ยาต้านเศร้า (Antidepressants)

บทความที่เกี่ยวข้อง




ยาต้านเศร้า

ยาต้านเศร้าหมายถึงยาที่มีคุณสมบัติอย่างไร?

ยาต้านเศร้า หรือยารักษาโรคซึมเศร้า หรือยาโรคซึมเศร้า(Antidepressant) เป็นยาที่ช่วยปรับระดับสารสื่อประสาทในสมองของผู้ป่วยให้อยู่ในระดับปกติ จึงสามารถรักษาอาการซึมเศร้า รวมทั้งป้องกันการกลับเป็นซ้ำของอาการซึมเศร้าได้ แต่ยากลุ่มนี้ไม่ได้ออกฤทธิ์ในทันที ต้องใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 8-12 สัปดาห์หลังใช้ยา ถึงจะเห็นผลการรักษาที่ดีขึ้น หลังจากผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นแล้ว ยังคงต้องรับประทานยาต่อเนื่องอีกเป็นเวลานานประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี เพื่อลดโอกาสกลับมามีอาการซ้ำ แพทย์ผู้รักษาจะค่อยๆลดระดับยานี้ลงเรื่อยๆ จนกระทั่งหยุดใช้ยานี้ในที่สุด เพราะการหยุดใช้ยานี้ในทันทีจะทำให้เกิดอาการถอนยา (Withdrawal symtomps) ได้ เช่น กระสับกระส่าย, หงุดหงิด, นอนไม่หลับ เป็นต้น

ยาต้านเศร้ามีกี่กลุ่ม?

ยาต้านเศร้าแบ่งออกเป็นกลุ่มต่างๆได้ดังนี้

ก. ยาที่ออกฤทธิ์จำเพาะต่อสารสื่อประสาท ซีโรโทนิน/Serotonin (Selective serotonin reuptake inhibitors ย่อว่า SSRIs) เช่นยา ซิตาโลแพรม (Citalopram), เอสซิตาโลแพรม (Escitalopram), ฟลูออกซีทีน (Fluoxetine), ฟลูว็อกซามีน (Fluvoxamine), พาร็อกซีทีน (Paroxetine), เซอร์ทราลีน (Sertraline)

ข. ยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งสารสื่อประสาทซีโรโทนิน และนอร์เอพิเนฟริน/Norepinephrine (Serotonin-norepinephrine reuptake inhibitors ย่อว่า SNRIs) เช่นยา ดูล็อกซีทีน (Duloxetine), เวนลาฟาซีน (Venlafaxine), เดสเวนลาฟาซีน (Desvenlafaxine)

ค. ยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งสารสื่อประสาทนอร์เอพิเนฟรินและโดปามีน/Dopamine (Norepinephrine and Dopamine Reuptake Inhibitors ย่อว่า NDRIs) เช่นยา บูโพรพิออน (Bupropion)

ง. ยากลุ่ม Tricyclic Antidepressants (TCAs) เช่นยา โคลมิพรามีน (Clomipramine), อิมิพรามีน (Imipramine), เดสิพรามีน (Desipramine), อะมิทริปไทลีน (Amitriptyline), นอร์ทริปไทลีน (Nortriptyline)

จ. ยายับยั้งเอนไซม์โมโนเอมีนออกซิเดส (Monoamine oxidase inhibitors ย่อว่า MAOIs) เช่นยา ไอโซคาร์บอกซาซิด (Isocarboxazid), ฟีเนลซีน (Phenelzine), ทรานิลซัยโปรมีน (Tranylcypromine), โมโคลบีมายด์ (Moclobemide), เซเลจิลีน (Selegiline)

ฉ. ยากลุ่มใหม่ที่ไม่สามารถจัดรวมกับกลุ่มอื่นได้ (Atypical antidepressants) เช่นยา เมอร์ทาซาปีน (Mirtazapine), ทราโซโดน (Trazodone), ไวลาซาโดน (Vilazadone)

ยาต้านเศร้ามีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไรบ้าง?

ยาต้านเศร้ามีรูปแบบการจัดจำหน่ายได้หลายรูปแบบ ได้แก่

  • ยาเม็ด (Tablet)
  • ยาน้ำใส (Solution)
  • ยาแคปซูล (Capsule)
  • ยาเม็ดแตกตัวในช่องปาก (Orally disintegrating tablets)
  • แผ่นแปะผิวหนัง (Transdermal patch)

มีข้อบ่งใช้ยาต้านเศร้าอย่างไร?

ข้อบ่งใช้ของยาต้านเศร้า ได้แก่

1. รักษาอาการของโรคซึมเศร้า (Depression) ที่สัมพันธ์ หรือไม่สัมพันธ์กับอาการวิตกกังวล (Anxiety)

2. รักษาโรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive compulsive disorder ย่อว่า OCD)

3. รักษาโรคตื่นตระหนก (Panic disorder) ที่มีหรือไม่มีอาการกลัวการอยู่ในที่โล่งหรือที่ชุมชน (Agoraphobia)

4. รักษาโรคกลัววัตถุหรือสถานการณ์เฉพาะอย่าง (Specific phobia)

5. รักษาโรคเครียดจากเหตุการณ์ร้ายแรง (Post traumatic stress disorder, PTSD)

6. รักษาโรคกลัวการเข้าสังคม (Social anxiety disorder)

7. รักษาโรคอารมณ์แปรปรวนก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual dysphoric disorder ย่อว่า PMDD)

ยาต้านเศร้ามีข้อห้ามใช้อย่างไร?

ยาต้านเศร้ามีข้อห้ามใช้ ดังนี้ เช่น

1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยาต้านเศร้านั้นๆ

2. ห้ามใช้ยากลุ่ม SSRIs ร่วมกับยากลุ่ม MAOIs และหากต้องการเปลี่ยนยาจากกลุ่ม SSRIs ไปเป็นกลุ่ม MAOIs ควรเว้นระยะห่างกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ยกเว้นยา Fluoxetine ควรห่างกันอย่างน้อย 6 สัปดาห์

3. ห้ามใช้ยา Bupropion ในผู้ป่วยโรคลมชัก, ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร (Anorexia nervosa), ผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่ม MAOIs ร่วมด้วย

มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านเศร้าอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านเศร้า เช่น

1. ระวังการใช้ยานี้ร่วมกับยากลุ่มที่กระตุ้นฤทธิ์สารสื่อประสาทซีโรโทนิน/Serotonin (Serotonergic drugs) เช่นยา ยาต้านเศร้ากลุ่ม SSRIs, SNRIs, MAOIs และยาอื่นๆ เช่น ยากลุ่ม Triptans, เฟนทานิล (Fentanyl), ยากลุ่มอนุพันธ์ของเฟนทานิล (Fentanyl analougues), เดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan), ทรามาดอล (Tramadol), เฟนฟลูรามีน (Fenfluramine), เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดกลุ่มอาการซีโรโทนิน (Serotonon syndrome ย่อว่า SS) ได้

2. ยากลุ่ม SSRIs โดยเฉพาะ Fluoxetine และ Paroxetine มีคุณสมบัติเป็นตัวยับยั้งการทำงานของเอนไซม์บางตัว(Enzyme inhibitor) จึงมีผลเพิ่มระดับยาอื่นๆในเลือด เช่นยา เมโทโพรลอล (Metoprolol), Amitriptyline, ฮาโลเพอริดอล (Haloperidol), ริสเพอริโดน (Risperidone), ทีโอฟิลลีน(Theophylline), และวาร์ฟาริน (Warfarin) เนื่องจากยาเหล่านี้จะถูกเปลี่ยนแปลงด้วยเอนไซม์และขับออกจากร่างกายได้น้อยลง ทำให้มีระดับยาในร่างกายมากเกินไป จนอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่สูงขึ้นจากการใช้ยาเหล่านี้ได้ จึงควรระมัดระวังการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกัน

3. ไม่ควรใช้ยา Venlafaxine ในผู้ป่วยที่มีประวัติโรคหัวใจล้มเหลว, โรคหลอดเลือดหัวใจ, มีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ (ECG Abnormality), เพราะหากได้รับยานี้มากเกินไปอาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือเป็นพิษต่อหัวใจมากขึ้นได้

4. ไม่ควรใช้ยากลุ่ม TCAs ในผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Ischemic heart disease, IHD) เพราะอาจทำให้อาการของโรคแย่ลง เนื่องจากยากลุ่มนี้มีอาการไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง)คือ ทำให้ความดันโลหิตต่ำ และหัวใจเต้นผิดจังหวะ

5. ระวังการใช้ยากลุ่ม TCAs ร่วมกับยาต่อไปนี้ เช่นยา อะมิโอดาโรน (Amiodarone), โซทาลอล (Sotalol), ยาต้านเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม Macrolides, ยาต้านเชื้อรากลุ่ม Azoles, เพราะอาจเพิ่มโอกาสเกิดพิษต่อหัวใจ (Cardiotoxic effects) ได้

6. ระวังการใช้ยากลุ่ม MAOIs รวมกับอาหารที่มีสารไทรามีน (Tyramine, อาหารที่มีกรดอะมิโนกลุ่ม Tyrosine ซึ่งร่างกายนำไปใช้ในการสร้างสารโปรตีน) สูง เช่น ไวน์, เบียร์, ชีส, กล้วย, อะโวคาโด, อาหารหมักดอง, และอาหารที่มียีสต์(Yeast,เชื้อราที่ใช้หมักอาหาร) เป็นส่วนประกอบ เพราะอาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงขั้นวิกฤต (Hypertensive crisis) ได้

การใช้ยาต้านเศร้าในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

ข้อควรทราบในการใช้ยาต้านเศร้าในหญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร เช่น

1. หญิงตั้งครรภ์สามารถใช้ยาในกลุ่ม TCAs ได้ แต่แพทย์จะเลือกยาตัวเก่าๆที่มีใช้มานานแล้ว เพราะมีข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้มากกว่ายาตัวใหม่ๆ โดยยากลุ่มนี้ที่แพทย์เลือกใช้ เช่น Clomipramine, Imipramine, Desipramine, Amitriptyline, Nortriptyline

2. ในหญิงตั้งครรภ์ แพทย์สามารถเลือกใช้ยากลุ่ม SSRIs ได้ ยกเว้น ยาParoxetine เพราะมีรายงานว่า หญิงตั้งครรภ์ที่ใช้ยานี้ในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ อาจให้กำเนิดทารกที่มีความผิดปกติของหัวใจตั้งแต่กำเนิด (Congenital cardiac defects) ได้

3. ไม่ควรใช้ยากลุ่ม MAOIs ในหญิงตั้งครรภ์ เพราะยังมีข้อมูลการใช้ยากลุ่มนี้จำกัด นอกจากนั้นยาในกลุ่มนี้ ยังมีโอกาสเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น และกับอาหารต่างๆในกลุ่มที่มีสารTyramineได้ ดังนั้น แพทย์มักเลือกใช้ยากลุ่มนี้ ก็ต่อเมื่อใช้ยาต้านเศร้ากลุ่มอื่นไม่ได้ผลแล้วเท่านั้น

การใช้ยาต้านเศร้าในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

ข้อควรทราบในการใช้ยาต้านเศร้าในผู้สูงอายุ เช่น

1. เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีโรคประจำตัว รวมทั้งมีการใช้ยาหลายชนิดอยู่แล้ว การเลือกใช้ยาต้านเศร้า จึงต้องระวังการเกิดการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา (Drug interaction) รวมทั้งควรต้องเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์จากยาต่างๆที่ใช้อยู่ เช่น ภาวะความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่าทาง/ความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืน (Orthostatic hypotension) เป็นต้น

2. ยาต้านเศร้ากลุ่มที่แพทย์มักเลือกใช้เป็นกลุ่มแรกในผู้สูงอายุ คือ SSRIs แต่เนื่องจากวัยสูงอายุจะตอบสนองต่อยาได้ช้ากว่าวัยอื่นๆ จึงอาจต้องใช้เวลามากกว่า 12 สัปดาห์กว่าจะเห็นผลการรักษา โดยแพทย์มักเริ่มการรักษาจากขนาดยาที่ต่ำก่อน และค่อยๆปรับขนาดของยาขึ้นเรื่อยๆตามลำดับ ตามการตอบสนองของผู้สูงอายุ

การใช้ยาต้านเศร้าในเด็กควรเป็นอย่างไร?

ข้อควรทราบในการใช้ยาต้านเศร้าในเด็ก เช่น

1. การใช้ยาต้านเศร้าทุกชนิดในผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่น (อายุน้อยกว่า 25 ปี) อาจทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงในการทำร้ายตัวเอง และ/หรือฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น ดังนั้นครอบครัวควรติดตามและเฝ้าระวังพฤติกรรมที่ไม่ปกติของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ถ้าสังเกตเห็นความผิดปกติในอารมณ์ผู้ป่วย ควรรีบนำผู้ป่วยพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล โดยไม่ต้อรอถึงวันนัด

2. ยา Fluoxetine เป็นยาที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยในผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่น มากกว่ายาต้านเศร้าตัวอื่น ในการรักษา แพทย์มักเริ่มการรักษาจากขนาดยาที่ต่ำก่อน และค่อยๆปรับขนาดของยาขึ้นเรื่อยๆตามลำดับ โดยประเมินจากการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาต้านเศร้าเป็นอย่างไร?

อาการไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง)จากการใช้ยาต้านเศร้า เช่น

1. ยากลุ่ม SSRIs ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ท้องผูกหรือไม่ก็ ท้องเสีย กระสับกระส่าย หงุดหงิด นอนไม่หลับหรือง่วงนอน เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ น้ำหนักตัวลด(จากการใช้ยา Fluoxetine) น้ำหนักตัวเพิ่ม(จากการใช้ ยา Paroxetine) และเพิ่มความเสี่ยงของการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะการใช้ยานี้ในเด็กและวัยรุ่น

2. ยากลุ่ม SNRIs ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ มึนงง นอนไม่หลับ หรือง่วงนอน เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ปากแห้ง เหงื่อออกมาก ท้องผูก ความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มสูงขึ้น เพิ่มความเสี่ยงของการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะการใช้ยานี้ในเด็กและวัยรุ่น

3. ยา Bupropion ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ กระสับกระส่าย วิตกกังวล นอนไม่หลับ ทำให้ชัก เพิ่มความเสี่ยงของการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะการใช้ยานี้ในเด็กและวัยรุ่น

4. ยากลุ่ม TCAs ทำให้เกิดอาการ ท้องผูก ปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด ปากแห้ง ความดันในลูกตาเพิ่มสูงขึ้น ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่าทาง/ความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืน ง่วงนอน เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เพิ่มความเสี่ยงของการฆ่าตัวตายโดยเฉพาะการใช้ยานี้ในเด็กและวัยรุ่น

5. ยากลุ่ม MAOIs ทำให้ความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่าทาง ง่วงนอน เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ น้ำหนักตัวเพิ่ม นอนไม่หลับ เพิ่มความเสี่ยงของการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะการใช้ยานี้ในเด็กและวัยรุ่น

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมถึงยาต้านเศร้า) ยาแผนโบราญทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. สิริพรรณ พัฒนาฤดี ภาควิชาเภสัชกรรมปฏิบัติ. Anti-anxiety and Antidepressants. คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2555. (อัดสำเนา)
  2. มานิตย์ วัชร์ชัยนันท์. Depression. [ออนไลน์]. 2556. แหล่งที่มา: http://vatchainan2.blogspot.com/2013/06/depression-3-drug-therapy.html [2016,July30]
  3. คณะทำงานจัดทำแนวทางการจัดการโรคซึมเศร้าสำหรับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปในสถานบริการระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิ กรมสุขภาพจิต. แนวทางการจัดการโรคซึมเศร้า สำหรับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปในสถานบริการระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิ http://www.thaidepression.com/www/news54/CPG-MDD-GP.pdf. [2016,July30]
  4. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการดูแลเฝ้าระวังโรคซึมเศร้าระดับจังหวัด http://www.thaidepression.com/www/58/guidebookdepress.pdf. [2016,July30]
  5. Schaefer C., Peters P., and Miller R.K., Drugs During Pregnancy and Lactation. 2nd edition. Great Britain: Elsevier, 2007.
  6. Lacy C.F., et al. Drug information handbook with international trade names index. 19th ed. Ohio : Lexi-comp, 2011.