ยาคาทิโนน (Cathinone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

สาร/ยาคาทิโนน (Cathinone)หรือเรียกในชื่ออื่นว่า เบนโซอิลเอทานามีน(Benzoylethanamine) หรือ เบต้า-คีโต-แอมเฟตามีน(β-keto-amphetamine ย่อว่า β-KA หรือ Keto-amphetamine) เป็นสารเคมีที่พบในพืชชื่อ Catha edulis (Khat) มีโครงสร้างคล้ายกับสารเคมีกลุ่ม Amphetamine, Cathine และ Ephedrine โดยมีลักษณะคล้ายกับผงผลึกสีขาวซึ่งดูคล้ายกับเกลือขัดผิวอาบน้ำ (Bath Salts)

สารคาทิโนนนี้ถูกสังเคราะห์ขึ้นในปี ค.ศ. 1920 (พ.ศ. 2463) จนกระทั่งปี ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553) ถูกนำไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ซึ่งก่อก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย เนื่องจากออกฤทธิ์เป็นสารเสพติดที่กระตุ้นระบบประสาทให้เกิดอาการคลุ้มคลั่งเช่นเดียวกับสารเสพติดในกลุ่มโคเคนและยาบ้า โดยเริ่มแพร่ระบาดการใช้ในแถบยุโรป ในบางประเทศแถบทวีปอเมริกาจะพบว่ามีการผสมคาทิโนนลงในบุหรี่และเหล้าเพื่อเป็นช่องทางในการจำหน่าย โดยมีชื่อการ ค้าหลากหลาย ซึ่งเมื่อใช้เป็นสารเสพติดจะเรียกโดยรวมว่า ยา Bath salt (บาธซอลท์) หรือบางคนเรียกว่า ยาซอมบี เพราะผู้เสพอาจมีอาการคลุ้มคลั่งเหมือนผีซอมบี (Zombie)

สำหรับประเทศไทยไม่พบการจัดจำหน่ายยาคาทิโนน มีแต่ยาที่มีโครงสร้างใกล้เคียงกันคือ Cathine หรือจะเรียกว่า D-norpseudoephedrine ก็ได้

ยาคาทิโนนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยาคาทิโนน

ในทางการแพทย์ยาคาทิโนนใช้เป็นยาลดน้ำหนัก/ยาลดความอ้วน โดยผลิตออกมาในโครงสร้างของ Cathine มีข้อกำหนดระยะเวลาในการใช้รับประทานไม่เกิน 4 สัปดาห์ และต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น

ยาคาทิโนนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาคาทิโนนนี้ออกฤทธิ์กับหลายระบบของการทำงานในร่างกายมนุษย์ แต่ถูกนำมาใช้ใน ทางยาด้วยมีฤทธิ์ยับยั้งความรู้สึกการอยากอาหารที่สมอง จึงนำมาใช้กับผู้ป่วยด้วยโรคอ้วน ใช้เป็นยาลดน้ำหนักในผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน

ยาคาทิโนนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาคาทิโนนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายในรูปของยาที่มีโครงสร้างของ Cathine บรรจุในแคป ซูลขนาด 20 มิลลิกรัม

ยาคาทิโนนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดรับประทานปกติคือ 20 - 50 มิลลิกรัม/วัน แต่สำหรับผู้ป่วยบางรายที่มีการทำงานของไตผิดปกติอาจต้องปรับขนาดยา ดังนั้นการสั่งจ่ายยาจึงเป็นหน้าที่ของแพทย์ผู้ที่ทำการตรวจรักษาจะเป็นผู้พิจารณาเรื่องขนาดรับประทานรวมไปถึงระยะเวลาในการใช้

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาคาทิโนน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติการแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หาย ใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาคาทิโนนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ที่กินอยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะการตั้งครรภ์หรือไม่หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่ เพราะมียาหลายตัวสามารถผ่านรกหรือผ่านเข้าสู่น้ำนมและเข้าสู่ทารก ก่อผลข้างเคียงต่อทารกได้

หากลืมรับประทานยาคาทิโนนควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาคาทิโนนสามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณ/ขนาดยา

ยาคาทิโนนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผลข้างเคียงหรือผลไม่พึงประสงค์ของยาคาทิโนนที่สามารถพบได้เช่น ปวดศีรษะ หัวใจ เต้นผิดจังหวะ นอนไม่หลับ ปากแห้ง กระหายน้ำ คลื่นไส้ เหงื่อออกมาก กล้ามเนื้ออ่อนแรง ตัวสั่น อาจเสพติดกับผู้ใช้ยาในระยะเวลานานๆได้

มีข้อควรระวังการใช้ยาคาทิโนนอย่างไร?

ยาคาทิโนนนี้สามารถทำให้อาการของโรคบางโรคมีอาการรุนแรงมากขึ้น จึงต้องระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่ป่วยด้วยโรคหัวใจเช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคต่อมลูก หมากโต หรืออาจเกิดการเสพติดหากใช้ยากับผู้ที่มีประวัติติดเหล้า ติดสาร/ยาเสพติด นอกจากนี้ยังมีข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดอุดตัน (ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ) โรคความดันหลอดเลือดปอดสูง โรคต้อหิน โรคต่อมไทรอยด์ชนิดต่อมไทรอยด์เป็นพิษ และในหญิงตั้งครรภ์

  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

********** อนึ่ง:

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมถึงยาคาทิโนนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาคาทิโนนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

มีรายงานการเคี้ยวใบไม้บางชนิดที่มีสารคาทิโนน จะรบกวนการดูดซึมของยา Amoxicillin และ Ampicillin ดังนั้นจึงนำผลจากรายงานนี้มาปรับใช้ จึงไม่ควรใช้ยาเหล่านี้ร่วมกัน

ควรเก็บรักษายาคาทิโนนอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาคาทิโนนในที่แห้ง ระวังความชื้น เก็บในที่ที่พ้นแสงแดด ควรต้องเก็บในที่ที่มีความปลอดภัยเช่น ตู้เหล็กเก็บยา และมีผู้รับผิดชอบในการหยิบจ่ายยาให้กับผู้ป่วย

ยาคาทิโนนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาชื่อการค้าอื่นของยาคาทิโนนคือ Mirapront N (มิราพรอน เอน) ผลิตจากบริษัท Mackแต่ไม่มีจำหน่ายในประเทศไทยเพราะผิดกฎหมายและจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1

อนึ่ง ชื่ออื่นของสารนี้ เช่น Flakka, Bloom, Cloud Nine, Lunar Wave, Vanilla Sky, White Lightning, Scarface

บรรณานุกรม

  1. http://en.wikipedia.org/wiki/Cathinone [2018,Jan27]
  2. http://narcotic.fda.moph.go.th/welcome/?p=3185 [2018,Jan27]
  3. http://www.drugs.com/npp/khat.html [2018,Jan27]
  4. http://en.wikipedia.org/wiki/Cathine [2018,Jan27]
  5. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Mirapront%20N/ [2018,Jan27]
  6. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=cathinone [2018,Jan27]
  7. http://narcotic.fda.moph.go.th/welcome/?p=3185 [2018,Jan27]
  8. https://www.drugabuse.gov/publications/drugfacts/synthetic-cathinones-bath-salts [2018,Jan27]
Updated 2018,Jan27