมทั้งเพิ่มการปลดปล่อย อะดีโนซีน (Adenosine) ซึ่งเป็นสารมีฤทธิ์ต้านอักเสบได้ดี อีกทั้งยาเมโธ เทรกเซทยังสามารถยับยั้งการกระตุ้นของทีเซลล์ (T cells) ซึ่งเป็นเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับ ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายจึงทำให้ระบบภูมิคุ้มกันฯทำงานลดลง

ยาเมโธเทรกเซทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเมโธเทรกเซทมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดรับประทาน ขนาด 2.5 และ 10 มิลลิกรัม
  • ยาฉีด ขนาด 50 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร
  • ยาฉีด ขนาด 50 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
  • ยาฉีด ขนาด 1,000 มิลลิกรัม/10 มิลลิลิตร
  • ยาฉีด ขนาด 5,000 มิลลิกรัม/50 มิลลิลิตร

ยาเมโธเทรกเซทมีขนาดการใช้อย่างไร?

ยาเมโธเทรกเซทมีขนาดการใช้ เช่น

ก. ขนาดยาในผู้ใหญ่สำหรับโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์: เช่น รับประทานครั้งเดียวครั้งละ 7.5 มิล ลิกรัม/สัปดาห์ หรือรับประทานครั้งละ 2.5 มิลลิกรัมทุก 12 ชั่วโมงจำนวน 3 ครั้ง/สัปดาห์ โดยขนาดยาสูงสุดไม่เกิน 20 มิลลิกรัม/สัปดาห์

ข. ขนาดยาในเด็กสำหรับโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์: เช่น รับประทานหรือฉีดเข้าทางกล้ามเนื้อหนึ่งครั้ง/สัปดาห์ ขนาด 5 - 15 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย (Body surface area) หน่วยเป็นตา รางเมตร

ค. ขนาดยาในผู้ใหญ่สำหรับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma): เช่น

  • สำหรับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดเบอร์กิต (Burkitt’s lymphoma) ระยะ 1 - 2: เช่น รับประทานวันละครั้งๆละ 10 - 25 มิลลิกรัม เป็นเวลา 4 - 8 วัน
  • สำหรับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะ 3 : เช่น รับประทานวันละครั้งๆละ 0.625 - 2.5 มิลลิกรัม /กิโลกรัม โดยเป็นส่วนหนึ่งของยารักษามะเร็งสูตรผสม

ง. ขนาดยาในผู้ใหญ่สำหรับโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟบลาสชนิดเฉียบพลัน (Acute Lymphoblastic Leukemia): เช่น

  • ขนาดยาเริ่มต้น 3.3 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกายเป็นตารางเมตร/วัน โดยให้ยาแบบรับ ประทานหรือฉีดเข้าทางกล้ามเนื้อ (โดยให้เป็นยาสูตรผสมร่วมกับยาเพรดนิโซโลน 60 มิลลิ กรัม/พื้นที่ผิวร่างกายเป็นตารางเมตร)
  • ขนาดยาช่วงควบคุมอาการ (Maintenance of remission) 15 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวร่าง กายเป็นตารางเมตร โดยให้ยาแบบรับประทานหรือฉีดเข้าทางกล้ามเนื้อ 2 ครั้งต่อสัปดาห์

จ. ขนาดยาในผู้ใหญ่สำหรับโรคมะเร็งกระดูก ชนิด osteosarcoma : เช่น ขนาดยาเริ่มต้น 12 มิล ลิกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกายเป็นตารางเมตร โดยให้ยาแบบหยดทางหลอดเลือดดำ (Intravenous infusion) นาน 4 ชั่วโมง หากขนาดที่ให้ไม่เพียงพอที่จะทำให้ความเข้มข้นของยาสูงสุดในซีรั่มเป็น 1,000 ไมโครโมลาร์ เมื่อให้ยาเสร็จสามารถเพิ่มขนาดยาได้ถึง 15 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวกาย เป็นตารางเมตร และสามารถให้ยาในสัปดาห์ที่ 4, 5, 6, 7, 11, 12, 15, 16, 29, 30, 44, และ 45 หลังผ่าตัด

อนึ่ง:

  • ขนาดยานี้ที่ใช้ในเด็กขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ โดยพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น อายุ น้ำหนักตัว พื้นที่ผิวของร่างกาย (Body surface area) ชนิดโรค ความรุน แรงโรค ค่าการทำงานของไขกระดูก และผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากยา

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาเมโธเทรกเซทควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ควรแจ้งหากเป็นโรคตับ เช่น โรคตับแข็ง เนื่องจากยาเมโธเทรกเซทอาจก่อให้เกิด อาการข้างเคียงจากโรคตับได้เพิ่มมากขึ้น
  • ควรแจ้งหากเป็นโรคไต เนื่องจากยาเมโธเทรกเซทอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงจากโรคไตได้เพิ่มขึ้น เช่น ไตวาย
  • ควรแจ้งหากเป็นโรคไขกระดูกทำงานผิดปกปกติ เนื่องจากยาเมโธเทรกเซทอาจก่อ ให้เกิดการกดไขกระดูก (ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดลดลง)
  • ควรแจ้งหากเป็นโรคปอด เช่น ปอดอักเสบ (ปอดบวม) เนื่องจากยาเมโธเทรกเซทอาจก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบในผนังถุงลม (Interstitial pneumonitis)
  • ควรแจ้งเกี่ยวกับยาอื่นๆที่กำลังใช้อยู่ เพราะยาที่กำลังใช้อยู่อาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยาเมโธเทรกเซท
  • ควรแจ้งเกี่ยวกับการใช้ วิตามิน อาหารเสริม และยาสมุนไพรที่ใช้อยู่ในขณะนี้หรือกำลังจะใช้ เพราะอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของยาเมโธเทรกเซท
  • สุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ /มีครรภ์ หรือไม่หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่ เนื่องจากยาเมโธเทรกเซทสามารถผ่านรกและถูกขับออกทางน้ำนม ซึ่งอาจส่ง ผลข้างเคียงในทารกได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเมโธเทรกเซท ให้ปฏิบัติตามที่แพทย์ผู้รักษาแนะนำซึ่งโดยทั่วไป เช่น

ก. กรณีที่รับประทานยาวันละครั้งเดียว:

  • หากเวลาที่นึกขึ้นได้ไม่เกินกว่า 12 ชั่วโมงจากเวลาเดิมที่เคยรับประทานยา ให้รับ ประทานยาทันที
  • ถ้าเวลาที่นึกขึ้นได้เกินกว่า 12 ชั่วโมงไปแล้ว ให้เว้น/ข้ามการรับประทานยาในมื้อนั้นที่ลืมไป และให้เริ่มรับประทานยาในมื้อต่อไปตามเวลาที่แพทย์สั่งโดยไม่ต้องเพิ่มยาเป็น 2 เท่า

ข. กรณีที่รับประทานยาสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือสัปดาห์ละ 2 ครั้ง:

  • หากเวลาที่นึกขึ้นได้ไม่เกินกว่า 24 ชั่วโมงจากเวลาเดิมที่เคยรับประทานยาให้รับ ประทานยาทันที
  • ถ้าเวลาที่นึกขึ้นได้เกินกว่า 24 ชั่วโมง ควรโทรศัพท์ปรึกษาแพทย์ผู้รักษา

ยาเมโธเทรกเซทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เมโธเทรกเซท ได้แก่

ก. ผลข้างเคียงที่สำคัญและรุนแรง เช่น

  • กดไขกระดูกโดยเฉพาะเม็ดเลือดขาวต่ำ
  • ทำให้เกิดโรคตับแข็ง (Cirrhosis)
  • โรคตับอักเสบ (Hepatitis)
  • โรคปอดอักเสบในผนังถุงลม (Interstitial pneumonitis)
  • ไตวาย

ข. ส่วนผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรง เช่น

  • ผมร่วง,
  • แผลที่เนื้อเยื่อเมือกต่างๆ (เช่น เยื่อเมือกบุช่องปาก ริมฝีปาก และลำไส้) ซึ่งอาการข้างเคียงเหล่านี้ สามารถบรรเทาด้วยการรับประทาน ยาโฟเลต (Folate)/ ยากรดโฟลิก ร่วมด้วย (ให้การรักษาโดยแพทย์)

มีข้อควรระวังในการใช้ยาเมโธเทรกเซทอย่างไร?

มีข้อควรระวังในการใช้ยาเมโธเทรกเซท เช่น

  • ไม่ควรใช้ยาเมโธเทรกเซทในผู้ที่แพ้ยาเมโธเทรกเซท
  • ควรใช้ยาเมโธเทรกเซทตามวิธีใช้ที่ระบุบนฉลากยาอย่างเคร่งครัด ห้ามเพิ่มหรือลดขนาดยาเอง หากมีข้อสงสัยให้สอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
  • หากรับประทานยานี้เกินขนาดให้รีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยด่วน
  • หากมีอาการผิดปกติใดๆขณะใช้ยานี้ ให้หยุดยาและรีบปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาล เช่น มีผื่น คลื่นไส้-อาเจียน มาก
  • ไม่ควรซื้อยาอื่นรับประทานเองขณะใช้ยาเทโธเทรกเซท เนื่องจากยาบางชนิดมีผลต่อการออกฤทธิ์ของยาเมโธเทรกเซท ซึ่งอาจทำให้เพิ่มความเป็นพิษของยาเมโธเทรกเซทได้ หรือทำให้ระดับยาเมโธเทรกเซทต่ำกว่าระดับที่ใช้ในการรักษา
  • ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ที่มี โรคตับ โรคปอด โรคไต โรคเกี่ยวกับการทำงานของไขกระดูกผิดปกติ
  • ในระหว่างรับประทานยานี้ควรดื่มน้ำมากๆประมาณวันละ 8 - 12 แก้ว เพื่อลดและป้อง กันปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับไต
  • ยาเมโธเทรกเซทถูกจัดตามดัชนีความปลอดภัยการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ ให้อยู่ในกลุ่มเอ็กซ์ (Pregnancy Category X) คือ มีพิษก่อความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์ ดังนั้นไม่ควรใช้ยาเมโธเทรกเซทในระหว่างตั้งครรภ์
  • ห้ามแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมถึงยาเมโธเทรกเซท) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาเมโธเทรกเซทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเมโธเทรกเซทมีอันตกริยาระหว่างยา/ปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนนิซิลลิน (Penicillins): เนื่องจากยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนนิซิลลินอาจลดการขจัดออกของยาเมโธเทรกเซททางไต จึงทำให้มีระดับยาเมโธเทรกเซทในร่างกายสูงขึ้นจนอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงจากยาเมโธเทรกเซทสูงจนเป็นอัตรายได้
  • ยาปฏิชีวนะโค-ไตรม็อกซาโซล (Co-trimoxazole): เนื่องจากยาโค-ไตรม็อกซาโซลอาจเสริมฤทธิ์การกดไขกระดูกของยาเมโธเทรกเซท
  • ยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์/เอ็นเสด (NSAID, Non-steroidal anti-inflam matory drug) เช่นยา แอสไพริน (Aspirin) เนื่องจากมีรายงานว่า ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตีย รอยด์ลดการกำจัดยาเมโธเทรกเซททางไต จึงทำให้อาจเกิดอาการข้างเคียงจากยาเมโธเทรกเซทในการรักษาโรคข้อรูมาตอยด์ ซึ่งอาจมีการใช้ยาเมโธเทรกเซทร่วมกับยาแก้อักเสบชนิดไม่ ใช่สเตียรอยด์ ดังนั้นแพทย์จึงจำเป็นต้องใช้ยาเมโธเทรกเซทในขนาดต่ำลง เพื่อป้องกันการเกิดอาการข้างเคียงจากยาเมโธเทรกเซท

ควรเก็บรักษายาเมโธเทรกเซทอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาเมโธเทรกเซท เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง 25 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
  • เก็บยาในที่แห้ง พ้นแสงแดด
  • ควรเก็บรักษายาให้มิดชิด พ้นมือเด็ก และสัตว์เลี้ยง

ยาเมโธเทรกเซทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเมโธเทรกเซท มีชื่อยาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทที่ผลิต
Emthexate (เอมเทกเซท) Pharmachemie/Teva
Methotrexat-Ebewe (เมโธเทรกซัด-อีบีวี) Sandoz
Neometho (นีโอมีโท) Boryung Pharma
Trexate (เทรกเซด) Venus Remedies
Methotrexate Remedica (เมโธเทรกเซท เรมีดิคา) Remedica
Metrex (เมเทรก) Dae Han New Pharm
Onkomet (ออนโคเมท) Klab

บรรณานุกรม

1. วีรพล คู่คงวิริยพันธุ์. ยาออกฤทธิ์ต่อระบบภูมิคุ้มกัน (Immunomodulating agents) ใน เภสัชวิทยา สำหรับนักศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพเล่ม 3. หน้า 71-74. วีรพล คู่คงวิริยพันธุ์ ศิริมาศ กาญจนวาศ และ ลัดดาวัลย์ เส็งกันไพร. ขอนแก่น : โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา, 2557.
2. http://www.drugs.com/methotrexate.html[2021,Jan9]
3. https://www.mims.com/thailand/drug/info/methotrexate?mtype=generic [2021,Jan9]
4. https://www.rxlist.com/trexall-drug.htm [2021,Jan9]
5. http://www.webmd.com/drugs/2/drug-3441/methotrexate-anti-rheumatic-oral/details [2021,Jan9]
6. http://110.164.68.234/chemo/images/files/list/Methotrexate-tablets.pdf [2021,Jan9]