ยาลดความอ้วน ล้วนมีภัยแฝง (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

ความเดิมตอนที่แล้ว บทความข่าวพูดถึงอันตรายจากการใช้ยาลดความอ้วนที่ไม่มีใบสั่งแพทย์ (Prescription) จึงเป็นที่น่าขบคิดต่อว่า แล้วยาตามแพทย์สั่งนั้น มีความจำเป็นแค่ไหน และหากจำเป็น ควรมีวิธีใช้ยาอย่างไร จึงจะถูกต้องและปลอดภัยต่อสุขภาพผู้บริโภค

ก่อนคิดจะพึ่งยาเพื่อช่วยลดความอ้วน เราควรประเมินความจำเป็นที่จะต้องพึ่งยา โดยการคำนวณค่าดัชนีมวลรวมร่างกาย หรือ BMI (= Body Mass Index) ซึ่งทำได้ด้วยการนำน้ำหนัก (เป็นกิโลกรัม) หารด้วย ความสูง (เป็นตารางเมตร)

เมื่อได้ค่า BMI เป็น 27 หรือมากกว่านั้น จัดว่าคุณเป็นโรคอ้วน หากคุณเป็นคนที่เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน (Obesity) เช่น เบาหวาน (Diabetes) และความดันโลหิตสูง (Blood pressure) หรือเมื่อได้ค่า BMI เป็น 30 หรือมากกว่านั้น จัดว่าคุณเป็นโรคอ้วน หากคุณเป็นคนที่ไม่ได้เป็นโรคดังกล่าว และมีความจำเป็นต้องพึ่งยาลดความอ้วนตามใบสั่งแพทย์

สำหรับคนที่มีความจำเป็นดังกล่าว ควรรู้จักชนิดของยาลดความอ้วนตามใบสั่งแพทย์ ซึ่งมีอยู่ 2 ประเภทหลัก กล่าวคือ ประเภทระงับความอยากอาหาร (Appetite suppressant) ซึ่งมักมาในรูปแบบเม็ดหรือแคปซูล ตัวอย่างที่รู้จักกันทั่วไป ก็คือ Phentermine และประเภทยับยั้งการดูดซึมของไขมัน (Fat absorption inhibitor) ตัวอย่างเดียว ซึ่งเป็นที่ยอมรับขององค์การอาหารและยา (Food and Drug Administration : FDA) ในสหรัฐอเมริกา ว่ามีประสิทธิผลช่วยลดน้ำหนักในระยะยาว (แม้จะไม่รับประกันความปลอดภัยและประสิทธิผล หากใช้นานเกิน 2 ปี) ก็คือ Xenical

จะเห็นได้ว่า กระทั่งยาที่เป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการอย่าง Xenical ก็ยังมีข้อจำกัด และเงื่อนไขที่ควบคู่ไปกับการใช้ยา โดยในเบื้องต้น ยาเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงทางสุขภาพต่างๆ ในผู้ที่เป็นโรคอ้วน แต่ก็เป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น จึงต้องมีการปรึกษาและวางแผนการใช้ยากับแพทย์ การรับประทานอาหารอย่างถูกวิธี และที่สำคัญออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย

ดังนั้น ก่อนตัดสินใจพึ่งยา จึงควรปรึกษาหารือกับแพทย์ เกี่ยวกับ 3 ประเด็นต่อไปนี้ คือ (1) การติดยา (Addiction) เนื่องจากยาทุกตัว ล้วนต้องอยู่ภายใต้การควบคุม เพราะเมื่อบริโภคในมาก สามารถเป็นสารเสพติดได้ จึงเป็นหน้าที่ของแพทย์ที่จะสั่งยาตาม ข้อบังคับอย่างเคร่งครัด (2) การดื้อยา (Developed tolerance) หลังใช้ยา 6 เดือน น้ำหนักของผู้ใช้ มักเริ่มกลับสู่ระดับเดิม ซึ่งก่อให้เกิดความกังวลว่า อาจมาจากภาวะดื้อยา (แม้ยังไม่มีข้อพิสูจน์ชัดเจนว่า อาจมาจากขีดจำกัดทางประสิทธิผลของยาหรือไม่) และ (3) ผลข้างเคียง (Side effects) แม้จะช่วยยับยั้งความอยากอาหารได้จริงในระยะสั้น แต่ยาเหล่านี้ ก็มาพร้อมผลข้างเคียง อย่างเช่น การเต้นของหัวใจ และความดันเลือดที่เพิ่มขึ้น อาการต่างๆ เช่น ท้องผูก (Constipation) นอนไม่หลับ (Insomnia) กระหายน้ำรุนแรง ปวดและวิงเวียนศีรษะ เหงื่อออกมาก คัดจมูก และปากแห้ง

นอกจาก 3 ประเด็นดังกล่าวแล้ว แพทย์ยังจะถามคุณเกี่ยวกับสิ่งที่คุณแพ้ และยาตัวอื่นๆ ที่คุณกำลังใช้อยู่ นอกจากนี้ ยังมีโรคและภาวะต่างๆ ที่จะมีผลกระทบต่อการใช้ยา ซึ่งควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนสั่งยา อย่างเช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ลมบ้าหมู/ลมชัก (Epilepsy) โรคไต (Kidney disease) ต้อหิน (Glaucoma) ไมเกรน (Migraine) ภาวะไทรอยด์ทำงานเกิน/ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperhyroidism) ภาวะซึมเศร้า (Depression) วิตกกังวล (Anxiety) ประวัติเคยดื่มแอลกอฮอล์ การวางแผนที่จะผ่าตัดและต้องถูกวางยาสลบ (Anesthesia) การตั้งครรภ์ และการให้นมลูกจากนมแม่ (Breastfeeding)

สุดท้ายนี้ขอย้ำว่า ยาเหล่านี้ไม่เหมาะสำหรับการใช้ระยะยาว ผู้ใช้จึงควรปรับนิสัยการกิน และออกกำลังกายให้ถูกต้อง ในช่วงที่ยายังมีประสิทธิผลอยู่ จึงจะเป็นวิธีการใช้ยาลดความอ้วนตามใบสั่งแพทย์ที่ถูกต้อง

แหล่งข้อมูล:

  1. Prescription Weight Loss Drugs. http://www.webmd.com/diet/guide/weight-loss-prescription-weight-loss-medicine [2012, October 7].
  2. Weight Loss and Body Mass Index (BMI). http://men.webmd.com/weight-loss-bmi [2012, October 7].