ยารักษาต้อหิน (Anitiglaucoma Medications)

บทความที่เกี่ยวข้อง


ยารักษาต้อหิน

ยารักษาต้อหินหมายความว่าอย่างไร?

ยารักษาต้อหิน หรือยายับยั้งต้อหิน หรือยาต้านต้อหิน(Antiglaucoma medication หรือ Antiglaucoma drug หรือ Antiglaucoma agent) หรือ ยาต้อหิน(Glaucoma medication หรือ Glaucoma drug) หมายถึง ยาที่ใช้รักษาโรคต้อหิน โดยออกฤทธิ์ลดความดันภายในลูกตา(ยาลดความดันตา/Intraocular lowering pressure drug) ลดการสูญเสียลานสายตา ป้องกันเส้นประสาทตาถูกทำลาย และป้องกันการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร

ยารักษาต้อหินแบ่งเป็นกี่ประเภท?

ยารักษาต้อหิน แบ่งประเภทตามกลุ่มยาได้ดังต่อไปนี้

1. ยาออกฤทธิ์ปิดกั้นการทำงานของตัวรับเบต้า (Beta-adrenergic blocking agents หรือ Beta blockers) เช่นยา ทิโมลอล (Timolol), คาร์ทีโอลอล (Carteolol), เบทาโซลอล (Betaxolol)

2. ยากลุ่มที่เป็นอนุพันธ์ของพรอสตาแกลนดิน (Prostacyclin analogs) เช่นยา ไบมาโตพรอส (Bimatoprost), ลาทาโนพรอส (Latanoprost), ทาฟลูพรอส (Tafluprost), ทราโวพรอส (Travoprost)

3. ยากระตุ้นการทำงานของตัวรับอัลฟ่า (Alpha-adrenergic agonists) เช่นยา บรีโมนิดีน (Brimonidine), อะพราโคลนิดีน (Apraclonidine)

4. ยากระตุ้นการทำงานของตัวรับโคลิเนอร์จิก (Cholinergic agonists) เช่นยา ไพโลคาร์ปีน (Pilocarpine)

5. ยายับยั้งเอนไซม์คาร์บอนิกแอนไฮเดรส (Carbonic anhydrase inhibitors) เช่นยา ดอร์โซลาไมด์ (Dorzolamide), บรินโซลาไมด์ (Brinzolamide), อะเซตะโซลาไมด์ (Acetazolamide), เมธาโซลาไมด์ (Methazolamide)

6. ยาสูตรผสม (Combined medications) เช่น ยาแต่ละตัวต่อไปนี้ คือ Bimatoprost, Latanoprost, Travoprost, Brimonidine, Dorzolamide, Brinzolamide ผสมรวมกับยา Timolol

7. ยาที่มีแรงดึงน้ำสูง (Systemic hyperosmotic agents) เช่นยา กลีเซอรีน (Glycerin)หรือกลีเซอรอล (Glycerol), แมนนิทอล (Mannitol)

ยารักษาต้อหินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยารักษาต้อหินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ด (Tablet)
  • ยาแคปซูล (Capsule)
  • ยาน้ำใส (Solution)
  • ยาน้ำแขวนตะกอน (Suspension)
  • ยาเจล (Gel)

อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของยาต่างๆได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”

มีข้อบ่งใช้ยารักษาต้อหินอย่างไร?

มีข้อบ่งใช้ยารักษาต้อหิน เช่น

1.ใช้ลดความดันลูกตาที่เพิ่มขึ้นในผู้ป่วยที่มีความดันลูกตาสูง (Ocular hypertension) หรือผู้ป่วยต้อหินมุมเปิด (Open-angle glaucoma)

2.ใช้รักษาภาวะต้อหินมุมปิดเฉียบพลัน (Acute angle closure glaucoma)

มีข้อห้ามใช้ยารักษาต้อหินอย่างไร?

มีข้อห้ามใช้ยารักษาต้อหิน เช่น

1.ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ หรือมีปฏิกิริยาตอบสนองที่รุนแรง(Hypersensitivity)ต่อยานั้นๆ

2.ห้ามใช้ยากลุ่ม Beta Blockers ในผู้ป่วยโรคหืด หรือผู้ที่มีประวัติเกี่ยวกับโรคหืด โรค ปอดอุดกั้นเรื้อรังชนิดรุนแรง โรคหัวใจชนิดรุนแรง

3.ห้ามใช้ยากลุ่ม Prostacyclin analogs ในผู้ป่วยที่มีการอักเสบภายในตาร่วมด้วย เช่น ม่านตาอักเสบ เนื่องจากการอักเสบอาจกำเริบได้ และห้ามใช้ยากลุ่มนี้ในผู้ที่มีการติดเชื้อเฉียบพลันที่ตา

4.ห้ามใช้ยากลุ่ม Carbonic anhydrase inhibitors ในผู้ที่แพ้ยากลุ่ม Sulfonamides เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้ยาชนิดรุนแรง และห้ามใช้ยากลุ่มนี้ในรูปแบบยารับประทานในผู้ป่วยโรคไตขั้นรุนแรง

5.ห้ามใช้ยากลุ่ม Alpha-adrenergic agonists ในผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างการรักษาด้วยยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์โมโนเอมีนออกซิเดส (Monoamine oxidase inhibitors, MAOIs)

6.ห้ามใช้ยา Pilocarpine ในผู้ป่วยที่มีภาวะม่านตาอักเสบ

มีข้อควรระวังการใช้ยารักษาต้อหินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยารักษาต้อหิน เช่น

1.การใช้ยารักษาต้อหิน ผู้ป่วยควรใช้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ไม่หยุดยา หรือลดขนาดยาเอง เพราะอาจทำให้การรักษาไม่ได้ผล รวมถึงไม่เพิ่มขนาดยาหรือหยอดยาถี่เกินไป เพราะยาอาจถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจนเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาได้

2.การใช้ยาหยอดตาทุกชนิด ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้ปลายหลอดหยดยาสัมผัสกับตา เนื้อเยื่อรอบๆตา นิ้วมือ หรือพื้นที่ผิวใดๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่ตา

3.ในขณะที่ผู้ป่วยใช้ยาหยอดตา อาจทำให้การมองเห็นภาพไม่ชัด ดังนั้นก่อนการขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักร ผู้ป่วยควรรอจนกระทั่งการมองเห็นภาพชัดเป็นปกติตามเดิม

4.หลังจากหยอดตาเสร็จแล้ว ผู้ป่วยสามารถใช้นิ้วมือกดที่หัวตา เพื่อให้ยาคงอยู่บริเวณ ในตา ทำให้ยาถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้น้อยลง และลดโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา

5.ในยาหยอดตารักษาต้อหินหลายชนิดจะมี เบนซัลโคเนียม คลอไรด์ (Benzalconium chloride) เป็นสารกันบูด/สารกันเสีย/วัตถุเจือปนในอาหาร ที่ถูกผสมอยู่ในกระสายยา สารกันบูดชนิดนี้ จะถูกดูดซึมเข้าไปในคอนแทคเลนส์ได้ ทำให้เกิดพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)ต่อเยื่อบุตา และเปลี่ยนสีของเลนส์สัมผัสชนิดนิ่ม ดังนั้นหากผู้ป่วยต้องการใส่คอนแทคเลนส์ ควรหยอดยาแล้วรออย่างน้อย 15 นาทีก่อนใส่เลนส์

6.หากผู้ป่วยต้องใช้ยาหยอดตามากกว่า 1 ชนิด ควรเว้นระยะการหยอดยาแต่ละชนิดอย่างน้อย 5 นาที เพื่อให้ยาตัวแรกถูกดูดซึมเข้าสู่ลูกตา และเพื่อป้องกันยาล้นออกนอกตา

7.ระวังการใช้ยากลุ่ม Beta Blockers ชนิดรับประทานร่วมกับยากลุ่ม Beta blockers ที่อยู่ในรูปแบบยาหยอดตา เพราะอาจทำให้ยาเสริมฤทธิ์กัน ซึ่งอาจส่งผลต่อความดันลูกตาและทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยากลุ่มนี้ทั่วร่างกายได้

8. ควรระวังการใช้ยากลุ่ม Alpha-2 adrenergic agonists(Alpha agonist) ในผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้า ผู้ที่มีเลือดไปเลี้ยงสมองและหัวใจไม่เพียงพอ ผู้ที่มีความผิดปกติของระบบไหลเวียนโลหิตส่วนปลายขั้นรุนแรง (Raynaud’s phenomenon) โรคความดันโลหิตต่ำ โรคหลอดเลือดอักเสบ และผู้ที่ได้รับยาลดความดันในลูกตาชนิดอื่นๆ

9. ยากลุ่ม Alpha-2 adrenergic agonists อาจทำให้มีอาการเหนื่อยล้า ง่วงซึม ในผู้ป่วยบางราย ดังนั้นจึงไม่ควรขับขี่ยานยนต์ ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล หรือทำงานที่เสี่ยงต่อการพลัดตกจากที่สูง

10. เมื่อผิวหนังสัมผัสสารละลายของยากลุ่ม Prostacyclin analogs ซ้ำหลายๆ ครั้ง จะมีโอกาสเกิดการเจริญของเส้นผมหรือขน ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสยาบริเวณแก้ม หรือผิวหนังบริเวณอื่นๆ

11. ควรระวังการใช้ยากลุ่ม Systemic hyperosmotic agents ในผู้ป่วยโรคไต โรคเบาหวาน ภาวะหัวใจล้มเหลว เพราะอาจทำให้อาการของโรคเหล่านั้นแย่ลง และควรตรวจติดตามสภาวะของน้ำและสมดุลอิเล็กโทรไลต์(Electrolyte)ในร่างกายตามแพทย์แนะนำใน ขณะที่ใช้ยากลุ่มนี้

การใช้ยารักษาต้อหินในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยารักษาต้อหินในหญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น

1.ยาหยอดตารักษาต้อหินที่สามารถใช้ได้ในหญิงมีครรภ์/ตั้งครรภ์ เช่นยา Timolol เนื่องจากเป็นยาที่ใช้มานาน แล้วยังไม่มีรายงานการเกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์

2.ควรระวังการใช้ยากลุ่ม Carbonic anhydrase inhibitors ชนิดรับประทานในหญิงมีครรภ์ เพราะหากใช้ยานี้ในหญิงมีครรภ์ไตรมาสแรก (อายุครรภ์ 1-3 เดือน) อาจทำให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ ดังนั้นควรใช้ยานี้ก็ต่อเมื่อแพทย์พิจารณาแล้วว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเท่านั้น

การใช้ยารักษาต้อหินในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยารักษาต้อหินในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น

1.ผู้สูงอายุควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคต้อหิน

2.ผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีโรคประจำตัว และมียาที่ต้องใช้เป็นประจำหลายชนิด ดังนั้นควรแจ้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกรว่า กำลังใช้ยาใดอยู่บ้าง รวมทั้งยาหยอดตาด้วย เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา

3.เนื่องจากโรคต้อหินเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องใช้ยาไปตลอดชีวิต ผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัดสม่ำเสมอ ให้ความร่วมมือในการใช้ยารับประทาน หรือยาหยอดตาตามที่แพทย์สั่ง ห้ามใช้ยาหยอดตาที่หมดอายุแล้ว เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง ส่งผลให้การรักษาไม่ได้ผล

การใช้ยารักษาต้อหินในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยารักษาต้อหินในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น

1.ยาหยอดตารักษาต้อหินที่เลือกใช้เป็นตัวเลือกแรกในเด็ก ได้แก่ ยากลุ่ม Beta Blockers และยากลุ่ม Carbonic anhydrase inhibitors เพราะเป็นยาที่ปลอดภัยและให้ผลการรักษาที่ดีในกลุ่มผู้ป่วยเด็ก

2.ไม่ควรใช้ ยากลุ่ม Carbonic anhydrase inhibitors ชนิดรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาที่มีอาการเกิดทั่วร่างกาย

3.ห้ามใช้ยา Brimonidine ในเด็กทารก นอกจากนี้ ควรระวังและติดตามการใช้ยา Brimonidine ในเด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีน้ำหนักต่ำกว่า 20 กิโลกรัม เนื่องจากยาออกฤทธิ์กดระบบประสาท ทำให้มีอุบัติการณ์และความรุนแรงสูงของการเกิดอาการง่วงซึม นอกจากนี้โอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยานี้จะเพิ่มมากยิ่งขึ้นหากใช้ร่วมกับยากลุ่ม Beta Blockers

มีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยารักษาต้อหินอย่างไร?

มีอาการไม่พึงประสงค์จากยาในการใช้ยารักษาต้อหิน เช่น

1.ยากลุ่ม Beta blockers ทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นช้าผิดปกติ (Bradycardia) หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตต่ำ หัวใจล้มเหลว หลอดลมหดเกร็ง/หอบหืด ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เหนื่อยล้า ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ฝันร้าย เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

2.ยากลุ่ม Prostacyclin analogs ทำให้เกิดอาการตาแดง เนื่องจากการคั่งของเลือดที่เยื่อบุตา มองภาพไม่ชัด ขนตายาวและหนามากผิดปกติ ม่านตาและผิวหนังรอบๆตามีสีเข้มขึ้น คันตา ภาวะขนดก มีการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบนได้ง่าย ปวดศีรษะ การทำงานของตับผิดปกติ/ตับอักเสบ อ่อนเพลีย

3.ยากลุ่ม Alpha agonists ทำให้เกิดอาการเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ คันตา รู้สึกแสบร้อนบริเวณตา รบกวนการมองเห็น น้ำตาไหล มีขี้ตา ตาแห้ง ปวดตา ตาบวม ปากแห้ง ปวดศีรษะ เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย มึนงง ง่วงซึม

4.ยากลุ่ม Pilocarpine ทำให้มีอาการปวดศีรษะ ปวดบริเวณขมับ ปวดตา ระคายเคืองตา หนังตากระตุก การมองเห็นผิดปกติ สายตาสั้นมากขึ้น ทำให้เกิดต้อกระจก กล้ามเนื้อลูกตาหดเกร็ง

5.ยากลุ่ม Carbonic anhydrase inhibitors:

  • ยาหยอดตา จะทำให้เกิดอาการ แสบตา คันตา ไม่สบายตา ตาแห้ง ตาแดง
  • ยารับประทาน ทำให้เกิดอาการ ท้องเสีย เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ไม่สบายท้อง ปัสสาวะบ่อย เบื่ออาหาร การรับรสและกลิ่นผิดปกติ ชาตามปลายมือปลายเท้า ปวดศีรษะ ใจสั่น

6.ยาสูตรผสม: อาการไม่พึงประสงค์จากยาที่เกิดขึ้นจะเกิดจากยาทุกตัวที่อยู่ในสูตรตำรับนั้นๆ ดังได้กล่าวในหัวข้อตัวยาแต่ละชนิด

7.ยากลุ่ม Systemic hyperosmotic agents ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้อาเจียน เนื่องจากยามีรสหวานจัด

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยารักษาต้อหิน) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. American Academy of Ophthalmology. Glaucoma: Medications https://www.aao.org/pediatric-center-detail/glaucoma-medications [2017,Aug12]
  2. Glaucoma Research Foundation. Glaucoma Medications and their Side Effects. http://www.glaucoma.org/gleams/glaucoma-medications-and-their-side-effects.php [2017,Aug12]
  3. Schaefer, C., Peters P., and Miller, R.K. Drugs During Pregnancy and Lactation. Third Edition. Oxford : Academic press., 2015.
  4. กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์. ยาหยอดตารักษาโรคต้อหิน http://mettapharmacy.blogspot.com/2012/11/blog-post_24.html [2017,Aug12]
  5. คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่ชาติ และคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญแห่งชาติด้านการคัดเลือกยาสาขาจักษุวิทยา. คู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ยาที่ใช้ทางจักษุวิทยา http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/sites/default/files/6_drugs_used_in_ophthalmology.pdf [2017,Aug12]
  6. ดารินทร์ สากิยลักษณ์. โรคต้อหิน http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=56 [2017,Aug12]
  7. นริศ กิจณรงค์. ต้อหิน...วายร้ายทำลายการมองเห็น http://www.si.mahidol.ac.th/th/departmen/ophthalmology/dept_article_detail.asp?a_id=874 [2017,Aug12]