ยาปลูกผมหย่อม ลดต่อมลูกหมากโต (ตอนที่ 1)

ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เภสัชกรวินิต อัศวกิจวิรี กล่าวถึงการที่มีผู้ร้องเรียนผ่านสื่อเกี่ยวกับการใช้ยา "ฟิแนสเทอไรด์" (Finasteride) ว่า ทำให้รับประทานอาหารได้น้อย และความรู้สึกทางเพศลดลง นั้น แนะนำว่าผู้ที่ได้รับผลข้างเคียงจากยาดังกล่าวควรหยุดยา โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี

เภสัชกร วินิต กล่าวว่า “ปัจจุบันในวงการเภสัชกรรมไทย ทราบกันดีว่ายาฟิแนสเทอไรด์ เป็นยารักษาต่อมลูกหมากโตในเพศชาย เพื่อยับยั้งฮอร์โมนเพศชายที่มีมากเกินไป แต่ก็มีการปรับใช้เพื่อลดอาการผมร่วงได้เฉพาะในเพศชายเท่านั้น แต่ในเพศหญิงห้ามใช้โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ เพราะอาจเสี่ยงมากต่อการแท้งลูก”

ฟิแนสเทอไรด์ เป็นชื่อของยาที่ใช้ยี่ห้อการค้าว่า Proscar และ Propecia ของบริษัทยา [ชื่อดัง] Merck เป็นยารักษาอาการต่อมลูกหมากโตชนิดไม่ร้ายแรง (Benign prostatic hyperplasia : BPH) และอาการศีรษะล้านในเพศชาย (Male pattern baldness : MPB)

ในการรักษาต่อมลูกหมากโตชนิดไม่ร้ายแรงนั้น แพทย์ใช้ฟิแนสเทอไรด์ขนาด 5 มิลลิกรัม วันละครั้ง เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน ก่อนที่จะสามารถวินิจฉัยผลการตอบสนองการรักษา หากหยุดยาก่อนกำหนด อาจไม่ได้ผล ฟิแนสเทอไรด์ อาจช่วยแก้ไขอาการที่เกี่ยวข้องกับต่อมลูกหมาก เช่น ปัสสาวะขัด ตื่นปัสสาวะตอนกลางคืน ต้องเบ่งตอนเริ่มปัสสาวะ และปัสสาวะเบาลง

ในการศึกษาระยะเวลา 5 ปี ในกลุ่มผู้ชายที่ผมเริ่มร่วงระยะเริ่มต้นและระยะกลาง พบว่า 2 ใน 3 ของผู้ที่รับยาฟิแนสเทอไรด์ 1 มิลลิกรัม ทุกวัน จะมีผมใหม่เกิดขึ้นบ้าง จากการนับจำนวนเส้นผม ในขณะที่ผู้ที่ไม่ได้รับฟิแนสเทอไรด์ทุกๆ คน มีอาการผมร่วง

ในงานวิจัยเดียวกันนี้ ได้มีหลักฐานเป็นภาพถ่ายที่ผ่านการพิจารณาจากคณะแพทย์ผิวหนัง แสดงว่า 48% ของผู้รับยาฟิแนสเทอไรด์ จะมีผมใหม่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ด้วยตาเปล่า และอีก 42% ไม่มีการสูญเสียผมเพิ่มเติม การนับเส้นผมในกลุ่มตัวอย่างที่รับยาก็ยังคงอยู่เหนือเส้นบรรทัดฐาน (Baseline) และในรอบ 5 ปีที่ทำการศึกษา ทุกคนมีเส้นผมเพิ่มขึ้น ต่างจากจำนวนเส้นผมที่นับได้จาก กลุ่มคนไข้ที่ได้รับยาหลอก (Placebo)

ฟิแนสเทอไรด์มีประสิทธิผลตราบนานเท่าที่ใช้ยาอยู่ และจะสูญเสียการเกิดผมใหม่ หรือการคงปริมาณเส้นผม ไปภายใน 6 – 12 เดือนหลังการหยุดยาที่รักษา ในการศึกษาพบว่าฟิแนสเทอไรด์ จะสร้างผมใหม่ทั้งบริเวณกลางศีรษะ (Crown area [ไข่ดาว]) และบริเวณตีนผม แต่จะได้ผลมากบริเวณกลางศีรษะ

บางครั้ง ฟิแนสเทอไรด์ใช้เป็นส่วนประกอบของการบำบัดทดแทนฮอร์โมนในการผ่าตัดแปลงเพศ (Transsexual) ชายเป็นหญิง อย่างไรก็ตาม การวิจัยซึ่งมีค่อนข้างจำกัด บ่งบอกว่าการใช้ฟิแนสเทอไรด์เพื่อวัตถุประสงค์นี้ มีประสิทธิผลไม่มากนัก และยิ่งไปกว่านั้น ยังมีส่วนให้เกิดอาการซึมเศร้า (Depression) และอาการวิตกกังวล (Anxiety) ได้

อาการนี้จะเป็นเรื่องธรรมดาสามัญทั้งในเพศชายและหญิง สำหรับผู้ที่ผ่าตัดแปลงเพศและผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่ออาการนี้อยู่แล้ว ผลที่ตามมา ก็คือการสั่งยาฟิแนสเทอไรด์ ให้ผู้ได้รับการผ่าตัดดังกล่าว จึงไม่มีผลดีที่แน่ชัด แต่อาจก่ออันตราย ทำให้เกิดผลข้างเคียงด้านอารมณ์

แหล่งข้อมูล:

  1. เตือนใช้ "ยาแก้หัวล้าน" สเปิร์มลด-ความรู้สึกทางเพศ หด http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1340596590&grpid=&catid=09&subcatid=0902 [2012, July 5].
  2. Finasteride http://en.wikipedia.org/wiki/Finasteride [2012, July 5].