ยาหยอดหูโคลไตรมาโซล (Clotrimazole ear drop)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโคลไตรมาโซล (Clotrimazole) เป็นยาต้านเชื้อราที่สามารถนำมาใช้ได้กับมนุษย์และสัตว์ ทางคลินิกแพทย์นำมาใช้รักษาการติดเชื้อโรคกลากที่ผิวหนัง การติดเชื้อยีสต์ (Yeast, เชื้อราชนิดที่เป็นเซลล์เดียว) ในช่องคลอด/เชื้อราช่องคลอด เชื้อราที่ขึ้นในช่องปาก/เชื้อราช่องปาก รวมถึงฮ่องกงฟุต (Hong kong foot)

สำหรับยาโคลไตรมาโซลชนิดหยอดหู (Clotrimazole ear drop) เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของยาโคลไตรมาโซลที่ใช้บำบัดอาการหูอักเสบ/หูติดเชื้อเนื่องจากการติดเชื้อรา โดยเชื้อราในหูอาจมีสาเหตุจากการแคะ-เกาภายในรูหูซึ่งเมื่อรูหูเกิดบาดแผลก็สามารถติดเชื้อราได้

เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาหยอดหูโคลไตรมาโซล ผู้ป่วยไม่ควรซื้อหายานี้มาใช้เองแต่ต้องปรึกษาและแจ้งให้แพทย์ทราบถึงสถานะทางสุขภาพของผู้ป่วยเพื่อแพทย์ประเมินถึงความเหมาะสมของการใช้ยานี้เช่น

  • อยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือในภาวะให้นมบุตรหรือไม่
  • เคยแพ้ยาโคลไตรมาโซลมาก่อนหรือไม่
  • มีการใช้ยาชนิดอื่นหยอดหูอยู่ก่อนแล้วหรือไม่

สิ่งสำคัญผู้ป่วยจะต้องใช้ยาหยอดหูโคลไตรมาโซลตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดพร้อมกับเรียนรู้การใช้ยาหยอดหูนี้อย่างถูกต้อง ซึ่งโดยทั่วไปแพทย์จะให้หยอดหูข้างที่มีการติดเชื้อราครั้งละ 2 - 3 หยด 2 - 3 ครั้ง/วันและอาจต้องใช้ยานี้ต่อเนื่องถึง 14 วัน ช่วงเริ่มต้นของการใช้ยานี้ผู้ป่วยอาจรู้สึกแสบคันแต่จะค่อยๆรู้สึกดีขึ้นในวันถัดมา การติดเชื้อราในหูอาจมีอาการปวดหูร่วมด้วย แพทย์จึงมักจะจ่ายยาแก้ปวดอย่างเช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) หรือยาในกลุ่มเอ็นเซด (NSAIDs) ร่วมบรรเทาอาการปวดด้วย

ทั้งนี้หากอาการป่วยทางหูไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์หลังใช้ยาหยอดหูนี้ ผู้ป่วยควรต้องกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลอีกครั้งเพื่อให้แพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา

สูตรตำรับยาหยอดหูโคลไตรมาโซลถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย ผู้บริโภคจะพบเห็นการใช้ยานี้ได้ทั้งในสถานพยาบาลภาครัฐและเอกชน และหากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับยานี้ สามารถสอบถามข้อมูลของการใช้ยานี้ได้จากแพทย์ผู้ทำการรักษาหรือจากเภสัชกรตามร้านขายยาทั่วไป

ยาหยอดหูโคลไตรมาโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยาหยอดหูโคลไตรมาโซล

ยาหยอดหูโคลไตรมาโซลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อรักษาการติดเชื้อราในช่องหู

ยาหยอดหูโคลไตรมาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาหยอดหูโคลไตรมาโซลคือ ตัวยาจะเข้าจับกับผนังเซลล์ของเชื้อราในส่วนที่มีชื่อเรียกว่า ฟอสโฟไลปิด (Phospholipids) ทำให้ผนังเซลล์ของเชื้อราเกิดรอยรั่วส่งผลให้สารทางชีวเคมี (Biochemistry) ที่จำเป็นในการดำรงชีวิตของเชื้อราหลุดออกนอกเซลล์และทำให้เชื้อราตายลงในที่สุด

ยาหยอดหูโคลไตรมาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาหยอดหูโคลไตรมาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายในรูปสารละลายที่มีความเข้มข้นของตัวยาโคลไตรมาโซล 1%

ยาหยอดหูโคลไตรมาโซลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาหยอดหูโคลไตรมาโซลมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาเช่น

  • ผู้ใหญ่: หยอดหูข้างที่ติดเชื้อราครั้งละ 2 - 3 หยดวันละ 2 - 3 ครั้งเป็นเวลา 2 สัปดาห์หรือใช้ยาตามคำสั่งแพทย์
  • เด็ก: ขนาดการใช้ยานี้กับเด็กให้เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาหยอดหูโคลไตรมาโซล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาหยอดหูโคลไตรมาโซลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช่อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมหยอดยาควรทำอย่างไร?

หากลืมใช้ยาหยอดหูโคลไตรมาโซลสามารถหยอดยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดของการใช้ยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรหยอดยาหยอดหูโคลไตรมาโซลตรงเวลา

ยาหยอดหูโคลไตรมาโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาหยอดหูโคลไตมาโซลอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดัง นี้เช่น ระคายเคือง แสบ คัน ในบริเวณรูหูที่หยอดยา

หากเผลอรับประทานยาหยอดหูนี้เข้าไปอาจพบอาการปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด ซึมเศร้า และค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มมากขึ้นเช่น เช่นค่า SGOT (Serum glutamic oxaloacetic transaminase) และ SGPT (Serum glutamic pyruvic transaminase)

มีข้อควรระวังการใช้ยาหยอดหูโคลไตรมาโซลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาหยอดหูโคลไตรมาโซลเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามรับประทานหรือนำยานี้มาใช้หยอดตา
  • ห้ามล้างช่องหูที่ติดเชื้อราด้วยแชมพูหรือสบู่เหลวด้วยจะทำให้อาการป่วยแย่ลง ให้ใช้เพียงไม้พันสำลีที่สะอาดแล้วเช็ดในช่องหูเพียงแผ่วเบา
  • การใช้ยานี้ต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องทุกวันสม่ำเสมอตามคำสั่งแพทย์จึงจะมีประสิทธิภาพในการรักษา
  • หากมีอาการแพ้ยานี้เช่น หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวบวม ผื่นคันขึ้นเต็มตัว ต้องหยุดใช้ยานี้ทันทีและรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาหยอดหูโคลไตรมาโซลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาหยอดหูโคลไตรมาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาหยอดหูโคลไตรมาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น ยาโคลไตรมาโซลชนิดหยอดหู จะออกฤทธิ์ในการรักษาลดลงหากใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะชนิดโพลีอีน (Polyene antibiotics, กลุ่มยาที่ใช้เป็นยาต้านเชื้อราเช่น ยา Perimycin) จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน

ควรเก็บรักษายาหยอดหูโคลไตรมาโซลอย่างไร?

ควรเก็บยาหยอดหูโคลไตรมาโซลภายในอุณหภูมิห้องที่เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำ ในรถยนต์ หรือในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาหยอดหูโคลไตรมาโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาหยอดหูโคลไตรมาโซลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Canesten solution (คาเนสเทน โซลูชั่น)Bayer

บรรณานุกรม

  1. http://patient.info/medicine/clotrimazole-for-ear-infections-canesten [2016,May21]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Clotrimazole [2016,May21]
  3. http://www.medicines.org.uk/emc/PIL.13394.latest.pdf [2016,May21]
  4. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/171#item-8964 [2016,May21]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/clotrimazole/?type=brief&mtype=generic [2016,May21]