ยาช่วยระบบหัวใจและหลอดเลือด (Vasoactive Drugs)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ในภาวะปกติ ร่างกายของมนุษย์มีฮอร์โมนหรือสารเคมีชนิดต่างๆ ที่ทำหน้าที่รักษาสมดุลความดันโลหิตของร่างกาย เช่น ฮีสตามีน(Histamine) แองจิโอเทนซิน (Angiotensin) บราดีไคนิน (Bradykinin) ไนตริกออกไซด์ (Nitric Oxide) เป็นต้น แต่ในผู้ป่วยภาวะวิกฤติบางประเภท เช่น มีอาการช็อก (เกิดความไม่สมดุลของปริมาณออกซิเจนในร่างกาย) จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเพิ่มการส่งเลือดไปยังอวัยวะสำคัญ ได้แก่สมองและหัวใจ จึงต้องมีการใช้ยาในกลุ่ม ’ยาช่วยระบบหัวใจและหลอดเลือด หรือ ยาช่วยการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด(Vasoactive Drugs)’ ซึ่งออกฤทธิ์เพิ่มการส่งเลือดไปยังสมองและหัวใจผ่านกระบวนการใดกระบวนการหนึ่งหรือหลายอย่าง ดังนี้

1. ยาที่เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ (Chronotropic Effects)

2. ยาที่เพิ่มการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ (Inotropic Effects)

3. ยาที่เพิ่มความดันโลหิต (Vasoconstrictive Effects)

ยากลุ่มนี้หลายชนิดมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาไม่จำเพาะกับตัวรับ(Receptor) กล่าวคือ ยาจะจับกับตัวรับที่ประสงค์เพื่อออกฤทธิ์ ในขณะเดียวกันก็จับกับตัวรับอื่นๆ ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาได้ต่างๆ ดังนั้น การใช้ยาในกลุ่มนี้ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

ยาช่วยระบบหัวใจและหลอดเลือดมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ยาช่วยระบบหัวใจและหลอดเลือด

ยาช่วยระบบหัวใจและหลอดเลือดมีข้อบ่งใช้ในการรักษาสมดุลการไหลเวียนโลหิตของร่างกาย (Hemodynamic compromise) ภาวะความดันโลหิตต่ำ หรือภาวะช็อก (Shock)

ยาแต่ละชนิดมีข้อบ่งใช้เฉพาะ เช่น

  • ยาอะดรีนาลีน (Adrenaline หรือ Epinephrine; EPI) ใช้รักษาภาวะความดันโลหิตต่ำ ภาวะหัวใจหยุดเต้น (Asystole)/ Pulseless Electrical Activity (PEA) ภาวะหัวใจเต้นช้า (Bradycardia) หัวใจเต้นช้าและหยุดเต้นจากภาวะ Ventricular fibrillation หรือ Ventricular tachycardia ใช้รักษาปริมาตรเลือดที่ส่งออกจากหัวใจ (Cardiac Output) หรือใช้ในผู้ป่วยที่มีปฏิกิริยาไวเกินต่อยา/แพ้ยา (Hypersensitivity Reaction) เช่นปฎิกิริยาภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง (Anaphylaxis)
  • ยามิลริโนน (Milrinone) ใช้ฤทธิ์การเพิ่มการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ (Inotropic) ในผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว (Heart Failure)
  • ยาวาโซเพรสซิน (Vasopressin) ใช้รักษาผู้ป่วยโรคเบาจืด (Diabetes insipidus) และภาวะเลือดออกจากหลอดเลือดดำบริเวณหลอดอาหาร/กระเพาะอาหารโป่งพอง (Gastroesophageal variceal hemorrhage)

ยาช่วยระบบหัวใจและหลอดเลือดมีกี่ประเภท? และมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาช่วยระบบหัวใจและหลอดเลือดแบ่งออกได้ 3 กลุ่ม/ประเภทตามฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ดังนี้

1. Inoconstrictors หรือกลุ่มยาที่มีฤทธิ์เพิ่มความดันโลหิต (Vasopressor): และเพิ่มการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ (Inotrope) ผ่านตัวรับในกลุ่มอะดรีเนอร์จิก (Adrenergic Receptors) ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดย่อยใหญ่ๆ คือ

  • ชนิดแอลฟา (Alpha) และ
  • ชนิดเบต้า (Beta)

ซึ่งในแต่ละชนิดก็จะมีกลุ่มย่อยลงไปอีก ตัวรับเหล่านี้กระจายอยู่บนเซลล์ในอวัยวะหรือในส่วนต่างๆของร่างกาย รวมไปถึงในระบบหัวใจและหลอดเลือด ยาในกลุ่มนี้จึงมีฤทธิ์จับกับตัวรับที่บริเวณหัวใจ เพิ่มการบีบตัว และจับกับตัวรับบนกล้ามเนื้อเรียบบนเส้นเลือด/หลอดเลือดขนาดใหญ่ ทำให้เกิดภาวะเส้นเลือดหดตัว ส่งผลให้ความดันโลหิตโดยรวมสูงขึ้น ยาในกลุ่มนี้ เช่น ยานอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine; NE) ยาอะดรีนาลีน (Adrenaline หรือ Epinephrine; EPI) และยาโดพามีน (Dopamine; DA)

2. Inodialators หรือกลุ่มยาที่มีฤทธิ์ในการขยายหลอดเลือด (Vasodialator) และเพิ่มการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ (Inotrope) เช่นยา ยาโดบูทามีน (Dobutamine) โดยออกฤทธิ์ผ่านตัวรับเบต้า 1 และยามิลริโนน (Milrinone) ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ฟอสโฟไดเอสเทอเรส (Phosphodiesterase inhibitors)

3. ยาที่ออกฤทธิ์ในการหดตัวหลอดเลือด (Vasoconstrictors) เพียงอย่างเดียว ไม่ออกฤทธิ์ต่อการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ยากลุ่มนี้มีข้อดีที่ไม่ทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นเร็ว (Tachycardia) เช่น ยาฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine) และยาวาโซเพรสซิน (Vasopressin)

นอกจากนี้ยังมียาอื่นๆที่ช่วยระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น ยาดิจอกซิน (Digoxin) มีความสามารถเพิ่มแรงในการหดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ และลดอัตราการเต้นของหัวใจได้, ยาเลโวซิเมนแดน (Levosimendan) ช่วยในการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่าง เป็นต้น

ยาช่วยระบบหัวใจและหลอดเลือดมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร? มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาช่วยระบบหัวใจและหลอดเลือดมีรูปแบบการจัดจำหน่าย และมียาชื่อการค้า/บริษัทผู้ผลิตดังต่อไปนี้ เช่น

ยาช่วยระบบหัวใจและหลอดเลือดมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ขนาดการบริหารยา/ใช้ยาช่วยระบบหัวใจและหลอดเลือดขึ้นกับภาวะของผู้ป่วยในแต่ละรายเป็นสำคัญ และตามวิจารณญาณของแพทย์ขณะสั่งใช้ยา ซึ่งมีความแตกต่างกันไปใน ตัวยาแต่ละขนาน ขนาดยา โดยทั่วไปสามารถอ่านได้จากบทความเฉพาะของยาชนิดนั้นๆ

เมื่อมีการสั่งยาช่วยระบบหัวใจและหลอดเลือดควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาช่วยระบบหัวใจและหลอดเลือดควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้ เช่น

  • แจ้งให้ แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร ทราบถึงประวัติการแพ้ยาทุกชนิด และการแพ้สารเคมีชนิดต่างๆ
  • แจ้งให้ แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร ทราบถึงประวัติการใช้ยา ทั้งยาที่แพทยสั่งจ่าย และยาที่ซื้อทานเอง วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร
  • แจ้งให้ แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร ทราบหากเคยมีประวัติโรคหัวใจมาก่อน เช่น เคยมีอาการเจ็บหน้าอก หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นโรคความดันโลหิตสูง หอบหืด เบาหวาน ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์สูง/ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน(Hyperthyroidism) ฟีโอโครโมไซโตมา (เนื้องอกที่ต่อมหมวกไต – Pheochromocytoma) โรคซึมเศร้า หรือโรคจิตเภท และโรคพาร์กินสัน
  • แจ้งให้แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร ทราบ หากกำลังตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร

ยาช่วยระบบหัวใจและหลอดเลือดมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)จากการใช้ยาในกลุ่ม ยาช่วยระบบหัวใจและหลอดเลือดซึ่งเป็นรูปของยาฉีด อาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง เจ็บ บวมแดงในบริเวณที่ฉีด ที่โดยส่วนใหญ่ไม่มีความรุนแรงและจะหายไปเอง

ส่วนอาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ จะมีความแตกต่างกันไปตามลักษณะกลไกการออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของยาแต่ละตัว/แต่ละกลุ่มยา เช่น

  • ยาในกลุ่ม Inoconstrictors โดยทั่วไปอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นเร็ว (Tachycardia) หรือภาวะหัวใจเต้นเร็วร่วมกับหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Tachyarrhythmias) โรคหัวใจขาดเลือด (Myocardial ischemia) เกิดอาการเจ็บหน้าอก ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia) เส้นเลือดในไตหดตัว (Renal vasoconstriction) คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย เหงื่ออกมาก เป็นต้น
  • ยาในกลุ่ม Inodialators อาจทำให้เกิด อาการเจ็บ/ ปวด/แน่นหน้าอก ซึ่งควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยทันที ผู้ป่วยอาจเกิดอาการหัวใจเต้นเร็ว วิงเวียนศีรษะ อาเจียน หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก มีไข้ ซึ่งเกิดขึ้นได้น้อย บางรายพบว่าผิวหนังเกิดการตาย (Skin necrosis) ซึ่งพบได้น้อยมากในผู้ป่วยที่ใช้ยาโดบูทามีน

ส่วนยาในกลุ่ม Vasoconstrictors มีรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากยาน้อย อาจก่อให้เกิดอาการ เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ (Bradycardia) ปวดศีรษะ มีเหงื่อออกมาก เกิดการตายของเซลล์ผิวหนังหรือเนื้อเยื่ออื่นๆ เกิดอาการสั่น หายใจไม่สะดวก เป็นต้น

โดยทั่วไปส่วนมาก ยาในกลุ่มนี้จะบริหารยาแก่ผู้ป่วยในสถานพยาบาล ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด หากผู้ป่วยเกิดอาการไม่พึงประสงค์ฯใดๆ หรือสงสัยว่าเป็นอาการที่ไม่ปกติ ควรรีบแจ้งให้แพทย์ พยาบาล ทราบ โดยทันที

มีข้อควรระวังการใช้ยาช่วยระบบหัวใจและหลอดเลือดอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาช่วยระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น

  • ไม่ใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • การใช้ยาเหล่านี้ในผู้ป่วยที่มีครรภ์/ตั้งครรภ์ ควรได้รับการประเมินจากแพทย์ก่อน
  • ยาบางชนิดในกลุ่มยานี้ต้องระมัดระวังการใช้ในผู้ป่วย โรคหืด โรคในระบบหัวใจและหลอดเลือด ผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ป่วยภาวะไทรอยด์สูง/ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ผู้ป่วยที่ระดับอิเล็กโทรไลต์/ เกลือแร่ในเลือด(Blood electrolyte)ในร่างกายไม่สมดุล

ยาช่วยระบบหัวใจและหลอดเลือดมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาในกลุ่มยาช่วยระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยทั่วไปจะมีปฏิกิริยาระหว่างยา กับยาในกลุ่มยาลดความดันโลหิตหรือ ยาลดการบีบตัว/การเต้นของหัวใจ เช่น ยากลุ่มลดความดันโลหิตชนิดต่างๆ อย่างไรก็ดี ยาแต่ละชนิดในกลุ่มนี้ ก็มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นๆอย่างจำเพาะ ยกตัวอย่างเช่น

  • ยามิลริโนน กับยาอะนากรีไลด์ (Anagrelide) ซึ่งทำให้อาการข้างเคียงหรือพิษจากยามิลริโนนมีมากขึ้นหากใช้ร่วมกัน
  • ยาฟีนิลเอฟรีน ยาอะดรีนาลีน กับยาจำพวกเออร์กอต (Ergot) ซึ่งทำให้การหดตัวของหลอดเลือดเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น

ทั้งนี้ รายละเอียดปฏิกิริยาระหว่างยาอื่นๆ เช่นยา Dobutamine สามารถสืบค้นได้จากบทความของแต่ละยานั้นๆจากเว็บ haamor.com

ควรเก็บรักษายาช่วยระบบหัวใจและหลอดเลือดอย่างไร?

โดยทั่วไป ให้เก็บ ยาช่วยระบบหัวใจและหลอดเลือด ในบรรจุภัณฑ์ที่ผู้ผลิตจัดให้ เก็บไว้ในที่แห้งและเย็น เก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง หลีกเลี่ยงเก็บยาฯในบริเวณที่มีแสงแดดส่องถึงโดยตรง ยาเหล่านี้ที่เก็บโดยฝ่ายเภสัชกรรมของสถานพยาบาล ควรสอบถามจากเภสัชกรถึงนโยบายการเก็บรักษายาเฉพาะชนิดเพิ่มเติมในสถานพยาบาลนั้นๆ

บรรณานุกรม

  1. Uptodate.com [2018,June30]
  2. Medlineplus
  3. David Castillo. VASOACTIVE DRUGS AND THEIR USE IN SHOCK. Emergency Department. Peacehealth Southwest Medical Center
  4. Vandewiele Bert. Vasoactive Drugs: Do I have to choose? University of Pretoria
  5. Zohair Alaseri. Vasoactive drugs. Intensivest and Emergency Medicine Consultant. Chairman, Department of Emergency Medicine. King Saud University Hospitals, Riyadh, KSA. http://fac.ksu.edu.sa/sites/default/files/vasopresores_0.pdf [2018,June30]
  6. Drugs in ICU. ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช http://www.si.mahidol.ac.th/th/division/nursing/ndivision/n_med/admin/knowledges_files/3_67_1.pdf [2018,June30]
  7. วรุตม์ พิสุทธินนทกุล. Inotrope Drugs, Collective Review.
  8. สันต์ ใจยอดศิลป์. ปริญญา คุณาวุฒิ. 7.4.3 การให้ยาช่วยระบบหัวใจและหลอดเลือด การช่วยชีวิตขั้นสูงในผู้ใหญ่ ACLS 2005: คำแนะนำและหลักฐานวิทยาศาสตร์ Guidelines and Scientific Evidence). มูลนิธิสอนช่วยชีวิต.