ยาสีฟัน สำคัญดังนี้ (ตอนที่ 1)

ยาสีฟัน

สืบเนื่องจากแปรงสีฟันเมื่อตอนที่แล้ว นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย ระบุว่า จากการสำรวจทันตสุขภาพระดับประเทศ พ.ศ.2555 พบว่า เด็กไทยอายุ 3 ปี มีฟันผุร้อยละ 51.7 และเด็กอายุ 5 ปี มีฟันผุร้อยละ 78.5 กรมอนามัยจึงมีมาตรการส่งเสริมให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง แปรงฟันให้เด็กด้วยยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ ตั้งแต่ฟันน้ำนมเริ่มขึ้นหรือในขวบปีแรก

นพ.พรเทพ เปิดเผยว่า ปัจจุบันได้เกิดการตื่นตัวในเรื่องการใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์กันในวงกว้าง เพื่อเป็นตัวช่วยเสริมให้ฟันแข็งแรงป้องกันฟันผุ เพราะการแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์เป็นการทำให้ฟลูออไรด์สัมผัสกับผิวฟันโดยตรง และเป็นวิธีที่ประชาชนสามารถดูแลตนเองได้โดยไม่ยุ่งยาก

ซึ่งจากการศึกษาพบว่า การแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ที่ความเข้มข้น 1000 พีพีเอ็ม จะสามารถป้องกันฟันผุได้มากถึงร้อยละ 30 โดยที่ผ่านมากรมอนามัยโดยสำนักทันตสาธารณสุขได้ส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยมีการใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันฟันผุโดยเฉพาะเด็กที่มีฟันผุหรือเกิดฟันผุได้ง่าย

สำหรับประเทศไทย ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ถูกจัดให้เป็นเครื่องสำอางที่ต้องอยู่ใน การควบคุมตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง (พ.ศ. 2535) ซึ่งได้กำหนดปริมาณฟลูออไรด์ที่ผสมไว้ได้ไม่เกินร้อยละ 0.11 หรือ 1,100 พีพีเอ็ม เพื่อป้องกันอันตรายจากการได้รับฟลูออไรด์เกิน โดยเฉพาะในเด็กที่อาจได้รับอันตรายจากการกลืนกินยาสีฟันในขณะการแปรงฟัน

นพ.พรเทพ กล่าวว่า มีการพบว่าในการแปรงฟันแต่ละครั้ง เด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี จะกลืนยาสีฟันถึงหนึ่งในสามของยาสีฟันที่อยู่บนแปรงสีฟัน โดยเด็กจะกลืนลงไปโดยไม่ตั้งใจ ทำให้ได้รับฟลูออไรด์มากเกินไป ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหา "ฟันตกกระ" ในฟันแท้ของเด็กคนนั้นๆ ได้

[ฟันตกกระเป็นภาวะผิดปกติ ฟันแท้มีสีขาวขุ่น ในเด็กที่เป็นรุนแรงผิวฟันเป็นหลุมอาจมีสีดำหรือน้ำตาล]

อีกประการหนึ่งคือ ยาสีฟันสำหรับเด็กมักแต่งกลิ่นเติมรสเพื่อให้เด็กชอบและอยากแปรงฟัน เช่น รสผลไม้ ส้ม สตรอเบอร์รี่ รสโคล่า รสบับเบิ้ลกัม เป็นต้น ทำให้เด็กบางคนกินยาสีฟันด้วย โดยเฉพาะเด็กวัยอนุบาล ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ฟันผุ

นพ.พรเทพ กล่าวต่อว่า การระบุปริมาณฟลูออไรด์บนฉลากยาสีฟันสำหรับเด็ก จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยให้ผู้ปกครองสามารถเลือกใช้ยาสีฟันสำหรับเด็กได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสม

อย่างไรก็ดี จากการเฝ้าระวังตรวจวัดปริมาณฟลูออไรด์ในยาสีฟันสำหรับเด็กที่วางจำหน่าย ในห้างสรรพสินค้าเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเมื่อปลายปี 2556 ที่ผ่านมาจากทั้งหมด 10 ยี่ห้อ 37 รุ่น ผลการตรวจวัดพบว่า ยาสีฟันสำหรับเด็ก 34 รุ่น หรือร้อยละ 92 มีฟลูออไรด์เป็นส่วนผสม ในจำนวนนี้มีเพียง 13 รุ่นที่ระบุปริมาณฟลูออไรด์ไว้ที่ฉลากยาสีฟัน ส่วนอีก 21 รุ่น ไม่ได้ระบุปริมาณฟลูออไรด์ให้ผู้บริโภคทราบ

แหล่งข้อมูล

1. 'ยาสีฟันเด็ก' ไร้ฉลากบอก 'ฟลูออไรด์' เสี่ยงอันตราย! http://thairath.co.th/content/435409 [2014, July 15].
2. เด็กไทย 3-5 ขวบฟันผุเกินครึ่ง แนะอันตรายกลืนยาสีฟันขณะแปรง http://thairath.co.th/content/433069 [2014, July 15].