ยาทำแท้ง ใกล้แจ้งเกิดแล้ว (ตอนที่ 4 และตอนสุดท้าย)

นพ. กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย สธ. กล่าถึง ยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ.2553-2557 ในหัวข้อที่ 3 ว่า ได้ให้ความสำคัญกับวัยรุ่น โดยโรงพยาบาลทุกระดับจัดบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์สำหรับวัยรุ่นอย่างมีคุณภาพ ผ่านคลินิกที่เป็นมิตรที่จะเปิดเร็วๆ นี้ เพื่อให้บริการคำแนะนำ ปรึกษา พร้อมวิธีการแก้ไขปัญหาอนามัยการเจริญพันธุ์ อาทิ วิธีการคุมกำเนิด [และการทำแท้งที่ถูกกฎหมาย]

การทำแท้งอย่างถูกกฎหมายในประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นหัตถการหนึ่งในทางการแพทย์ที่ปลอดภัยมาก อาทิในสหรัฐอเมริกา ความเสี่ยงของการเสียชีวิตของมารดาจากการทำแท้งระหว่างปี พ.ศ. 2541 ถึง พ.ศ. 2548 เท่ากับ 0.6 ครั้งในการทำแท้ง 100,000 ครั้ง ซึ่งปลอดภัยกว่าการคลอดบุตรถึง 14 เท่า เพราะการคลอดบุตรทำให้มารดาเสียชีวิต 8.8 ครั้งต่อการคลอดบุตรมีชีวิต 100,000 ครั้ง

การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยเป็นสาเหตุการตายของมารดา 68,000 คน และการบาดเจ็บของสตรี 5 ล้านคนจากทั่วโลกทุกๆ ปี ในแต่ละปีมีการทำแท้งเกิดขึ้น 42 ล้านครั้งทั่วโลก โดยในจำนวนนี้มีถึง 20 ล้านครั้งที่ทำโดยไม่ปลอดภัย และ 97% นั้นเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้ มีเพียงร้อยละ 49 ของประชากรหญิงทั่วโลกที่เข้าถึงการทำแท้งเพื่อการรักษาและการทำแท้งโดยสมัครใจในอายุครรภ์ที่เหมาะสม

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) จึงกระตุ้นให้สาธารณชนตระหนักถึงการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย การฝึกการทำแท้งที่ถูกกฏหมายแก่บุคลากรทางการแพทย์ และการเพิ่มการเข้าถึงของบริการทางอนามัยเจริญพันธุ์ อุบัติการณ์ของการทำแท้งทั่วโลกลดลงจาก 45.6 ล้านรายในปี พ.ศ. 2538 เป็น 41.6 ล้านรายในปี พ.ศ. 2546 อันเป็นผลจากการเข้าถึงสุขศึกษาการวางแผนครอบครัวและการคุมกำเนิดที่มีมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แต่ละประเทศทั่วโลกมีมิติทางกฎหมาย ศาสนา วัฒนธรรม และค่านิยมต่อการทำแท้งแตกต่างกันไป การทำแท้งเป็นประเด็นทางการเมืองในหลายประเทศ ทั้งในสายสนับสนุนที่เห็นว่าการทำแท้งเป็นสิทธิของสตรีที่ตั้งครรภ์ และสายต่อต้านที่เห็นว่าทารกที่กำเนิดขึ้นมาในครรภ์มีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ด้วยเช่นกัน

บางครั้ง สตรีที่หาหนทางยุติการตั้งครรภ์ของตนก็หันมาใช้วิธีการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ในกรณีที่ไม่สามารถทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมาย บางรายก็พยายามทำแท้งด้วยตนเอง บางรายกก็ให้ผู้อื่นที่ไม่มีทักษะ หรือไม่ผ่านการฝึกฝนอย่างถูกต้องหรือไม่ถูกสุขอนามัยเป็นผู้กระทำให้ ปัจจัยต่างๆ นี้มีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง อาทิ การแท้งไม่ครบ ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ การตกเลือด และการบาดเจ็บต่ออวัยวะภายใน

ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่บ่งถึงการเชื่อมโยงระหว่างการทำแท้งกับปัญหาสุขภาพจิต แม้สตรีมักจะรู้สึกโล่งใจหลังการทำแท้ง แต่ก็มีหลายปัจจัยที่น่าจะเพิ่มขึ้นที่เกิดความรู้สึกเชิงลบหลังการแท้ง อาทิ ความผูกพันทางอารมณ์กับการตั้งครรภ์ การขาดแรงสนับสนุนจากสังคม หรือผลกระทบจากปัญหาทางจิตเวชที่มีอยู่เดิม

อย่างไรก็ตาม สมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychology Association: APA) ได้สรุปว่าการแท้งครั้งเดียวไม่มีผลต่อสุขภาพจิตของสตรี และการแท้งใน 3 เดือนแรกก็ไม่ได้มีความน่าจะเป็นที่จะทำให้สตรีมีปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าการตั้งครรภ์ต่อไปจนครบกำหนดคลอด และ การทำแท้งจากหลัง 3 เดือนแรกจากความผิดปกติของทารกในครรภ์ก็ไม่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตแต่อย่างใด

แหล่งข้อมูล:

  1. ไฟเขียวใช้ยายุติท้องไม่พร้อมได้ผลดีกว่ากินยาคุมฉุกเฉิน-ทำแท้ง/เริ่ม4รพ. http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/news/27049 [2012, March 11].
  2. Medical abortion. http://en.wikipedia.org/wiki/Medical_abortion [2012, March 11].
  3. การทำแท้ง http://th.wikipedia.org/wiki/การทำแท้ง [2012, March 11].