ยาต้านเศร้าเอ็นเอเอสเอสเอ (NaSSA: Noradrenergic and specific serotonergic antidepressant)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ยาต้านเศร้า หรือ ยารักษาโรคซึมเศร้าประเภทเอ็นเอเอสเอสเอ (NaSSA: Noradrener gic and specific serotonergic antidepressant)  คือ กลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ที่เซลล์ประสาทกับ      ตัวรับ(Receptor) ที่เรียกว่า Alpha2-adrenergic receptor และ Serotonin receptors ด้วยการออกฤทธิ์ที่จำเพาะเจาะจงต่อเซลล์ประสาทในสมอง และยังทำให้สมดุลของสารเคมีในสมอง กลับมาสู่ในระดับที่เป็นปกติหรือใกล้เคียงกับปกติ จึงช่วยปรับภาวะอารมณ์เศร้าให้กลับดีขึ้นได้

แนวทางการเลือกใช้ยาต้านเศร้าตัวใดนั้น จิตแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาถึงความเหมาะสม โดยมีเหตุผลต่างๆมาประกอบกันอาทิเช่น

  • ระดับความรุนแรงของโรคซึมเศร้า
  • ระยะเวลาของการป่วยด้วยโรคซึมเศร้า
  • การตอบสนองของผู้ป่วยต่อยาที่ถูกนำมาใช้รักษา
  • วัย เพศ สภาพร่างกายของผู้ป่วยขณะนั้น
  • พฤติกรรมในชีวิตประจำวันของผู้ป่วย
  • อื่นๆ

ทั้งนี้ อาจจัดแบ่งยาต้านเศร้าประเภทเอ็นเอเอสเอสเอออกเป็นรายการได้ดังนี้

  • Aptazapine: เป็นตัวยาที่ออกฤทธิ์ที่ตัวรับ/ หน่วยรับความรู้สึกในสมองที่ชื่อ Alpha2-adrenergic receptors แต่ยานี้ยังไม่มีการวางจำหน่ายในตลาดยา
  • Esmirtazapine: เป็นตัวยาที่ออกฤทธิ์ที่สมองที่ตัวรับ Alpha2-adrenergic receptors และตัวรับ Serotonin receptors พัฒนาโดยบริษัทออกานอน (Organon) ถูกพัฒนาเพื่อรักษาอาการนอนไม่หลับ โดยมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยารับประทาน
  • Mianserin: มีการออกฤทธิ์ที่สมองที่ตัวรับ Alpha2-adrenergic receptor และตัวรับ Serotonin receptors นอกจากใช้เป็นยาต้านเศร้าแล้ว ยังใช้เป็นยาคลายความกังวล/ยาคลายเครียด ช่วยให้นอนหลับ มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยารับประทานยาชื่อการค้าที่รู้จักกันคือ Tolvon
  • Mirtazapine: มีการออกฤทธิ์ที่สมองที่ตัวรับ Alpha2-adrenergic receptor และตัวรับ Serotonin receptors มีฤทธิ์ต้านเศร้า คลายความกังวล ช่วยให้นอนหลับ ลดอาการอาเจียน ทำให้อยากอาหาร มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทาน ยาชื่อการค้าที่รู้จักกันดีคือ Remeron
  • Setiptiline: มีการออกฤทธิ์ที่สมองที่ตัวรับ Alpha2-adrenergic receptor และตัวรับ Serotonin receptors ถูกพัฒนาเป็นยาชนิดรับประทาน และนำมาใช้เป็นยาต้านเศร้าในแถบประเทศญี่ปุ่น

อนึ่ง มียาบางตัวในกลุ่มยาเอ็นเอเอสเอสเอนี้ที่คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุให้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ  เช่นยา Mianserin และจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย

ข้อสำคัญการเลือกใช้ยากลุ่มนี้รายการใดเพื่อรักษาผู้ป่วยได้เหมาะสมปลอดภัยจึงเป็นหน้าที่ของแพทย์แต่เพียงผู้เดียว

ยาต้านเศร้าเอ็นเอเอสเอสเอมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ยาต้านเศร้าเอ็นเอเอสเอสเอมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น     

  • รักษาอาการของโรคซึมเศร้า
  • รักษาอาการของโรควิตกกังวล
  • ใช้เป็นยานอนหลับ

ยาต้านเศร้าเอ็นเอเอสเอสเอมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

 กลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่มเอ็นเอเอสเอสเอคือ ตัวยาจะแข่งขันเข้าจับกับตัวรับในสมองที่มีชื่อว่า Alpha2-adrenergic receptor และ Serotonin receptor จนก่อให้เกิดการปรับสมดุลของสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ให้กลับมาใกล้เคียงปกติหรือเป็นปกติ

ยาต้านเศร้าเอ็นเอเอสเอสเอมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาต้านเศร้า เอ็นเอเอสเอสเอมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ตัวอย่าง เช่นยา

  • Mianserin : ยาเม็ดรับประทาน ขนาด 10 และ 30 มิลลิกรัม/เม็ด
  • Mirtazapine: ยาเม็ดรับประทาน ขนาด 15, 30, 45 มิลลิกรัม/เม็ด

ยาต้านเศร้าประเภทเอ็นเอเอสเอสเอมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดรับประทานของยาแต่ละรายการของยากลุ่มเอ็นเอเอสเอสเอย่อมมีความแตกต่างกันออกไป แพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้พิจารณาขนาดรับประทานได้อย่างเหมาะสม ในที่นี้ขอยกตัวอย่าง ขนาดการใช้ยาในยา 2 ตัว เช่นยา

  • Mirtazapine: ผู้ใหญ่: เช่น รับประทาน 15 - 45 มิลลิกรัม/วัน
  • Mianserin: ผู้ใหญ่: เช่น รับประทาน 30 - 90 มิลลิกรัม/วัน

* อนึ่ง:

  • ห้ามใช้ยากลุ่มเอ็นเอเอสเอสเอกับเด็กที่อายุต่ำกว่า18 ปีลงมา และต้องเฝ้าระวังการใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ที่มีอายุช่วง 18 - 24 ปี ด้วยยากลุ่มนี้สามารถทำให้ผู้ป่วยช่วงวัยนี้เกิดอารมณ์แปรปรวน และก่อให้เกิดความคิดอยากฆ่าตัวตาย
  • ยาทั้ง 2 ตัวดังกล่าวสามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยากลุ่มเอ็นเอเอสเอสเอ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย  
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยากลุ่มเอ็นเอเอสเอสเออาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยากลุ่มเอ็นเอเอสเอสเอ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า

ยาต้านเศร้าประเภทเอ็นเอเอสเอสเอมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาต้านเศร้าเอ็นเอเอสเอสเอสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้าง เคียง)  เช่น

  • ปากคอแห้ง
  • ท้องผูก
  • อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น
  • ข้ออักเสบ
  • กดไขกระดูก (ตรวจเลือด ซีบีซี พบ เม็ดเลือดแดงต่ำ, เม็ดเลือดขาวต่ำ, เกล็ดเลือดต่ำ)
  • เกิดภาวะดีซ่าน
  • กระตุ้นให้อยากอาหาร ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม
  • มีอาการบวมของร่างกาย
  • ง่วงนอน
  • วิงเวียน
  • ปวดหัว
  • ตรวจเลือดจะพบค่าเอนไซม์การทำงานของตับมีปริมาณเพิ่มขึ้น
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • มีผื่นคันตามผิวหนัง
  • ฝันร้าย
  • ประสาทหลอน
  • ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • เกิดอาการชัก
  • ตรวจเลือดพบเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ
  • ปวดข้อ
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • เกิดภาวะทางเลือด เช่น เม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆต่ำ (เช่น Agranulocytosis, Leucopenia, และ Granulocytopenia)

*อนึ่ง: สำหรับผู้ที่ได้รับยากลุ่มนี้เกินขนาด จะมีอาการ ง่วงนอน ความจำเสื่อม หัวใจเต้นเร็ว   การรักษา แพทย์จะทำให้ร่างกายของผู้ป่วยได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ  เช่น ให้ออกซิเจน และควบคุมการทำงานของหัวใจให้เป็นปกติ รวมถึงจะไม่ทำให้ผู้ป่วยอาเจียน (เพราะอาจสำลักเศษอาหารเข้าปอด) และแพทย์อาจล้างท้องให้ในกรณีที่เพิ่งรับประทานยาเกินขนาดมาใหม่ๆ

มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านเศร้าเอ็นเอเอสเอสเออย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านเศร้าเอ็นเอเอสเอสเอ  เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
  • ห้ามใช้ยากับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ร่วมกับยากลุ่ม เอมเอโอไอ (MAOIs) ควรเว้นระยะเวลาหยุดการใช้ยา MAOIs อย่างน้อยประมาณ14 วันก่อนใช้ยานี้
  • ห้ามใช้ยากลุ่มนี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา และต้องเฝ้าระวังการใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ที่มีอายุช่วง 18 - 24 ปี ด้วยยากลุ่มนี้สามารถทำให้ผู้ป่วยช่วงวัยนี้เกิดอารมณ์แปรปรวนและก่อให้เกิดความคิดอยากฆ่าตัวตาย
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคพอร์ฟิเรีย (Porphyria:โรคทางพันธุกรรมที่พบได้น้อยที่มีความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง)
  • ห้ามหยุดรับประทานยากลุ่มนี้เองด้วยอาจก่อให้เกิดภาวะถอนยา/ลงแดง ตามมา
  • ระวังการใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ป่วยโรคลมชัก หรือเคยมีประวัติชัก ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ป่วย โรคหัวใจและหลอดเลือด (เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ภาวะหัวใจล้มเหลว) ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยไบโพลาร์/อารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder) ผู้ป่วยโรคต้อหิน  ผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต
  • หยุดใช้ยากลุ่มนี้ทันทีถ้าพบอาการดีซ่านเกิดขึ้นกับผู้ป่วย
  • หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานกับเครื่องจักรในระหว่างที่ใช้ยากลุ่มนี้ เพราะยากลุ่มนี้จะทำให้ง่วงนอน ประสาทหลอน จึงอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ระวังการใช้ยากลุ่มนี้กับสตรีตั้งครรภ์และผู้สูงอายุ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาต้านเศร้าเอ็นเอเอสเอสเอด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร            ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาต้านเศร้าเอ็นเอเอสเอสเอมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาต้านเศร้าเอ็นเอเอสเอสเอมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาต้านเศร้า ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบจะทำให้เกิดอาการง่วงนอนอย่างมาก จึงถือเป็นข้อห้ามรับประทานยากลุ่มนี้พร้อมเครื่องดื่มประเภทสุราโดยเด็ดขาด
  • การใช้ Mirtazapine ร่วมกับยา Dextromethorphan, Fentanyl, Nortriptyline อาจเกิด ความเสี่ยงต่อ กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome: มักมีอาการ สับสน ประสาทหลอน  ชัก  ความดันโลหิตเปลี่ยน มีไข้  หัวใจเต้นเร็ว) กรณีอาการรุนแรงอาจเกิดภาวะโคม่าและตายในที่สุด จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มร่วมกัน
  • การใช้ยา Mianserin ร่วมกับยา Phenobarbitone, Carbamazepine และ Phenytoin อาจทำให้ระดับความเข้มข้นของ Mianserin ในกระแสเลือดลดต่ำลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษายาต้านเศร้าประเภทเอ็นเอเอสเอสเออย่างไร?

ควรเก็บยากลุ่มเอ็นเอเอสเอสเอ:

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ยาต้านเศร้าเอ็นเอเอสเอสเอมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยากลุ่มเอ็นเอเอสเอสเอ  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต  เช่น

ป้องกันกลุ่มอาการเซโรโทนินอย่างไร?

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Remeron SolTab (เรเมอรอน โซลแท็บ) MSD
Mealin (มีลิน) Central Poly Trading
Tolimed (โทลิเมด) Medifive
Tolvon (โทลวอน) MSD
Servin (เซอร์วิน) Condrugs
Mianserin Remedica (เมียนเซอริน เรเมดิกา) Remedica

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Noradrenergic_and_specific_serotonergic_antidepressant  [2022,April2]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Antidepressant  [2022,April2]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Aptazapine  [2022,April2]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Esmirtazapine  [2022,April2]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Mianserin  [2022,April2]
  6. https://www.mims.com/thailand/drug/info/mianserin?mtype=generic  [2022,April2]
  7. https://go.drugbank.com/drugs/DB06148  [2022,April2]
  8. http://ndi.fda.moph.go.th/drug_detail/index/?ndrug=2&rctype=1C&rcno=4200072&lpvncd=&lcntpcd=&lcnno=&licensee_no=  [2022,April2]