ยาอี หรือ เมทิลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน (MDMA: Methylenedioxymethamphetamine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

สาร/ยาเมทิลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน(Methylenedioxymethamphetamine ย่อว่า MDMA) จัดอยู่ในสาร/ยาเสพติดประเภทที่ 1 ในต่างประเทศมีการลักลอบขายในตลาดมืดโดยใช้ชื่อการค้าว่า “Ecstasy” ประเทศไทยจะเรียกสารเมทิลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนว่า “ยาอี” ซึ่งย่อมาจากคำว่า Ecstasy ยาชนิดนี้มีฤทธิ์ต่อสมองและต่อจิตประสาท/จิตใจ กระตุ้นให้ รู้สึกเคลิบเคลิ้ม ลดความกังวล ทำให้รู้สึกสงบภายในจิตใจ เกิดความมั่นใจในตนเอง อาจทำให้มีอาการประสาทหลอนอย่างอ่อนๆ และกระตุ้นอารมณ์ทางเพศเพียงเล็กน้อย ทางการแพทย์เคยทดลองนำ MDMA มาใช้บำบัดอาการทางจิตเวช แต่ขณะเดียวกันก็ถูกนำมาใช้ในสถานบันเทิงต่างๆเพื่อวัตถุประสงค์เป็นยากระตุ้นความบันเทิง (Recreational drug) และเป็นที่แพร่ระบาดในกลุ่มคนอายุประมาณ 15–64 ปี แต่ด้วยเป็นสารที่มีฤทธิ์เสพติดและสามารถกระตุ้นการเกิดพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)ต่อร่างกายได้อย่างรุนแรง การเสพสารนี้เพียงครั้งเดียวก็ก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่างๆตามมาได้มากมาย อย่างไรก็ตามมีบางประเทศในแถบโลกตะวันตกได้ทำการวิจัยและประกาศใช้ MDMA มาบำบัดรักษาอาการของโรคเครียดหลังถูกทารุณกรรมตั้งแต่ปี ค.ศ.2017(พ.ศ.2560)

อนึ่ง ในตลาดมืด(Street drug หรือ Club drug) เรียกสารชนิดนี้หลายชื่อ เช่น เลิฟ/Love, XTC, E, X, Beans, Adams, Hug, Blue, Cristal, X, Go, Blue

รูปแบบการจัดจำหน่ายของ MDMA เป็นอย่างไร?

ยาอี

รูปแบบการจัดจำหน่ายของสาร MDMA ที่ลักลอบจำหน่ายในตลาดมืด เป็นแบบ เม็ด หรือแคปซูล ชนิดรับประทาน แต่อาจพบเห็น MDMA ในลักษณะเป็นผง และเสพโดยการสูดเข้าทางจมูก

การออกฤทธิ์ของ MDMA เป็นอย่างไร?

การออกฤทธิ์ของสาร MDMA คือ สาร MDMA จะกระตุ้นสมอง ทำให้มีการหลั่งสารสื่อประสาทบางประเภทของเซลล์ประสาทก่อนการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาท(Presynpse) ที่เรียกสารที่ออกฤทธิ์ที่จุดนี้ของสมองว่า “Presynaptic releasing agent” เช่น Serotonin, Norepinephrine, และ Dopamine ซึ่งการเปลี่ยนแปลงปริมาณสารสื่อประสาทดังกล่าว ทำให้การทำงานของสมองและสภาพจิตใจเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้มีอาการเคลิ้มสบาย หมดกังวล แต่ก็มีความตื่นตัวของร่างกาย หัวใจเต้นเร็ว และเกิดภาพหลอน การเสพสารนี้บ่อยๆต่อเนื่อง จะส่งผลให้ติดยา และจะเกิดอาการถอนยาเมื่อหยุดการเสพตามมา

MDMA สามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

MDMA หรือยาอี สามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียง(อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อตา: เช่น รูม่านตาขยาย
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ฟันผุกร่อน เบื่ออาหาร ขากรรไกรแข็ง คลื่นไส้ อาเจียน
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ความจำแย่ลง อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น เห็นภาพหลอน
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เหงื่อออกมาก
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล มีอาการหวาดระแวง ซึม กระสับกระส่าย เฉื่อยชา หมดความรู้สึกที่จะดำรงชีวิต ขาดความยับยั้งชั่งใจ นอนไม่หลับ

อนึ่ง สำหรับผู้ที่ใช้ MDMA เป็นเวลานาน สามารถสร้างรอยโรคหรือทำให้เกิดความเสียหายต่อสมองของผู้เสพ ลดการเจริญเติบโตของเซลล์ประสาท เพิ่มอุณหภูมิในสมองซึ่งเป็นอันตรายอย่างมากต่อสมอง/ร่างกาย โดยกลไกเหล่านี้ทำให้พื้นที่ของสมองส่วนที่เรียกว่า White matter เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ MDMA ยังส่งผลกระทบต่อแนวกั้นระหว่างเลือดกับสมอง หรือที่เรียกว่า Blood-brain barrier ทำให้สารประกอบต่างๆรวมถึงสารพิษจากเลือดซึมเข้าสู่สมองได้ง่ายยิ่งขึ้น และผู้ที่เสพ MDMA ยังจะมีภูมิคุ้มกัน/ภูมิต้านทาน/ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายต่ำลง ด้วยผลกระทบ/พิษ/ผลข้างเคียงรุนแรงที่กล่าวมาทั้งหมด ล้วนแล้วทำให้อายุขัยของผู้ที่เสพสารนี้สั้นลงอย่างรวดเร็ว

ผู้ที่ได้รับ MDMA เกินขนาดจะแสดงอาการอย่างไร?

ผู้ที่ได้รับสาร MDMA เกินขนาดภายในครั้งเดียว สามารถสร้างอันตรายและความเสียหายต่ออวัยวะภายในได้อย่างรุนแรง เช่น ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันตามหลอดเลือด ส่งผลให้อวัยวะต่างๆขาดเลือด ถ้าเกิดกับหลอดเลือดหัวใจ ผู้เสพจะเสียชีวิตได้จากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน มีเลือดออกในสมอง(โรคหลอดเลือดสมอง) ความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรงจนอาจเป็นเหตุให้หลอดเลือดแตกโดยเฉพาะหลอดเลือดในสมอง, ผู้เสพสารนี้บางรายอาจเกิดความดันโลหิตต่ำพร้อมกับมีภาวะตกเลือดในร่างกายตามมา, ผลกระทบ/ผลข้างเคียงรุนแรงอีกประการคือ ผลต่อระบบประสาทที่จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน เช่น สูญเสียความทรงจำ มีอาการชัก สมองบวม เกิดประสาทหลอน ขาดการควบคุมสติ, เกิดภาวะ Serotonin syndrome เช่น มีไข้สูง, นอกจากนี้ยังทำให้เกิดไตวาย ตับอักเสบ ระดับเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ กล้ามเนื้อหดตัวแข็งเกร็ง เกิดมีภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย เกิดอาการโคม่า และเสียชีวิตในที่สุด

ป้องกันการติดยา MDMAได้อย่างไร?

ป้องกันการติดยา/สาร MDMAได้โดย

  • ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมมือในการกระจายข่าว กระจายข้อมูลของ MDMA ในรูปแบบต่างๆ โดยกล่าวถึงข้อเสียและอันตรายที่จะเกิดขึ้นตามมา ผ่านสื่อต่างๆ เช่น ทางเว็บไซด์ โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร
  • การตรวจตราพื้นที่ในชุมชนไม่ให้เป็นแหล่งจำหน่ายยาชนิดนี้อย่างเอาจริง และไม่ปล่อยปละละเลยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
  • ความรัก ความเข้าใจ ของสมาชิกในครอบครัว ไม่ใช้ความรุนแรงในการ สั่งสอนบุตรหลาน เน้นขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมที่ดีงามของประเทศ สร้างความภาคภูมิใจในตนเองและสามารถวางสถานะในสังคมได้อย่างเหมาะสม
  • การให้ความรู้กับ นักเรียน นักศึกษา ในสถานศึกษา โดยครอบคลุมทุกระดับเพื่อ เป็นภูมิต้านทานให้กับกลุ่มผู้ที่จะเป็นอนาคตของชาติ
  • รณรงค์ในสถานที่ทำงานเพื่อช่วยต่อต้านการใช้สารเสพติดรวมถึงยากระตุ้นชนิดต่างๆ
  • สร้างความต่อเนื่องในข้อปฏิบัติที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่ทำเพียงฉาบฉวย หรือ รณรงค์เพียงตามกระแสสังคม เพราะกระบวนการป้องกันต้องอาศัยการปฏิบัติอย่าง ต่อเนื่องเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งได้อย่างคงทนถาวร

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/MDMA [2018,Jan6]
  2. https://www.nap.edu/read/10021/chapter/9 [2018,Jan6]