ยาสีฟัน สำคัญดังนี้ (ตอนที่ 2)

ยาสีฟัน

นพ.พรเทพ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เหตุผลสำคัญที่ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์สำหรับเด็กบางยี่ห้อไม่ได้ระบุปริมาณ ฟลูออไรด์ลงในฉลากผลิตภัณฑ์ เนื่องจากประเทศไทยได้มีการปรับปรุง พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติเครื่องสำอางอาเซียน (ASEAN Cosmetic Directive : ACD) หลังจากที่ได้มีการลงนามข้อตกลงร่วมกันกับประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียนเมื่อ ปี พ.ศ.2546

จากข้อตกลงดังกล่าว เป็นผลให้การจัดทำฉลากเครื่องสำอางในกลุ่มประเทศอาเซียน ต้องเป็นไปในลักษณะที่เป็นกลางและเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อป้องกันการกีดกันทางการค้าเมื่อไทยเข้าสู่อาเซียน

ซึ่งหลังจากที่มีการปรับปรุง พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 คณะกรรมการเครื่องสำอางซึ่งตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.นี้ได้ออกประกาศ (พ.ศ.2554) ให้ระบุชื่อของสารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางโดยให้เรียงลำดับตามปริมาณของสารจากมากไปหาน้อย และคำเตือนเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่ออนามัยของบุคคล (ถ้ามี) แต่ไม่ได้ให้ระบุปริมาณของสารที่เป็นส่วนผสมเอาไว้ด้วย

นพ.พรเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการคุ้มครองสุขภาพและลดโอกาสเกิดอันตรายที่เป็นผลข้างเคียงจากการ ใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ในเด็ก และเพื่อประโยชน์สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองในการมีข้อมูลจากฉลากเป็นตัวช่วยในการเลือกซื้อยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ได้เหมาะสมและปลอดภัยกับบุตรหลาน กรมอนามัยได้เตรียมหารือร่วมกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อพิจารณาดำเนินการให้มีการระบุปริมาณฟลูออไรด์ในฉลากยาสีฟันสำหรับเด็กแล้ว

ยาสีฟัน (Toothpaste) เป็นครีมหรือเจลที่ใช้กับแปรงสีฟันเพื่อทำความสะอาดและรักษาสุขภาพฟัน ใช้เป็นตัวขัดฟันเพื่อช่วยในการลดคราบแบคทีเรียและเศษอาหารในช่องปาก ช่วยระงับการมีกลิ่นปาก (Halitosis) และช่วยนำสารต่างๆ เช่น สารฟลูออไรด์ เพื่อป้องกันโรคเหงือกและฟัน

ที่จริงแล้ว การทำความสะอาดช่องปากที่สำคัญอยู่ที่การแปรงฟันที่ถูกวิธี มากกว่าการเลือกใช้ยาสีฟัน เพราะเราสามารถใช้เกลือและไบคาร์บอเนต (Bicarbonate / baking soda) ทดแทนการใช้ยาสีฟันตามท้องตลาดได้ ทั้งนี้ ไม่ควรกลืนยาสีฟันเนื่องจากมีสารฟลูออไรด์ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายหากได้รับในปริมาณที่มาก

ส่วนประกอบของยาสีฟันที่สำคัญหลักๆ ได้แก่ สารขัดถู (Brasives) สารฟลูออไรด์ (Fluoride) สารให้ฟอง (Detergents) และน้ำอีกร้อยละ 20-42

โดยส่วนประกอบของสารขัดถูมีอยู่มากกว่าร้อยละ 50 มีหน้าที่ช่วยในการขจัดคราบแบคทีเรีย (Plaque) ออกจากฟัน ช่วยลดอาการฟันผุ (Cavities) และ โรคเยื่อปริทันต์ (Periodontal disease)

สารขัดถูที่ใช้ ได้แก่ อะลูมินัมไฮดรอกไซด์ (Aluminum hydroxide) แคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium carbonate) แคลเซียมไฮโดรเจนฟอสเฟต (Calcium hydrogen phosphates) ซิลิกา (Silicas) ซีโอไลต์ (Zeolites) และไฮดรอกซีอะพาไทต์ (Hydroxyapatite)

แหล่งข้อมูล

1. 'ยาสีฟันเด็ก' ไร้ฉลากบอก 'ฟลูออไรด์' เสี่ยงอันตราย! http://thairath.co.th/content/435409 [2014, July 16].
2. เด็กไทย 3-5 ขวบฟันผุเกินครึ่ง แนะอันตรายกลืนยาสีฟันขณะแปรง http://thairath.co.th/content/433069 [2014, July 16].
3. Toothpaste. http://en.wikipedia.org/wiki/Toothpaste [2014, July 16].