ยาสีฟัน สำคัญดังนี้ (ตอนที่ 3)

ยาสีฟัน

สารขัดถูก็เหมือนกับสารขัดฟันที่ใช้ในทันตกรรมซึ่งอาจทำลายเคลือบฟันได้ ยาสีฟันบางยี่ห้อจึงใช้ผงไมกา (Powdered white mica) ซึ่งเป็นสารขัดถูอย่างอ่อน และเติมสารแวววาวเพื่อให้เป็นประกาย ทั้งนี้ การขัดฟันเป็นการทำให้ฟันขาวขึ้น แต่ไม่ได้ช่วยในด้านการรักษาสุขภาพฟัน ลดคราบแบคทีเรีย (Plaque) และหินปูน (Calculus)

ส่วนสารฟลูออไรด์เป็นสารที่ใช้นิยมกันมากที่สุดในยาสีฟันเพื่อป้องกันฟันผุ มีทั้งโซเดียมฟลูออไรด์ (Sodium fluoride) สแตนนัสฟลูออไรด์ (Stannous fluoride) โอลาเฟอร์ (Olaflur) และโซเดียมโมโนฟลูโอโรฟอสเฟต (Sodium monofluorophosphate)

สำหรับสารให้ฟอง ส่วนใหญ่จะใช้สารโซเดียมลอริลซัลเฟต (Sodium lauryl sulfate = SLS) หรือสารลดความตึงผิว (Surfactants) อื่นๆ

นอกจากนี้ ในยาสีฟันอาจมีการเติม

  • สารยับยั้งแบคทีเรีย (Antibacterial agents) ที่เรียกว่า ไตรโคลซาน (Triclosan / zinc chloride)
  • สารให้รส (Flavorants) เช่น เปปเปอร์มินต์ (Peppermint) สเปียร์มินต์ (Spearmint) และน้ำมันระกำ (Wintergreen) ฯลฯ
  • สารอื่นๆ เช่น กลีเซอรอล (Glycerol) ซอร์บิทอล (Sorbitol) ไซลิทอล (Xylitol) ฯลฯ

ทั้งนี้ ฟลูออไรด์เป็นแร่ธาตุที่พบได้ตามธรรมชาติทั่วไปในอาหารและน้ำ ทุกวันเราจะได้รับฟลูออไรด์เพิ่มจากอาหารและน้ำ ในขณะเดียวกันจะมีการสูญเสียฟลูออไรด์เมื่อมีคราบแบคทีเรียและน้ำตาลในช่องปาก (Demineralization and remineralization) การสูญเสียฟลูออไรด์ที่มากกว่าการได้รับเป็นเหตุให้ฟันผุได้

นอกจากการได้รับฟลูออไรด์จากอาหารและน้ำตามปกติแล้ว เราสามารถรับฟลูออไรด์ได้โดยตรงที่ฟันจากการใช้ยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปาก โดยน้ำยาบ้วนปากที่ขายกันในท้องตลาดมีฟลูออไรด์อยู่ในปริมาณที่น้อยกว่า หากต้องการได้รับฟลูออไรด์ที่มากควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งทันตแพทย์อาจให้ฟลูออไรด์ในรูปของเจล โฟม หรือ ยาทา โดยทิ้งไว้ประมาณ 1-4 นาที นอกจากนี้ยังมีฟลูออไรด์ในรูปอาหารเสริมที่เป็นชนิดน้ำและชนิดเม็ดด้วย

ฟลูออไรด์เป็นสิ่งที่ปลอดภัยหากใช้ในปริมาณที่ไม่มาก (ความเป็นพิษจะขึ้นกับปริมาณที่ได้รับเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว) ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ปกครองจะต้องคอยดูแลบุตรหลานในการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ โดยเฉพาะในเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี

เพราะฟลูออไรด์ที่มากจะมีผลต่อเคลือบฟันทำให้ฟันเป็นสีน้ำตาล หรือที่เรียกว่า ฟันตกกระ (Fluorosis) ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการสร้างเนื้อฟันในเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี ซึ่งเด็กอาจได้รับฟลูออไรด์ที่มากเกินจากการดื่มน้ำหรือการกลืนยาสีฟัน

แหล่งข้อมูล

1. Toothpaste. http://en.wikipedia.org/wiki/Toothpaste [2014, July 17].
2. Dental Health and Fluoride Treatment. http://www.webmd.com/oral-health/guide/fluoride-treatment [2014, July 17].