ยาบำรุงเลือด (Antianemia Drugs)

บทความที่เกี่ยวข้อง


ยาบำรุงเลือด

ยาบำรุงเลือดหมายความว่าอย่างไร?

ยาบำรุงเลือด หรือยาบำรุงโลหิต หรือยารักษาเลือดจาง หรือยารักษาโลหิตจาง(Antianemia Drugs หรือ Antianemia drugs หรือ Anemia medication) หมายถึง ยาที่ใช้ป้องกันและรักษาภาวะโลหิตจาง ซึ่งภาวะนี้เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และยาบำรุงเลือดแต่ละชนิดจะใช้รักษาตามสาเหตุนั้นๆ ดังนั้นหากสงสัยว่าตนเองมีภาวะโลหิตจางแล้ว ควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง ไม่ควรซื้อยาหรือวิตามินใดๆที่รวมถึงธาตุเหล็ก มารับประทานเอง เพื่อที่จะได้ใช้ยารักษาภาวะ/โรคโลหิตจางได้อย่างถูกต้องตรงกับสาเหตุของโรค

ยาบำรุงเลือดแบ่งเป็นกี่ประเภท?

ยาบำรุงเลือด แบ่งประเภทตามกลุ่มยาได้ดังต่อไปนี้

1. ยากลุ่มที่เป็นสารประกอบของธาตุเหล็ก (Ferrous compound) แบ่งตามวิธีการบริหารยา/ใช้ยาได้ดังนี้ เช่น

  • ธาตุเหล็กชนิดรับประทาน (Oral Iron Products) เช่นยา เฟอร์รัสซัลเฟตไฮเดรท (Ferrous sulfate hydrated), เฟอร์รัสซัลเฟตเดซิเคท (Ferrous sulfate dessicated), เฟอร์รัสกลูโคเนท (Ferrous gluconate), เฟอร์รัสฟิวมาเรท (Ferrous fumarate)
  • ธาตุเหล็กชนิดฉีด (Parenteral Iron Products) เช่นยา เฟอริวม็อกซิทอล (Ferumoxytol), ไอรอนเด็กซ์แทรน (Iron dextran), ไอรอนซูโครส (Iron sucrose),โซเดียม เฟอร์ริก กลูโคเนต (Sodium ferric gluconate)

2. วิตามินบี 12 หรือไซยาโนโคบาลามีน (Vitamin B12) เช่นยา ไซยาโนโคบาลามีน (Cyanocobalamin) และไฮดรอกโซโคบาลามิน (Hydroxocobalamin) แบ่งตามวิธีการบริหารยาได้ดังนี้

  • วิตามินบี 12 ชนิดรับประทาน (Oral Vitamin B12)
  • วิตามินบี 12 ชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Parenteral Vitamin B12)

3. โฟเลทหรือกรดโฟลิก (Folate or Folic acid) แบ่งออกเป็น

  • โฟเลทหรือกรดโฟลิกชนิดเม็ดรับประทาน
  • โฟเลทหรือกรดโฟลิกที่อยู่ในรูปแบบยาฉีด เช่นยา กรดโฟลินิก (Folinic acid) หรือไซโทรโวรุมแฟกเตอร์ (Citrovorum factor) หรือลิวโคโวริน (Leucovorin)

4. ยากระตุ้นการแบ่งตัวและพัฒนาการของเซลล์เม็ดเลือดแดง (Erythropoiesis-stimulating agents, ESAs) เช่นยา อิโพอิติน หรืออีพีโอ (Epoetin or EPO)

5. ยากระตุ้นให้มีการผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดแกรนูโลไซต์ (Granulocyte colony-stimulating factor, G-CSF) เช่นยา ฟิลกราสทิม (Filgrastim), เพกฟิลกราสทิม (Pegfilgrastim), ลีโนกราสทิม (Lenograstim)

6. ยากระตุ้นให้มีการผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดแกรนูโลไซต์และเซลล์มาโครฟาจ Granulocyte-macrophage colony-stimulating factor, GM-CSF) เช่นยา ซาร์กรามอสทิม (Sargramostim)

ยาบำรุงเลือดมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาบำรุงเลือดมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ด (Tablet)
  • ยาแคปซูล (Capsule)
  • ยาพ่นจมูก (Nasal Spray)
  • ยาน้ำเชื่อม (Syrup)
  • ยาอิลิกเซอร์ (Elixir)
  • ยาผงชนิดปราศจากเชื้อ (Sterile Powder)
  • ยาน้ำใสชนิดปราศจากเชื้อ (Sterile Solution)

อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของยาต่างๆได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”

มีข้อบ่งใช้ยาบำรุงเลือดอย่างไร?

มีข้อบ่งใช้ยาบำรุงเลือด เช่น

1. ธาตุเหล็ก ใช้รักษาภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency anemia, IDA) ซึ่งมีสาเหตุเกิดจากการเสียเลือดเรื้อรัง เช่น มีประจำเดือนมามากหรือมานาน, เลือดออกในทางเดินอาหาร, โรคพยาธิปากขอ, ภาวะร่างกายต้องการธาตุเหล็กมากขึ้น เนื่องจากอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร, ภาวะร่างกายมีปัญหาในการดูดซึมธาตุเหล็ก เช่น โรคระบบทางเดินอาหาร

2. วิตามินบี 12 ใช้รักษาโรคโลหิตจางชนิดร้ายแรง (Pernicious anemia) ที่เกิดจากร่างกายได้รับวิตามินบี 12ไม่เพียงพอ เช่น ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดกระเพาะอาหาร ผู้มีความผิดปกติของลำไส้เล็ก หรือผู้รับประทานมังสวิรัติ

3. โฟเลท:

  • ใช้รักษาภาวะโลหิตจางชนิดขนาดเม็ดเลือดแดงใหญ่ผิดปกติ (Macrocytic anemia) อันเนื่องมาจากการขาดโฟเลทซึ่งภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นได้จากการบริโภคอาหารบกพร่อง โลหิตจางในหญิงมีครรภ์ การขาดสารไนอาซิน(Niacin) หรือโรคพยาธิปากขอ
  • ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (Leukopenia) ที่เกิดจากการฉายรังสีรักษา
  • การดูดซึมสารอาหารในลำไส้เล็กผิดปกติ
  • ใช้รักษาโรคโลหิตจางจากการขาดวิตามินบี 12 เมื่อผู้ป่วยมีอาการอักเสบของระบบประสาทร่วมด้วย

4. Epoetin ใช้รักษาภาวะโลหิตจางจากโรคไตเรื้อรังที่ไม่พบสาเหตุอื่นที่รักษาได้ ตัวอย่างเช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน(ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ)อย่างรุนแรง ภาวะร่างกายมีการติดเชื้อ ภาวะขาดธาตุเหล็ก ขาดโฟเลท หรือขาดวิตามินบี 12 เป็นต้น

5. ยากลุ่ม G-CSF, GM-CSF ใช้ป้องกันและรักษาภาวะที่ผู้ป่วยมีไข้ร่วมกับมีเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลในเลือดต่ำ(Febrile neutropenia) ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อาจรุนแรงถึงเสียชีวิต ภาวะดังกล่าวสามารถเกิดได้ในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด หรือในผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูก

มีข้อห้ามใช้ยาบำรุงเลือดอย่างไร?

มีข้อห้ามใช้ยาบำรุงเลือด เช่น

1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ หรือมีปฏิกิริยาตอบสนองที่รุนแรง/ปฏิกิริยาไวเกิน (Hypersensitivity)ต่อยานั้นๆ

2. ห้ามใช้ยา Epoetin ในผู้ที่มีภาวะไขกระดูกไม่สร้างเม็ดเลือดแดง (Pure red cell aplasia, PRCA) ภาวะ/โรคความดันโลหิตสูงที่ไม่สามารถควบคุมได้ ผู้ที่รับประทานยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด ผู้มีมีภาวะไวเกินต่อแอลบูมิน(Albumin)

3. ก่อนฉีดยากลุ่ม G-CSF ให้กลับขวดยาไปมา ห้ามเขย่าขวดยาแรงๆ เพราะอาจทำให้ตัวยาเสื่อมสภาพ

4. ห้ามใช้ยากลุ่ม GM-CSF ภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากที่ผู้ป่วยมะเร็งได้รับยาเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษา

มีข้อควรระวังการใช้ยาบำรุงเลือดอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาบำรุงเลือด เช่น

1. การดูดซึมของธาตุเหล็กชนิดรับประทานจะขึ้นอยู่กับสภาวะของระบบทางเดินอาหาร เช่น สภาวะที่ระบบทางเดินอาหารเป็นกรดกรด จะทำให้ธาตุเหล็กถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดี ดังนั้นหากรับประทานธาตุเหล็กตอนท้องว่าง รับประทานร่วมกับน้ำส้มหรือ ร่วมกับอาหารที่มีวิตามินซีสูง จะช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้น แต่ในทางกลับกัน หากรับประทานธาตุเหล็กร่วมกับ นม ยาลดกรด น้ำชา หรือกาแฟ จะ ทำให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ลดลง

2. แม้ว่าการรับประทานธาตุเหล็กตอนท้องว่างจะทำให้ยาธาตุเหล็กถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดี แต่อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง)ต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ดังนั้นหากเกิดอาการดังกล่าว ควรรับประทานธาตุเหล็กพร้อมอาหาร หรือหลังอาหารทันที

3. ยา Iron dextran อาจทำให้เกิดอาการแพ้ยาชนิดรุนแรงที่เรียกว่า Anaphylaxis ได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยาต่างๆอยู่แล้ว หรือกำลังใช้ยาลดความดันโลหิตในกลุ่ม ACE inhibitors จะยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น ดังนั้นควรให้ยา Iron dextran ผู้ป่วยในขนาดทดลอง(Test dose)ก่อน และเฝ้าสังเกตอาการว่าผู้ป่วยจะเกิดอาการแพ้ยานี้หรือไม่ ก่อนที่จะเริ่มให้ยานี้ในขนาดของการรักษา (Therapeutic dose)

4. ควรระวังการใช้ วิตามินบี 12 ชนิดรับประทานร่วมกับยาต่อไปนี้ ได้แก่ยา Neomycin, Chloramphenicol, Colchicine, Metformin, Cholestyramine, Potassium chloride, Methyldopa, Cimetidine, และยาเม็ดคุมกำเนิด เพราะยาเหล่านี้รบกวนการดูดซึมของวิตามินบี 12

5. การใช้วิตามินบี 12 ร่วมกับยาต่อไปนี้ ได้แก่ ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย/ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) และยาต้านมะเร็ง/ยารักษาโรคมะเร็งในกลุ่มที่เรียกว่า Antimetabolites อาจทำให้การตรวจวัดระดับวิตามินบี 12 ในร่างกายได้ค่าที่คลาดเคลื่อนไป

6. ผู้ป่วยที่มีอาการแพ้ยาจากการใช้วิตามินบี 12 ในรูปแบบฉีด สามารถใช้วิตามินบี 12 รูปแบบรับประทานแทนได้โดยไม่ทำให้เกิดอันตรายใดๆ

7. เมื่อได้รับยา Epoetin แล้ว ควรตรวจติดตามระดับฮีโมโกลบินอย่างสม่ำเสมอทุกๆ 2-4 ครั้งต่อเดือนตามคำสั่งแพทย์ เพื่อควบคุมให้ค่าฮีโมโกลบินอยู่ในเป้าหมายของการรักษา เพราะยานี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต และต่อการเกิดโรคหัวใจ และ/หรือโรคหลอดเลือด เช่น หลอดเลือดอุดกั้นจากลิ่มเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง

8. ยา Epoetin เป็นยาที่พบอาการไม่พึงประสงค์จากยาได้บ่อย คือ ทำให้ความดันโลหิตสูง ดังนั้นหากผู้ป่วยมีประวัติเป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่ก่อนแล้ว ควรควบคุมระดับความดันโลหิตให้ได้ก่อนที่จะเริ่มใช้ยานี้ และควรตรวจติดตามระดับความดันโลหิตตลอดระยะเวลาการรักษาตามคำแนะนำของแพทย์

9. Epoetin เป็นยาที่พบอาการไม่พึงประสงค์ได้บ่อย คือ เกิดอาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว (Generalised tonic-clonic seizures) ดังนั้นควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคลมชัก

10. ควรระวังการใช้ยากลุ่ม G-CSF ในผู้ที่มีการติดเชื้อรุนแรง เพราะอาจทำให้เกิดการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน/กลุ่มอาการหายลำบากเฉียบพลัน(Acute respiratory distress syndrome)

11. ไม่แนะนำให้ใช้ยากลุ่ม G-CSF ในผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัดที่ไม่ได้หวังผลการรักษาให้หายขาด

การใช้ยาบำรุงเลือดในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาบำรุงเลือดในหญิงตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น

1. ธาตุเหล็ก, วิตามินบี 12 และโฟเลท เป็นยาที่ใช้ได้อย่างปลอดภัยในหญิงตั้งครรภ์ในตลอดระยะเวลาที่ตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันและรักษาภาวะโลหิตจางในหญิงมีครรภ์ซึ่งอาจทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า และอาจทำให้มารดาเกิดภาวะช็อกได้ในกรณีที่เสียเลือดมากจากการคลอด

2. ยาEpoetin, ยากลุ่ม G-CSF และยากลุ่ม GM-CSF เป็นยาที่ควรใช้ในหญิงมีครรภ์ก็ต่อเมื่อแพทย์พิจารณาแล้วว่า ประโยชน์จากยาที่มารดาได้รับ คุ้มค่าต่อความเสี่ยง/ผลข้างเคียงจากยาที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์

การใช้ยาบำรุงเลือดในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาบำรุงเลือดในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น

1. ภาวะโลหิตจางเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ และสามารถใช้ยาต่อไปนี้รักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค/ภาวะนี้ ได้แก่ ธาตุเหล็ก, วิตามินบี 12, และโฟเลท

พยาบาล เภสัชกร ว่า กำลังใช้ยาใดอยู่เป็นประจำ เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา (Drug interaction) ตัวอย่างเช่น หากรับประทานยาลดไขมัน Cholestyramine ร่วมกับธาตุเหล็ก จะส่งผลให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้น้อยลง

3. ควรระวังการใช้ยา Epoetin ในผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคตับ เพราะอาจทำให้อาการของโรคตับแย่ลง และการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง แพทย์จะปรับขนาดยาให้ได้ค่าฮีโมโกลบินอยู่ระหว่าง 10-12 กรัม/เดซิลิตร เพราะหากค่าฮีโมโกลบินสูงกว่าช่วงที่กำหนด หรือมีการเพิ่มของฮีโมโกลบินมากกว่า 1 กรัม/เดซิลิตร ภายใน 2 สัปดาห์ จะเพิ่มความเสี่ยงของผู้ป่วยต่อการเสียชีวิตและต่อการเกิดโรคหัวใจ และต่อโรคหลอดเลือด

การใช้ยาบำรุงเลือดในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาบำรุงเลือดในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น

1. ภาวะโลหิตจางในเด็กสามารถรักษาได้โดยใช้ยารักษาตามอาการเช่นเดียวกันกับในวัยอื่นๆ ได้แก่ ธาตุเหล็กและโฟเลทชนิดรับประทาน แต่ยังมีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยไม่เพียงพอในการใช้วิตามินบี 12 และธาตุเหล็กชนิดฉีดในผู้ป่วยเด็ก

2. ห้ามใช้ยาฉีดที่มี Benzyl alcohol เป็นสารกันเสีย/สารกันบูดในสูตรตำรับ เช่นยา Epoetin, ยากลุ่ม G-CSF และยากลุ่ม GM-CSF ในทารกแรกเกิดถึงอายุ 1 เดือน เพราะอาจทำให้เกิดภาวะ Gasping syndrome (ไม่หายใจ หรือหายใจไม่สม่ำเสมอ) และต้องใช้ยาดังกล่าวด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาบำรุงเลือดเป็นอย่างไร?

อาการไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)จากการใช้ยาบำรุงเลือด เช่น

1. ธาตุเหล็กชนิดรับประทาน ทำให้อุจจาระมีสีดำ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูกหรือท้องเสีย เบื่ออาหาร แสบร้อนกลางอก (Heartburn)

2. ธาตุเหล็กชนิดฉีด ทำให้เกิดอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง ความดันโลหิตต่ำ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ มึนงง เจ็บ/ปวดบริเวณที่ฉีดยา

3. วิตามินบี 12 มีโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาได้น้อยมาก ได้แก่ ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (Hypokalemia) และกรดยูริคในเลือดสูง (Hyperuricemia)

4. โฟเลท: ไม่พบอาการไม่พึงประสงค์เมื่อใช้ยานี้ในขนาดของการรักษา และถึงแม้จะใช้ยาในขนาดสูงก็ไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ใดๆ เช่นกัน เพราะตัวยาถูกขับออกจากร่างกายได้ดีโดยผ่านทางปัสสาวะ

5. Epoetin: อาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อย ได้แก่ ความดันโลหิตสูง (Hypertension) ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะความดันเลือดสูงขั้นวิกฤต (Hypertensive crisis) อาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว (Generalised tonic-clonic seizures) ซึ่งต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน อาการอื่นๆ ได้แก่ บวมน้ำ เวียนศีรษะ นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ คัน เจ็บตามผิวหนัง ผื่นขึ้น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูกหรือท้องร่วง/ท้องเสีย อาหารไม่ย่อย ปวดข้อ อาการชา ไอ แน่นจมูก/คัดจมูก หอบเหนื่อย

6. ยากลุ่ม G-CSF ทำให้เกิดอาการบวม แดง บริเวณที่ฉีดยา ปวดในกระดูก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ขึ้นผื่น เลือดกำเดาไหล โลหิตจาง เม็ดเลือดขาวมากผิดปกติ เกล็ดเลือดต่ำ

7. ยากลุ่ม GM-CSF อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์เมื่อมีการใช้ยานี้ครั้งแรก (First-dose reaction) คือ ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว ใบหน้าแดง วิงเวียน หน้ามืด เป็นลม อาการอื่นๆ ได้แก่ มีไข้ หนาวสั่น ท้องเสีย อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดข้อ ปวดในกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ ขึ้นผื่น หายใจลำบาก บวมบริเวณปลายมือปลายเท้า (Peripheral edema)

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาบำรุงเลือด) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. Wells, B.G., and others. Pharmacotherapy Handbook. 8th edition. USA: McGraw-Hill, 2012.
  2. กิติยศ ยศสมบัติ. Comprehensive Pharmacy review. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร: นานนะภงค์; 2554.
  3. คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ. คู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลตามบัญชียาหลักแห่งชาติ บัญชี จ(2) http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/sites/default/files/jor_2_proof_8-final.pdf[2017,Sept23]
  4. วิระพล ภิมาลย์. เภสัชกรรมบาบัดในผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิต http://www.kpi.msu.ac.th/upload/ag_tor_ref_byval/ag_16_in_1.2.4_876(2555).pdf [2017,Sept23]
  5. ธีระ ทองสง. Anemia in Pregnancies http://www.medicine.cmu.ac.th/dept/obgyn/2011/index.php?option=com_content&view=article&id=175:pregnancy-with-anemia&catid=38&Itemid= [2017,Sept23]