ยาความดันออสโมติกสูงชนิดออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย (Systemic Hyperosmotic Agent)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ร่างกายของเรานั้นประกอบไปด้วยของเซลล์จำนวนมากที่เป็นหน่วยพื้นฐานของการดำรงชีวิต องค์ประกอบที่สำคัญของร่างกาย/เซลล์ต่างๆทุกชนิดคือ”น้ำ” แต่น้ำในร่างกายไม่ได้เป็นน้ำบริสุทธิ์(น้ำที่มีส่วนประกอบเฉพาะแต่น้ำเท่านั้น) แต่ยังมีสารหรือ องค์ประกอบ/ส่วนประกอบอื่นๆละลายกระกระจายอยู่ด้วย จึงทำให้อยู่ในสภาพเหมือนสารละลายของเหลว ในแต่ละส่วนของร่างกายก็จะมีความเข้มข้นของน้ำ/ของเหลวเหล่านี้แตกต่างกันออกไป ขึ้นกับสารประกอบอื่นๆที่อยู่ในบริเวณ/ส่วนนั้นๆของร่างกาย

เซลล์ของมนุษย์ประกอบด้วยเยื่อหุ้มเซลล์ ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นเนื้อเยื่อที่เลือก ให้มีการซึมผ่าน/การเคลื่อนที่ของของเหลว เฉพาะเพียงบางชนิด ระหว่างเซลล์กับเซลล์หรือ ระหว่างเซลล์กับอวัยวะส่วนอื่นใดของร่างกาย โดยทั่วไปสารละลายหรือของเหลวในเซลล์/อวัยวะจะพยายามทำการปรับสมดุลให้ความเข้มข้นของสองบริเวณที่แตกต่างกันมีค่าเท่าๆกัน ทั้งนี้ เมื่อมีการไหลของของเหลวจะก่อให้เกิด “แรงดัน”เรียกว่า “แรงดันออสโมติก (Osmotic Pressure)” ที่เป็นแรงดันที่ต้านการเคลื่อนที่ของสารที่ผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ โดยสามารถวัดแรงดันนี้ได้และเรียกแรงดันนี้ว่า “สภาพตึงตัว(Tonicity)”ของเซลล์นั้นๆ เพื่ออธิบายความแตกต่างของแรงดันออสโมติกระหว่างบริเวณสองบริเวณ ยกตัวอย่างเช่น หากนำเซลล์เม็ดเลือดแดงมาใส่ในสารละลายที่มีความเข้มข้นสูงกว่าภายในเซลล์เม็ดเลือด น้ำซึ่งเป็นเสมือนตัวทำละลายก็จะทำการปรับสมดุลโดยการไหลออกจากภายนอกเซลล์ เพื่อให้ความเข้มข้นของสารละลายภายนอกลดลงมาเท่าๆกับในเซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดแดงก็จะหดตัว เรียกภาวะนี้ว่า “สภาพตึงตัวสูง (Hypertonic)” ในขณะเดียวกันหากนำเซลล์เม็ดเลือดแดงไปใส่ในสารละลายที่มีความเข้มข้นต่ำกว่าเซลล์เม็ดเลือดแดง น้ำก็จะไหลเข้าสู่ภายในเซลล์เมือดเลือดแดง เพื่อให้ความเข้มข้นภายในเซลล์เม็ดเลือดแดงลดลงมาเท่าๆกับสารละลายภายนอก เซลล์เม็ดเลือดแดงก็จะเต่งขึ้นเนื่องจากมีน้ำมากขึ้น เรียกภาวะนี้ว่า “สภาพตึงตัวต่ำ (Hypotonic)”

ความรู้เรื่องแรงดันออสโมติก และ สภาพตึงตัว มีการนำมาประยุต์ใช้ในทางการแพทย์เพื่อนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วย โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีความดันลูกตาสูง (High Intraocular Pressure) และผู้ป่วยความดันกะโหลกศีรษะสูง (Increased Intracranial Pressure) โดยนำมาผลิตเป็นยารักษาโรค ที่เรียกว่า “สาร/ยาความดันออสโมติกสูงชนิดออกฤทธ์ทั่วร่างกาย(Systemic hyperosmotic agent)” ซึ่งในบทความนี้ขอเรียกว่า “สาร/ยาความดันออสโมติกสูงฯ”

สารความดันออสโมติกสูงฯมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ยาความดันออสโมติกสูงชนิดออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย

ยา/สารความดันออสโมติกสูงชนิดออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ ได้แก่

ก. ใช้รักษาภาวะความดันลูกตาสูงชนิดเฉียบพลัน (Acute Elevated of Intraocular Pressure)

ข. ใช้รักษาภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง (Intracranial Pressure Reduction)

สารความดันออสโมติกสูงฯมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

สาร/ยา/ต่างๆที่มีความดันออสโมติกสูงชนิดออกฤทธ์ทั่วร่างกายจะมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะเพิ่มแรงดันออสโมติกในกระแสเลือด เพื่อรักษาสมดุลความดันออสโมติกใน เซลล์/เนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะ น้ำ/ของเหลว ในเยื่อบุตา หรือในกะโหลกศีรษะ ซึ่งมีความดันออสโมติกต่ำกว่าบริเวณส่วนอื่นๆของร่างกาย จะถูกดูดซับออกเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อคงความดันออสโมติกระหว่างสองบริเวณให้เท่ากัน ด้วยกลไกดังกล่าว จึงช่วยลดปริมาณของของเหลวในเยื่อบุตา หรือในกะโหลกศีรษะ ทำให้ความดันในทั้งสองนั้นลดลงด้วย และโดยจะทำให้น้ำส่วนเกินนั้นออกมาทางปัสสาวะ นอกจากนี้ เชื่อว่า สาร/ยาความดันออสโมติกสูงยังมีความสามารถในการลดการสร้างของเหลวได้โดยการสร้างผ่านระบบประสาทส่วนกลาง

สารความดันออสโมติกสูงฯมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

สาร/ยาความดันออสโมติกสูงชนิดออกฤทธ์ทั่วร่างกายที่มีใช้ในประเทศไทย ได้แก่ ยาแมนนิทอล (Mannitol) ซึ่งเป็นยาของเหลวปราศจากเชื้อสำหรับหยดเข้าเส้นเลือด/หลอดเลือดดำ (Intravenous Infusion) ชนิดความเข้มข้น 20%

ในบางประเทศ มีการใช้ยาอื่นๆ เช่น ยารูปแบบรับประทาน เช่น ยากลีเซอรอล (Glycerol) ชนิดสารละลายความเข้มข้น 50% , ยาไอโซซอร์ไบด์ (Isosorbide ทั้งนี้อย่าสับสนกับยา Isosorbide Mononitrate และ Isosorbide Dinitrate ที่ใช้รักษาโรคหัวใจ) ชนิดสารละลายความเข้มข้น 45%, เอธิลแอลกอฮอล์(Ethyl alcohol) ส่วนสารละลายยูเรีย(Urea)ที่ให้โดยเข้าสู่กระแสเลือดที่ปัจจุบันไม่ได้ใช้ยาตัวนี้แล้ว

สารความดันออสโมติกสูงฯมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

สาร/ยาความดันออสโมนติกสูงชนิดออกฤทธ์ทั่วร่างกาย มีขนาดการบริหารยาตามสภาวะของผู้ป่วยในแต่ละราย และรวมถึงน้ำหนักตัว ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้กำหนดขนาดยาที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป

เมื่อมีการสั่งสารความดันออสโมติกสูงฯควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งสารความดันออสโมติกสูงฯ ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติการแพ้ยา แพ้ อาหาร และแพ้สารเคมีทุกชนิด
  • ประวัติการใช้ยา ทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่าย และยาที่ซื้อทานเอง วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมไปถึงประวัติโรคประจำตัวที่เป็นมาในอดีตและที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจจุบัน โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับ ไต ตา และสมอง
  • แจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกรทราบว่า กำลังตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงระหว่างการให้นมบุตร

หากลืมเข้ารับการบริหารสารความดันออสโมติกสูงฯควรทำอย่างไร?

โดยทั่วไปแล้ว สาร/ยาความดันออสโมติกสูงชนิดออกฤทธ์ทั่วร่างกายจะให้ในโรงพยาบาลในภาวะโรคที่มีอาการเฉียบพลันเป็นหลัก แต่อย่างไรก็ดี หากลืมนัดหมายการรับยานี้ ควรแจ้งให้สถานพยาบาลที่กำลังทำการรักษาอยู่ทราบทันที เพื่อนัดหมายการเข้ารับยาโดยเร็วที่สุด

สารความดันออสโมติกสูงฯมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

สาร/ยาความดันออสโมติกสูงชนิดออกฤทธ์ทั่วร่างกาย โดยทั่วไปไม่ได้ก่อให้เกิดอาการ/ผลที่ไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ที่มีความรุนแรง ซึ่งผลข้างเคียงที่พบได้ เช่น ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน เกิดอาการ/ภาวะขาดน้ำ หน้ามืด มีไข้

อาการไม่พึงประสงค์จากยานี้ ที่มีความรุนแรงมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย เช่น ความดันโลหิตต่ำหรือสูง แน่นหน้าอก เกิดผื่นคัน เกิดอาการชัก หัวใจวาย การมองเห็นพร่ามัว/ตาพร่า สับสน มึนงง เกิดภาวะไตล้มเหลวเฉียบพลัน ซึ่งโดยทั่วไป แพทย์จะทำการประเมินประโยชน์ของยานี้ต่อความเสี่ยง/ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ก่อนการใช้ยานี้อยู่แล้ว และการใช้ยานี้จะอยู่ในความควบคุมของแพทย์อย่างใกล้ชิด แต่หากเกิดอาการผิดปกติหลังได้รับยานี้ ก็ควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล ทันที

มีข้อควรระวังการใช้สารความดันออสโมติกสูงฯอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้สาร/ยาความดันออสโมติกสูงฯ เช่น

  • ไม่ใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือส่วนประกอบของยานี้
  • ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจระดับอิเล็กโทรไลต์(Electrolyte)ในกระแสเลือดอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง รวมถึงการตรวจวัดปริมาณปัสสาวะที่ถูกขับออกภายหลังการให้ยานี้ด้วย เพื่อใช้เป็นข้อช่วยวินิจฉัยภาวะขาดน้ำของผู้ป่วย
  • ควรใช้ยานี้ด้วยความระมัดระวังหากผู้ป่วยใช้ยาอื่นๆที่เป็นพิษต่อไตร่วมอยู่ด้วย
  • ควรใช้ยานี้ด้วยความระมัดระวังในสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยา/สารความดันออสโมติกสูงฯ) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

สารความดันออสโมติกสูงฯมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

สาร/ยาความดันออสโมติกสูงชนิดออกฤทธ์ทั่วร่างกายที่ใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ได้แก่ ยาแมนนิทอล(Mannitol) ในบทความนี้ จึงขอกล่าวถึงเฉพาะยาตัวนี้ ซึ่งมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดอื่นๆ เช่น

  • กับยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย/ ยาปฏิชีวนะในกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycosides) (เช่น ยา เอมิเคซิน/Amikacin, ยาเจนตาไมซิน/Gentamicin) และยาโซเดียมฟอสเฟต (Sodium Phosphate) เนื่องจากความเสี่ยงในการเกิดพิษต่อไตจะเพิ่มมากขึ้น
  • กับยาระงับปวด/ยาแก้ปวดในกลุ่มโอปิออยด์ (Opioids) เนื่องจากจะทำให้ฤทธิ์การขับปัสสาวะของสาร/ยาความดันออสโมติกสูงฯลดลง
  • กับยาไดอะเซอรีน (Diacerein/ยารักษาโรคข้อเสื่อม) เนื่องจากทำให้ฤทธิ์การขับปัสสาวะของยาแมนนิทอลเพิ่มขึ้น เพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะขาดน้ำ และภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (Hypokalemia)

ควรเก็บรักษาสารความดันออสโมติกสูงอย่างไร?

ยาความดันออสโมติกสูงชนิดออกฤทธ์ทั่วร่างกาย/ยาแมนนิทอลที่มีใช้แพร่หลายในปัจจุบัน ควรเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้อง เก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง หรือติดต่อฝ่ายเภสัชกรรมของสถานพยาบาลถึงนโยบายการเก็บรักษายานี้

สารความดันออสโมติกสูงมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

สารความดันออสโมติกสูงชนิดออกฤทธ์ทั่วร่างกายที่มีจำหน่ายในประเทศไทย ได้แก่ ยาแมนนิทอล ที่มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย ดังต่อไปนี้

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
แมนนิตอล 20% เอ.เอ็น.บี.(Mannital 20%ANB หรือ Mannital ANB20) บริษัท เอ.เอ็น.บี.ลาบอราตอรี่ (อำนวยเภสัช) จำกัด

บรรณานุกรม

  1. Jimmy D. Bartlett. Hyperosmotic Drugs. Clinical Ocular Pharmacology. 275-83.
  2. Mannitol Intravenous Infusion EP 20% w/v http://www.medicines.org.uk/emc/medicine/30190[2017,Sept9]
  3. Mannitol (systemic): Drug information, Lexicomp. Uptodate.
  4. SK Gupta, Renu Agarwal, Sushma Srivastava. Hyperosmotic Agents. Textbook on Clinical Ocular Pharmacology & Therapeutics. 246-51.
  5. ระบบตรวจสอบผลิตภัณฑ์. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. porta.fda.moph.go.th/FDA_SEARCH_ALL/MAIN/[2017,Sept9]