ยายับยั้งกรดโฟลิก (Antifolates)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

กรดโฟลิก (Folic Acid) หรือในอีกชื่อหนึ่งว่าโฟเลท (Folate) หรือ วิตามินบี 9 เป็นวิตามินที่มีความสำคัญต่อร่างกายเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีส่วนช่วยในการสังเคราะห์โครงสร้างของสารพันธุกรรมดีเอ็นเอ (DNA) และอาร์เอ็นเอ (RNA) และมีบทบาทในการเมทาบอไลต์(Metabolite, การทำงาน/การใช้งาน)กรดอะมิโนเพื่อช่วยในการแบ่งตัวของเซลล์ กล่าวในอีกทางหนึ่งก็คือ กรดโฟลิกมีส่วนสำคัญในการเจริญเติบโตและการแบ่งตัวของเซลล์ร่างกายนั่นเอง

กรดโฟลิกยังเป็นหนึ่งในวิตามินที่แนะนำให้สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์รับประทานอีกด้วย เนื่องจากพบมีช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะหลอดประสาทไม่ปิด (Neural Tube Defect) และโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Defects) ในทารกในครรภ์ได้

ด้วยคุณสมบัติของกรดโฟลิกที่กล่าวมานั้น ทำให้กรดโฟลิกเป็นเป้าหมายหนึ่งในการพัฒนายาเพื่อที่จะจำกัดการเจริญเติบโตของเซลล์ การยับยั้งการทำงานของกรดโฟลิกจะทำให้ร่างกายไม่สามารถแบ่งเพิ่มจำนวนเซลล์ตามปกติได้ หลักการนี้ได้นำมาใช้พัฒนาเป็นยารักษาโรคมะเร็ง และเป็นยาอื่นๆที่ออกฤทธิ์คล้ายคลึงกัน เช่น ยารักษาโรคมาลาเรีย และยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียบางชนิด

โดยทั่วไป เมื่อพูดถึงยาในกลุ่ม”ยายับยั้งการทำงานของกรดโฟลิก หรือยายับยั้งกรดโฟลิก หรือยายับยั้งโฟเลต หรือยายับยั้งการทำงานของโฟเลต(Antifolates หรือ Antifolate drugs หรือ Folate antagonist หรือ Folic acid antagonist หรือ Folic acid inhibitor หรือ Folic acid synthesis inhibition หรือ Folate inhibitor หรือ Folate synthesis inhibition)” นั้นจะหมายความถึงยาที่ทำงานต่อเซลล์ของมนุษย์เป็นส่วนใหญ่ (ยาเมโธเทรกเซท และยาพีมีทรีเซ็ต) แต่ในบทความนี้จะรวมไปถึงยาที่ยับยั้งการทำงานของกรดโฟลิกในเซลล์แบคทีเรียและโปรโตซัวด้วย

การขาดกรดโฟลิกจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกาย เช่น น้ำหนักลด อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เกิดภาวะโลหิตจาง ภาวะขาดโฟลิกในสตรีมีครรภ์จะส่งผลกระทบต่อทารกด้วย เช่น ทารกมีน้ำหนักน้อย คลอดก่อนกำหนด และมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะหลอดประสาทไม่ปิด การใช้ยาในกลุ่มนี้ จึงนิยมให้กรดโฟลิกเสริมด้วย เพื่อป้องกันภาวะการขาดโฟลิก และพบว่าการให้กรดโฟลิกเสริมนี้ไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง

กลุ่มยายับยั้งการทำงานของกรดโฟลิกมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ยายับยั้งกรดโฟลิก

ยาในกลุ่มยับยั้งการทำงานของกรดโฟลิก เป็นการยับยั้งเอนไซม์ที่จะเปลี่ยนกรดโฟลิกในรูปไม่ออกฤทธิ์ให้ไปอยู่ในรูปที่ออกฤทธิ์ ซึ่งเอนไซม์ชนิดนี้พบได้ทั้งในมนุษย์ แบคทีเรีย และโปรโตซัว ยาในกลุ่มนี้จึงมีข้อบ่งใช้แตกต่างกันไปตามลักษณะการออกฤทธิ์ที่จะกล่าวในหัวข้อต่อไป

ก. ยาเมโธเทรกเซต (Methotrexate): นำมาใช้เป็นยาเคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็งบางนิด เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) โรคมะเร็งกระดูก (Osteosarcoma) และกลุ่มการแพ้ภูมิตนเอง (Autoimmune Diseases) เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) โรคสะเก็ดเงิน(Psoriasis) เป็นต้น

ข. ยาพีมีทรีเซ็ด (Pemetrexed): นำมาใช้ในเป็นยาเคมีบำบัด รักษาโรคเนื้องอกเยื่อหุ้มปอดชนิด Mesothelioma และรักษาโรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต (Non-small cell lung cancer)

ค. ยาโพรกัวนิล (Proguanil): ใช้ในการป้องกันและรักษาโรคมาลาเรีย

ง. ยาไพรีเมธามีน (Pyrimethamine): ใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อทอกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) โรคไอโซสปอริเอซิส (Isosporiasis, เป็นโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อปรสิต Isospora belli) ใช้ป้องกันโรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมซิสติส (Pneumocystis pneumonia; PCP) และเคยใช้เพื่อรักษาโรคาลาเรีย แต่ไม่ได้ใช้แล้วเนื่องจากเกิดภาวะเชื้อดื้อยานี้

จ. ยาไทรเมโธพริม (Trimethoprim): ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียร่วมกับยาซัลฟาเมโธซาโซล (Sulfamathoxazole) เรียกว่ายา โค-ไตรม็อกซาโซล (Co-trimoxazole)

กลุ่มยายับยั้งการทำงานของกรดโฟลิกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาในกลุ่มยับยั้งการทำงานของกรดโฟลิก จะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไดไฮโดรโฟเลทรีดักเทส (Dihydrofolate reductase; DHFR) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เปลี่ยนกรดโฟลิกในรูปที่ไม่ออกฤทธิ์หรือกรดไดไฮโดรโฟลิก (Dihydrofolic Acid)ให้เป็นกรดโฟลิกในรูปที่ออกฤทธิ์หรือกรดเทททราไฮโดรโฟลิก (Tetrahydrofolic Acid) ทำให้เซลล์ไม่สามารถใช้กรดโฟลิกได้ จึงยับยั้งการเจริญและการแบ่งตัวของเซลล์

เอนไซม์ไดไฮโดรโฟเลทรีดักเทสของสิ่งมีชีวิตแต่ละจำพวก มีความแตกต่างกันและมีความจำเพาะ ดังนั้นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์นี้ของสัตว์จำพวกเลี้ยงลูกด้วยนมอย่างยาเมโธเทรกเซตและยาพีมีทรีเซ็ด ไม่ได้ออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเซลล์โปรโตซัว ยาโพรกัวนิลและยาไพรีเมธามีนมีผลต่อต่อแบคทีเรีย (เช่น ยาไธเมโธพรีม) และเช่นเดียวกัน ยาโพรกัวนิล ยาไพรีเมธามีนและยาไธเมโธพรีม ก็ไม่ได้ออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

กลุ่มยายับยั้งการทำงานของกรดโฟลิกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาในกลุ่มยายับยั้งการทำงานของกรดโฟลิกมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์ที่จัดจำหน่ายดังต่อไปนี้ เช่น

ก. ยาเมโธเทรกเซต (Methotrexate) มี 3 รูปแบบเภสัชภัณฑ์ ได้แก่

  • ยาชนิดเม็ดสำหรับรับประทาน ขนาดความแรง 2.5, 5, 7.5, 10 และ 15 มิลลิกรัมต่อเม็ด
  • ยาผงปราศจากเชื้อพร้อมผสมสำหรับเป็นยาฉีด ขนาด 1 กรัม
  • ยาน้ำปราศจากเชื้อสำหรับฉีด ขนาดความแรง 25 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ขนาดบรรจุ 2 และ 10 มิลลิลิตร

ข. ยาพีมีทรีเซ็ด (Pemetrexed) เป็นรูปแบบเภสัชภัณฑ์ยาผงปราศจากเชื้อพร้อมผสมเป็นยาฉีด ขนาดความแรง 100 และ 500 มิลลิกรัม

ค. ยาโพรกัวนิล (Proguanil) ใช้ร่วมกับยาอะโทวาโควน (Atovaquone) ชนิดเม็ดสำหรับรับประทาน ขนาดความแรง ยาอะโทวาโควน 250 มิลลิกรัม และยาโพรกัวนิล 100 มิลลิกรัม ต่อหนึ่งเม็ด และ ขนาดความแรง ยาอะโทวาโควน 62.5 มิลลิกรัม และยาโพรกัวนิล 25 มิลลิกรัม ต่อหนึ่งเม็ด

ง. ยาไพรีเมธามีน (Pyrimethamine) เป็นยาเม็ดขนาดความแรง 25 มิลลิกรัมต่อเม็ด

จ. ยาไทรเมโธพริม (Trimethoprim) ใช้ร่วมกับยาซัลฟาเมโธซาโซล (Sulfamathoxazole) มี 3 รูปแบบเภสัชภัณฑ์ ได้แก่

  • ยาน้ำสำหรับฉีด ประกอบไปด้วยยาซัลฟาเมโธซาโซล (Sulfamathoxazole) 80 มิลลิกรัม และยาไทรเมโธพริม (Trimethoprim) 16 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ขนาดบรรจุ 5, 10 และ 30 มิลลิลิตร
  • ยาน้ำแขวนตะกอนสำหรับรับประทาน ประกอบไปด้วยยาซัลฟาเมโธซาโซล (Sulfamathoxazole) 200 มิลลิกรัม และยาไทรเมโธพริม (Trimethoprim) 40 มิลลิกรัม ในยา 5 มิลลิลิตร
  • ยาเม็ดสำหรับรับประทาน ประกอบไปด้วยยาซัลฟาเมโธซาโซล (Sulfamathoxazole) 400 มิลลิกรัม และยาไทรเมโธพริม (Trimethoprim) 80 มิลลิกรัม ต่อเม็ดยา

กลุ่มยายับยั้งการทำงานของกรดโฟลิกมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ขนาดการบริหารของยาในกลุ่มยายับยั้งการทำงานของกรดโฟลิก ขึ้นอยู่กับข้อบ่งใช้ สภาวะของผู้ป่วย เช่น การทำงานของไต และ/หรือของตับ ขนาดการบริหารยาจึงแตกต่างกันออกไปในผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้กำหนด

เมื่อมีการสั่งยาในกลุ่มยายับยั้งการทำงานของกรดโฟลิก ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาในกลุ่มยายับยั้งการทำงานของกรดโฟลิก ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติการแพ้ยาและแพ้สารเคมีทุกชนิด
  • ประวัติการใช้ยา ทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่าย และยาที่ซื้อทานเอง วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆ
  • ประวัติโรคประจำตัว ทั้งโรคที่เคยเป็นมาก่อน โรคเรื้อรังที่เป็นอยู่ ประวัติการเกิดภาวะระดับโฟลิกในเลือดต่ำ (ถ้ามี) หรือภาวะเม็ดเลือดต่ำในผู้ที่ใช้ยาเมโธเทรกเซท
  • แจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบถึงประวัตการเข้ารับการผ่าตัด ประวัติการเข้ารับวัคซีนต่างๆ
  • แจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบหากกำลังตั้งครรภ์ วางแผนที่จะตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงระหว่างการให้นมบุตร

หากลืมกินยา/ใช้ยากลุ่มยายับยั้งการทำงานของกรดโฟลิกควรทำอย่างไร?

โดยทั่วไป หากลืมรับประทานยาในกลุ่มยายับยั้งการทำงานของกรดโฟลิก ให้รับประทานโดยทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ถ้าหากใกล้กับมื้อยาถัดไปแล้ว ให้ข้ามไปทานมื้อยาถัดไปเลยตามปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

หากเป็นยาในรูปแบบการฉีดที่ต้องเข้ารับการบริหารที่สถานพยาบาล ให้รีบติดต่อสถานพยาบาลที่ทำการรักษาอยู่โดยเร็วที่สุดเพื่อนัดหมายการเข้ารับยา

ยาในกลุ่มยายับยั้งการทำงานของกรดโฟลิกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาในกลุ่มยับยั้งการทำงานของกรดโฟลิกมีอาการ/ผลไม่พึงประสงค์จากยาที่แตกต่างกันไปตามตัวยา ดังต่อไปนี้ เช่น

ก. ยาเมโธเทรกเซทและยาพีมีทรีเซ็ด อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์เช่น อาการ วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ง่วงนอน เหนื่อยง่าย ผมร่วง ปวดศีรษะ ตาแดง ความอยากอาหารลดลง น้ำหนักตัวลด ผู้ใช้ยามีทรีเซ็ดบางคนอาจเกิด อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า นอนไม่หลับ

ซึ่งหากอาการเหล่านี้ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและไม่มีท่าทีว่าจะทุเลาลง หรือส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบ/ไปโรงพยาบาล ไม่ต้องรอจนถึงวันแพทย์นัด

ยาเมโธเทรกเซท อาจส่งผลต่อจำนวนเซลล์เม็ดเลือดที่ร่างกายผลิตขึ้น ดังนั้นหากเกิดอาการเจ็บป่วย อย่างเช่น เจ็บคอ มีไข้ หรือมีอาการลักษณะเหมือนการติดเชื้อเกิดขึ้นอย่างบ่อยครั้ง ผู้ป่วยควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบ/ไปโรงพยาบาล ด้วยเช่นกัน

ยาเมโธเทรกเซทอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่มีความรุนแรงได้ เนื่องจากการทำงานของยา อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ ปอด และเซลล์ชั้นผิวเยื่อบุช่องปากและเยื่อบุระบบทางเดินอาหาร ดังนั้น ระหว่างการใช้ยานี้ หากพบว่ามีอาการอ่อนเพลียอย่างรุนแรง ไม่อยากอาหาร คลื่นไส้ ปวดช่องท้อง ผิวหรือตาขาวเปลี่ยนเป็นสีเหลืองคล้ายดีซ่าน ไอแห้งๆ หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก ปาก/ช่องปากเป็นแผลบ่อยครั้ง ท้องเสีย หรืออุจจาระมีสีดำและเหนียว หรือมีเลือดปนออกมากับอุจจาระ/อุจจาระเป็นเลือด ไอมีเลือดปน/ไอเป็นเลือด ให้รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน

ข. ยาโพรกัวนิล: โดยทั่วไปแล้ว ยาโพรกัวนิลไม่ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่มีความรุนแรง ที่พบได้บ่อยคือ การปวดท้อง คลื่นไส้ ปวดศีรษะ มีไข้ เป็นต้น

ค. ยาไพรีเมธามีน อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์บางประการ เช่น น้ำหนักตัวลด อาเจียน เกิดภาวะเม็ดเลือดต่ำ หรือโลหิตจาง เกิดห้อเลือดขึ้นบริเวณผิวหนังหรือมีเลือดปนกับปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด ไอ มีไข้ ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งหากเกิดอาการเหล่านี้ ให้รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน

ง. ยาไทรเมโธพริม (ร่วมกับยาซัลฟาเมโธซาโซล) อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์บางประการ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ความอยากอาหารลดลง ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรง โดยอาจพบว่าผิวหนังหรือตาขาวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ปวดข้อ ผิวสีซีด หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก บางรายอาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วย ให้รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที

*หากผู้ป่วยใช้ยาชนิดใดแล้วเกิดอาการแพ้ยา เช่น เกิดผื่นคันขึ้นตามลำตัว เปลือกตา/หนังตา ใบหน้า หรือริมฝีปาก บวม หายใจไม่สะดวก ลิ้นบวม ให้หยุดใช้ยานั้นๆทันที แล้วรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด/ทันที/ฉุกเฉิน

อนึ่ง ผู้ป่วยควรตระหนักว่า การที่แพทย์สั่งใช้ยาเหล่านี้ เนื่องจากวิเคราะห์แล้วว่าผู้ป่วยจะได้ประโยชน์จากยาเหล้านี้มากกว่าโทษ อย่างไรก็ดี หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ดังที่กล่าวมานั้น ผู้ป่วยควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบ/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์ประเมินวิเคราะห์ ปรับการรักษา ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว มีเพียงผู้ป่วยส่วนน้อยเท่านั้นที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่มีความรุนแรงจากยาต่างๆ การเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์จากยาจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ใช้ยาทุกคน

มีข้อควรระวังการใช้ยาในกลุ่มยายับยั้งการทำงานของกรดโฟลิกอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาในกลุ่มยายับยั้งการทำงานของกรดโฟลิก เช่น

  • ไม่ใช้ยากับผู้ที่แพ้ยานั้นๆหรือแพ้ส่วนประกอบของยานั้นๆ
  • การใช้ยาบางชนิดต้องมีการประเมินวิเคราะห์การตอบสนองของร่างกายต่อยาผ่านการตรวจเลือด ดังนั้น ผู้ป่วยควรเข้าพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง เพื่อให้แน่ใจได้ว่า การใช้ยานั้นๆมีประสิทธิผลและมีความปลอดภัย
  • ยาบางชนิดห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์และให้นมบุตร เช่น ยาเมโธเทรกเซท ยาพีมีทรีเซด ยาโค-ไตรม็อกซาโซล (Co-trimoxazole, ยาไทรเมโธพริม + ยาซัลฟาเมโธซาโซล) ส่วนการใช้ยาโพรกัวนิลและ ยาไพรีเมธามีนในสตรีมีครรภ์ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแพทย์
  • ยากลุ่มนี้บางชนิดต้องได้รับการปรับขนาดของยาตามการทำงานของไต และ/หรือการทำงานของตับ ผู้ป่วยที่มีโรคไต หรือโรคตับ จึงควรต้องแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาในกลุ่มยายับยั้งการทำงานของกรดโฟลิกด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

กลุ่มยายับยั้งการทำงานของกรดโฟลิกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาในกลุ่มยับยั้งการทำงานของกรดโฟลิก มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาต่างๆที่แตกต่างกันไปตามชนิดของยาแต่ละชนิดในกลุ่มยายับยั้งการทำงานของกรดโฟลิก เช่น

ก. ยาเมโธเทรกเซท มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาที่มีฤทธิ์เป็นยากดภูมิคุ้มกันของร่างกาย เนื่องจากยาเมโธเทรกเซทเองอาจทำให้ระดับภูมิคุมกันต้านทานโรค/ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดด้วย รวมถึงควรแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบ หากจำเป็นต้องรับวัคซีน โดยเฉพาะวัคซีนชนิดเชื้อเป็น(เช่น วัคซีนหัดเยอรมัน) เพราะเชื้อที่อ่อนแรงในวัคซีนมีความปลอดภัยในผู้ที่มีระดับภูมิคุ้มกันเป็นปกติ แต่ผู้ใช้ยาเมโธเทรกเซทจำเป็นต้องได้รับการประเมินภูมิคุ้มกันก่อนจากแพทย์ก่อนได้รับวัคซีนกลุ่มนี้ อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยควรแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบถึงยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่เพื่อป้องกันการใช้ยาที่มีฤทธิ์ซ้ำซ้อนหรือใกล้เคียงกัน

การใช้ยาบางชนิดอาจทำให้ระดับของยาเมโธเทรกซทในเลือดสูงขึ้นได้ เช่น การใช้ร่วมกับกลุ่มยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่เสตียรอยด์ (NSAIDs) ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มเพนิซิลลิน(Penicillin) ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียซิโพรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) เป็นต้น

ข. ยาพีมีทรีเซท ไม่ได้มีปฏิกิริยาระหว่างยาที่เป็นที่ประจักษ์(ที่มีรายงาน) พบว่าระดับยาพีมีทรีเซทในเลือดจะเพิ่มขึ้นได้ หากมีการใช้ร่วมกับกลุ่มยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่เสตียรอยด์ (NSAIDs)

ค. ยาโพรกัวนิล มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาบางชนิด เช่น ยารักษามาลาเรีย ยาอาร์ทีมีเธอร์ (Artemether) ยาลูมีแฟนทรีน (Lumefantrine) ยาต้านไวรัสเอชไอวี ยาอินดีนาเวียร์ (Indinavir) กลุ่มยาที่ลดระดับน้ำตาลในเลือด เป็นต้น หากผู้ป่วยใช้ยาเหล่านี้อยู่ ควรแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบ เพื่อประเมินประสิทธิผลและอาการไม่พึงประสงค์จากยาที่จะใช้ร่วมกัน

ง. ยาไพรีเมธามีน มีปฏิกิริยากับยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคมาลาเรีย ยาอาร์ทีมีเธอร์ (Artemether) ยาลูมีแฟนทรีน (Lumefantrine) ยาแก้ปวด (เช่น ยาทรามาดอล/ Tramadol ยาโคดีอีน/Codeine) เป็นต้น หากผู้ป่วยใช้ยาเหล่านี้อยู่ ควรแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบ เพื่อประเมินประสิทธิผลและอาการไม่พึงประสงค์จากยาต่างๆที่ใช้ร่วมกัน

จ. ยาโค-ไตรม็อกซาโซล มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาหลายชนิดผ่านเอนไซม์ที่ใช้ในการเมทาบอไลต์ตัวยาในร่างกาย อาทิเช่น ยาลดความดันโลหิตในกลุ่ม ACD-inhibitors (เช่น ยาอีนาลาพริล/ Enalapril ยาแคปโทพริล/Captopril), ยารักษาเบาหวานในกลุ่มไธอะโซลิดีนไดโอน/ Thiazoidinediones(เช่น ยาไพโอกลิทาโซน /Pioglitazone ยาโรซิกลิทาโซน/Rosiglitazone), และกลุ่มยาซัลนิลยูเรีย/ Sulfonylureas เช่นยากลิพิไซด์/Glipizide ยาโทลบูทาไมด์/Tolbutamide), ยาต้านชัก ชนิด ฟีไนทอยด์ (Phenytoin), ยาฆ่าเชื้อ ชนิด ยาแดปโซน (Dapsone), ยาต้านการทำงานของวิตามินเค/ Vitamin K antagonists(เช่น ยาวาร์ฟาริน/ Warfarin), เป็นต้น หากผู้ป่วยใช้ยาเหล่านี้อยู่ควรแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบ เพื่อประเมินประสิทธิผลและอาการไม่พึงประสงค์จากยาต่างๆที่ใช้ร่วมกัน

ที่กล่าวมานี้ เป็นตัวอย่างปฏิกิริยาระหว่างยากลุ่มยับยั้งการทำงานของกรดโฟลิก กับยาอื่นๆบางชนิดเท่านั้น ผู้ป่วยจึงควรต้องแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบถึงยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ หรือเคยใช้มาในอดีต(ภายในระยะเวลาประมาณ 3 เดือนนับจากการพบแพทย์/มาโรงพยาบาลครั้งนี้) เพื่อป้องกันปฏิกิริยาระหว่างยาที่อาจเกิดขึ้นได้

ควรเก็บรักษายาในกลุ่มยายับยั้งการทำงานของกรดโฟลิกอย่างไร?

โดยทั่วไป การเก็บรักษายายับยั้งการทำงานของกรดโฟลิก ได้แก่

  • ยาชนิดเม็ดสำหรับรับประทาน ให้เก็บในที่แห้งและเย็น เก็บให้พ้นจากที่ที่มีแสงแดดส่องถึงได้โดยตรง และต้องเก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เว้นแต่เภสัชกรจะแนะนำให้เก็บยาในวิธีอื่นซึ่งเป็นไปตามนโยบายการเก็บรักษายาของสถานพยาบาล
  • ยากลุ่มนี้ที่เป็นยาประเภทอื่นๆ ให้เก็บตามที่แนะนำในเอกสารกำกับยา หรือตามคำแนะนำของคณะกรรมการในเรื่องการใช้ยาของแต่ละโรงพยาบาล

กลุ่มยายับยั้งการทำงานของกรดโฟลิกมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาในกลุ่มยับยั้งการทำงานของกรดโฟลิก มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายในประเทศไทย ดังต่อไปนี้ เช่น

บรรณานุกรม

  1. American Pharmacists Association. Drug Information Handbook. 2011; 19th edition.
  2. Antifolates. Mesothelioma. http://www.mesotheliomaweb.org/antifolates.html[2017,June10]
  3. Michele Visentin, Rongbao Zhao, and I. David Goldman. The Antifolates. Hematol Oncol Clin North Am. 2012 Jun; 26(3): 629-ix.
  4. โรคไอโซสปอริเอซิส ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://www.med.cmu.ac.th/dept/parasite/public/isospora.html[2017,June10]
  5. https://www.cancer.gov/publications/dictionaries/cancer-terms?cdrid=491913[2017,June10]