ยาสเตียรอยด์ฮอร์โมน (Steroid hormone)

บทความที่เกี่ยวข้อง


ยาสเตียรอยด์ฮอร์โมน

สเตียรอยด์ฮอร์โมนคืออะไร?

สเตียรอยด์ฮอร์โมน(Steroid hormone) คือ ฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ถูกสร้างจากต่อมหมวกไต ที่เรียกว่า Corticosteroid hormones มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายน เช่น เมแทบอลิซึม(Metabolism) การเผาผลาญพลังงาน การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน/ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ความดันโลหิต รวมถึงปริมาณเกลือแร่และน้ำในร่างกาย แต่ยาสเตียรอยด์/สเตียรอยด์ฮอร์โมนที่ถูกนำมาใช้ทางการแพทย์นั้น เป็นสารที่ถูกสังเคราะห์ขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์ในการรักษาโรคต่างๆ รวมถึงใช้เป็นฮอร์โมนทดแทน/ยาฮอร์โมนทดแทนบำบัด

ยากลุ่ม Steroid hormones เป็นยากลุ่มที่มีประสิทธิภาพที่ดี ใช้รักษาโรคต่างๆได้หลายชนิด แต่ถ้าใช้ยานี้ไม่ถูกต้อง เช่น ใช้เกินขนาด หรือใช้ติดต่อกันนานเกินไป อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาซึ่งส่งผลต่อระบบอวัยวะต่างๆในร่างกายได้หลายระบบ อาจทำให้เกิดอันตรายถึงเสียชีวิตได้ ดังนั้น จึงไม่ควรซื้อยากลุ่มนี้มาใช้เอง ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์และเภสัชกรเท่านั้น

สเตียรอยด์ฮอร์โมนแบ่งเป็นกี่ประเภท?

ยากลุ่ม Steroid hormones แบ่งกลุ่มยาตามกลไกการออกฤทธิ์ได้ดังนี้

1. ยากลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoids) เช่นยา ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone), คอร์ติโซน (Cortisone), เพรดนิโซน (Prednisone), เพรดนิโซโลน (Prednisolone), เมทิลเพรดนิโซโลน (Methylprednisolone), ไตรแอมซิโนโลน (Triamcinolone), เดกซาเมทาโซน (Dexamethasone), เบทาเมทาโซน (Betamethasone), เบโคลเมทาโซน (Beclomethasone), บูดีโซไนด์ (Budesonide)

2. ยามิเนอราโลคอร์ติคอยด์ (Mineralocorticoids) เช่นยา ฟลูโดรคอร์ติโซน (Fludrocortisone)

3. ฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgens / Anabolic-androgenic steroid) เช่นยา ดีไฮโดรอีพิแอนโดรสเทอโรน (Dehydroepiandrosterone, DHEA)

สเตียรอยด์ฮอร์โมนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาสเตียรอยด์ฮอร์โมนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย ดังนี้

  • ยาเม็ด (Tablet)
  • ยาแคปซูล (Capsule)
  • ยาครีม (Cream)
  • ยาขี้ผึ้ง (Ointment)
  • ยาโลชั่น (Lotion)
  • ยาน้ำใส (Solution)
  • ยาหยอดตา (Eye drop)
  • ยาพ่นจมูก (Nasal Spray)
  • ยาสเตียรอยด์ชนิดสูดเข้าทางปาก (Inhaled corticosteroids, ICS )
  • ยาน้ำแขวนตะกอนชนิดปราศจากเชื้อ (Sterile suspension)
  • ยาน้ำใสชนิดปราศจากเชื้อ (Sterile solution)
  • ยาผงชนิดปราศจากเชื้อ (Sterile powder)

อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของยาแผนปัจจุบันได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง รูปแบบยาเตรียม

มีข้อบ่งใช้ยาเสตียรอยด์อย่างไร?

มีข้อบ่งใช้ยาเสตียรอยด์ เช่น

ก. ยา Glucocorticoids ใช้รักษาโรคหรือภาวะดังต่อไปนี้ เช่น

  • ภาวะต่อมหมวกไตบกพร่อง (Adrenal insufficiency)ทั้งชนิดเฉียบพลัน (Acute adrenal insufficiency) และชนิดเรื้อรัง (Chronic adrenal insufficiency)
  • โรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบหรือระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์, โรคหืด, โรคลูปัส (Systemic lupus erythematosus, SLE) และใช้ป้องกันการปฏิเสธอวัยวะใหม่ในผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ
  • โรคมะเร็งบางชนิด ตัวอย่างเช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphomas) มะเร็งเม็ดเลือดขาวกลุ่มลิมโฟซิติค (Lymphocytic leukemia)
  • ใช้บรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดและ/หรือการฉายรังสีรักษา (Chemotherapy/Radiotherapy induced Nausea and/or Vomiting)
  • ใช้บรรเทาอาการอักเสบและคันของโรคผิวหนัง เช่น ผิวหนังอักเสบจากการระคายเคือง หรือผื่นแพ้สัมผัส (Allergic Contact Dermatitis), สะเก็ดเงิน (Psoriasis), ผื่นหรืออาการแพ้จาก แมลง สัตว์ กัดต่อย
  • ใช้รักษาโรคตา โดยออกฤทธิ์ต้านการอักเสบที่เกิดจากอาการแพ้

ข. ยา Mineralocorticoids ใช้เป็นฮอร์โมนทดแทนหลังจากการผ่าตัดต่อมหมวกไต และในภาวะที่ต่อมหมวกไตบกพร่อง (Adrenal insufficiency)

ค. ฮอร์โมน DHEA ปัจจุบันใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในผู้ที่พบภาวะ DHEA ต่ำ และผู้ป่วยภาวะต่อมหมวกไตบกพร่องที่มีระดับฮอร์โมน DHEA ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

มีข้อห้ามใช้ยาสเตียรอยด์ฮอร์โมนอย่างไร?

มีข้อห้ามใช้ยาสเตียรอยด์ฮอร์โมน เช่น

1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ หรือมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อยานั้นๆอย่างรุนแรง/ภาวะไวเกิน(Hypersensitivity)

2. ห้ามใช้ยากลุ่ม Steroid hormones ในผู้ป่วยโรคจิต ในผู้ที่มีแผลในระบบทางเดินอาหาร(เช่น แผลในกระเพาะอาหาร) ความดันโลหิตสูง เบาหวาน กระดูกพรุน โรคติดเชื้อ อีสุกอีใส โรคหัด โรคเริม วัณโรค กล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยกลุ่มอาการคุชชิง (Cushing's syndrome)

3. DHEA เป็นยากลุ่ม Steroid hormones ที่จัดเป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งในระบบสืบพันธุ์ การใช้ DHEA จึงอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งชนิดที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมน (Hormone-sensitive cancers) เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเต้านม และมะเร็งรังไข่ ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ในผู้ที่มีประวัติหรือมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งที่รวมถึงโรคมะเร็งดังกล่าว

มีข้อควรระวังการใช้ยาสเตียรอยด์ฮอร์โมนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาสเตียรอยด์ฮอร์โมน เช่น

1. ควรหลีกเลี่ยงการซื้อยาประเภท ยาชุด ยาลูกกลอน ยาแผนโบราณ หรือยาสมุนไพร เพราะอาจมีส่วนผสมของยากลุ่ม Steroid hormones หากรับประทานเป็นประจำอาจส่งผลให้เกิดอาการไม่ประสงค์จากยาชนิดรุนแรงได้

2. ยากลุ่ม Steroid hormones ชนิดรับประทาน เป็นยาที่ควรรับประทานพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที เพื่อป้องกันการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร

3. หากลืมรับประทานยา กลุ่ม Steroid hormones ให้รับประทานทันทีที่นึกได้ แต่หากนึกได้เมื่อต้องรับประทานมื้อถัดไป ให้ข้ามยามื้อนั้นไป และรับประทานมื้อถัดไปตามปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยา นอกจากนี้ผู้ป่วยควรใช้ยากลุ่มนี้อย่างเคร่งครัด ไม่ควรเพิ่มขนาดยา ลดขนาดยา หรือหยุดยาเองหากไม่มีคำสั่งจากแพทย์

4. ควรระวังการใช้ยากลุ่ม Steroid hormones รูปแบบ ยาทา ในโรคผิวหนังที่มีการติดเชื้อและยังไม่ได้รับการรักษาโรคติดเชื้อนั้น, โรคโรซาเซีย(Rosacea), สิว, อาการคันที่ไม่มีการอักเสบ อาการคันบริเวณรอบทวารหนักหรือที่อวัยวะสืบพันธุ์ การอักเสบของผิวหนังบริเวณรอบริมฝีปาก

5. ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่ม Steroid hormones รูปแบบยาทาติดต่อกันเป็นเวลานาน ระวังการใช้ยาทาในบริเวณกว้าง บริเวณผิวหนังที่แตก ทายานี้แล้วปิดคลุมบาดแผล เพราะอาจเพิ่มการดูดซึมของยาผ่านทางผิวหนัง ส่งผลให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาทั่วร่างกาย

6. การใช้ยากลุ่ม Steroid hormones ควรใช้ในขนาดต่ำที่สุด ระยะเวลาสั้นที่สุดเท่าที่จำเป็น หรือเลือกใช้ยารูปแบบที่ออกฤทธิ์เฉพาะที่ เนื่องจากการใช้ยานี้ในขนาดที่สูง และ/หรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน จะส่งผลให้ร่างกายชินต่อยา ไม่ตอบสนองต่อการรักษา และเกิดกดการทำงานของต่อมหมวกไต จนทำให้ไม่สามารถสร้างฮอร์โมนได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

7. ในผู้ป่วยที่ต้องการหยุดใช้ยากลุ่ม Steroid hormones หลังจากใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรค่อยๆลดขนาดหรือความแรงของยาลง เพื่อให้ต่อมหมวกไตปรับสมดุลและสามารถกลับมาสร้างสเตียรอยด์ฮอร์โมนได้ตามปกติ

การใช้ยาสเตียรอยด์ฮอร์โมนในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาสเตียรอยด์ฮอร์โมนในหญิงตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น

1. ยากลุ่ม Steroid hormones เป็นยาที่ควรใช้ในหญิงมีครรภ์ก็ต่อเมื่อประโยชน์ที่ได้รับคุ้มค่ากับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์ ควรเลือกใช้ยาที่มีความแรงต่ำ หรือมีความแรงปานกลาง และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ดังนั้นจึงควรต้องใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น

2. การใช้ยากลุ่ม Steroid hormones รูปแบบยาทาในหญิงให้นมบุตร ไม่ควรทายาบริเวณเต้านมและหัวนม และควรระวังไม่ให้ทารกสัมผัสบริเวณที่ทายา

การใช้ยาสเตียรอยด์ฮอร์โมนในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

ผู้สูงอายุ สามารถใช้ยากลุ่ม Steroid hormones ได้ในปริมาณและระยะเวลาที่เหมาะสมเช่นเดียวกันกับวัยอื่นๆ แต่ในผู้สูงอายุอาจมีความเสี่ยงในการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาบางชนิดมากขึ้น เพราะเป็นวัยที่มีความเสี่ยงอยู่แล้ว เช่น กระดูกพรุน หรือผิวหนังบาง เป็นต้น ดังนั้นจึงควรใช้ยาอย่างเคร่งครัด รวมทั้งเข้ารับการตรวจติดตามการรักษาจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

การใช้ยาสเตียรอยด์ฮอร์โมนในเด็กควรเป็นอย่างไร?

ยากลุ่ม Steroid hormones เป็นยาที่สามารถใช้ในเด็กได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยารับประทานขนาดสูง ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาที่แตกต่างจากวัยอื่น คือ กดการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก เช่นเดียวกันกับยาทา ควรเลือกใช้ยาที่มีความแรงต่ำหรือแรงปานกลางก่อน เพราะเด็กมีอัตราส่วนพื้นที่ผิวของร่างกายต่อน้ำหนักตัวที่สูงกว่าวัยผู้ใหญ่ มีผิวหนังที่บาง ส่งผลให้ยานี้ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย และควรระมัดระวังการใช้ยานี้ทาในบริเวณที่เด็กใส่ผ้าอ้อม เพราะจะยิ่งทำให้ยาถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้มาก อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาได้สูงขึ้นและเกิดได้ทั่วร่างกาย

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาสเตียรอยด์ฮอร์โมนเป็นอย่างไร?

อาการไม่พึงประสงค์จากยาจากการใช้ยาสเตียรอยด์ฮอร์โมน เช่น

1. ยากลุ่ม Steroid hormones ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ฯต่อร่างกายได้หลายระบบอวัยวะ เช่น แผลในกระเพาะอาหาร เลือดออกในทางเดินอาหาร กระดูกพรุน ต้อหิน ต้อกระจก น้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย หงุดหงิด กดการทำงานของต่อมหมวกไต บดบังอาการติดเชื้อจนอาจส่งผลให้อาการติดเชื้อที่มีอยู่แล้วรุนแรงยิ่งขึ้น และเกิดความผิดปกติทางผิวหนัง เช่น ผื่นแดง ผิวหนังบาง ผิวหนังเหี่ยว ผิวหนังแตกลาย ผื่นผิวหนังที่มีลักษณะคล้ายสิว ขนดก ผิวด่าง เส้นเลือดฝอยขยายตัวผิดปกติ

2. ยากลุ่ม Steroid hormone อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ฯอื่นๆ ที่เกิดจากฮอร์โมนนี้ออกฤทธิ์มากเกินไป เช่น ภาวะ Cushing’s Syndrome ทำให้มีใบหน้าบวมคล้ายดวงจันทร์ (Moon face) มีหนอก/ก้อนเนื้อบริเวณหลังและไหล่ (Buffalo hump) อ้วนบริเวณแกนกลางลำตัว แขนขาเรียวลีบ ผิวแตกลาย ผิวหนังบางจนมองเห็นเส้นเลือด/หลอดเลือด เกิดขนขึ้นมากตามใบหน้าและลำตัว เป็นสิว กล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึมเศร้า ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง หรือเกิดโรคเบาหวาน เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด/ ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาสเตียรอยด์ฮอร์โมน) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. Holst, P.H., and others. Steroid hormones: relevance and measurement in the clinical Laboratory. Clin Lab Med 24. (2004) : 105-118.
  2. Schaefer, C., Peters P., and Miller, R.K. Drugs During Pregnancy and Lactation. Third Edition. Oxford : Academic press., 2015.
  3. นิภาพรรณ มะลิซ้อน. ยาสเตียรอยด์ชนิดทาภายนอกสาหรับการรักษาโรคผิวหนัง. http://ccpe.pharmacycouncil.org/index.php?option=article_detail&subpage=article_detail&id=159 [2017,Dec9]
  4. วราวรรณ เอี่ยมพึ่งพร. สเตียรอยด์ กับการเกิดภาวะต่อมหมวกไตบกพร่อง. https://med.mahidol.ac.th/ramachannel/old/index.php/knowforhealth-20150406-2/ [2017,Dec9]
  5. ศิริพร ตันติพัฒนานนท์ และคนอื่นๆ. DHEAs: สารตั้งต้นของฮอร์โมนเพศ ในบริบทของการเป็นดัชนีชี้วัดความชรา. วารสารทวิทยาศาสตร์ มข. 3. (2558) : 353-365.