ยาลดความอ้วน (ตอนที่ 1)

ภญ. ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งได้ส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันรำข้าวและจมูกข้าวชนิดแคปซูล ออริซานอล น้ำหนักสุทธิ 44 กรัม (60 แคปซูล) ผสมยาลดความอ้วนเฟนฟลูรามีน (Fenfluramine)

ภญ. ศรีนวลกล่าวว่า Fenfluramine จัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ตามมาตรา 26 (1) กล่าวคือ เป็นอาหารที่มีสิ่งน่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือปน ขณะนี้ทาง อย. อยู่ในระหว่างดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด พร้อมเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อคำโฆษณาของผู้จำหน่าย

โดยเฉพาะการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่อ้างว่ารับประทานแล้วทำน้ำหนักลด เพราะอาหารไม่ใช่ยาจะลดความอ้วนไม่ได้ และมักพบการลักลอบใส่ยาลดความอ้วนซึ่งมีผลข้างเคียงสูง หากไม่ได้รับการดูแลจากแพทย์ อาจทำให้เกิดอันตราย

โดยเฉพาะในกรณีนี้ อย. พบยาลดความอ้วนเฟนฟลูรามีน (Fenfluramine) ซึ่งเป็นยาที่ถูกเพิกถอนทะเบียนตำรับยาตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 เนื่องจากไม่ปลอดภัยแก่ผู้ใช้ยา โดยปรากฏข้อมูลการศึกษาวิจัยพบว่า ยาเฟนฟลูรามีน (Fenfluramine) มีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะความผิดปกติของลิ้นหัวใจ (Valvular heart Disease) อาจเกิดความเสี่ยงทำให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

Fenfluramine เป็นยาเดี่ยว ที่ได้รับการวางตลาดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2513 แต่ไม่เป็นที่นิยมเพราะ ยานี้ลดนำหนักได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น การศึกษาในปี พ.ศ. 2527 พบว่ายาลดน้ำหนักได้ 7.5 กก.โดยเฉลี่ยในเวลา 24 สัปดาห์ เปรียบเทียบกับในกลุ่มยาหลอก (Placebo) ที่ลดได้ 4.4 กก.

ยาได้รับการจำหน่ายมาตลอด จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2533 ยานี้ได้ถูกรวมเข้ากับยา Phentermine และได้มีทำการตลาดอย่างหนัก ยาที่คล้ายกันเช่น Aminorex ได้เป็นสาเหตุให้ปอดถูกทำลายอย่างรุนแรง และเป็นเหตุผลที่น่ากังวลใจว่ายาคล้ายกันนี้ สามารถเพิ่มความเสี่ยงที่ไม่ค่อยพบบ่อยแต่ทำให้เกิดโรคปอดร้ายแรงเสมอเช่น ความดันโลหิตสูงที่ปอด

ในปี พ.ศ. 2537 เจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งของบริษัท Wyeth ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับคำเตือนบนฉลากของยา Fenfluramine ที่อ้างว่ามีผู้ป่วยเพียง 4 รายที่เป็นความดันโลหิตสูงที่ปอด จากทั้งหมด 41 รายที่ได้มีการเฝ้าติดตามอาการ แต่ไม่มีการดำเนินงานอย่างใดจนกระทั่งปี พ.ศ. 2539

ในปี 2538 บริษัท Wyeth ได้วางตลาดยา Dexfenfluramine (ใช้ชื่อว่า Redux) ซึ่งบริษัทหวังว่าจะทำให้เกิดผลข้างเคียงน้อยกว่า อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ในคณะกรรมการอาหารและยา (Food and Drug Administration : FDA) ของสหรัฐอเมริกา แสดงความกังวลเกี่ยวกับคำเตือนบนฉลากยาเรื่องความเสี่ยงความดันโลหิตสูงที่ปอด จึงไม่ยอมลงนามอนุมัติ

อย่างไรก็ตาม ในที่สุดยานี้ก็ได้รับการอนุมัติให้จำหน่ายได้ โดยไม่มีคำเตือนบนฉลากยา [จึงเป็นที่สงสัยในความโปร่งใสของกระบวนการขออนุมัติดังกล่าว] สำหรับการทำการตลาดในปี พ.ศ. 2539 เจ้าหน้าที่ของยุโรปเรียกร้องให้มีคำเตือนกรณีมีความเสี่ยงที่จะเกิดความดันโลหิตสูงที่ปอด

แหล่งข้อมูล:

  1. อย.พบแคปซูลน้ำมันรำข้าว-จมูกข้าวผสมยาลดอ้วน มีผลต่อลิ้นหัวใจ - http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1373874764&grpid=&catid=09&subcatid=0902 [2013, August 3].
  2. Fenfluarmine/phentermine - http://en.wikipedia.org/wiki/Fenfluramine/phentermine [2013, August 3].