ยากระตุ้นความบันเทิง (Recreational drug)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

หากฟังดูผิวเผิน สาร/ยา(ยา)กระตุ้นความบันเทิง(Recreational drug) น่าจะเป็นกลุ่มยาที่ทำให้จิตใจรู้สึกสนุกสนาน มีความเบิกบานสบายใจ กลุ่มนักวิชาการได้กำหนดให้ยากระตุ้นความบันเทิงแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ เช่น

  • ยาที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง(Depressants) โดยมีกลไกลดปริมาณของสารสื่อประสาทบางชนิด ทำให้เกิดความรู้สึกสงบและผ่อนคลาย
  • ยาที่มีฤทธิ์กระตุ้น(Stimulants)ที่ทำให้ร่างกายรู้สึกมีกำลังวังชา ยากลุ่มนี้มักจะมีฤทธิ์โดดเด่นโดยส่งผลกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติชนิดซิมพาโทมิเมติค (Sympathomimetic effects)
  • ยาที่มีฤทธิ์หลอนประสาท(Hallucinogens) เป็นกลุ่มสารประกอบที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท/สมอง ทำให้การรับรู้ของสมองผิดไปจากปกติ เกิดความเปลี่ยนแปลงทางความคิดและทางอารมณ์
  • ยาที่มีฤทธิ์แก้ปวด/ยาแก้ปวด(Analgesics) โดยมีกลไกออกฤทธิ์ที่สมอง และที่เส้นประสาท
  • ยาต้านสารฮีสตามีน/ยาแก้แพ้(Antihistamines)
  • ยาสงบประสาท หรือ ยาช่วยคลายกังวล/ยาคลายเครียด(Tranquilizers) - สารต่างๆที่มีฤทธิ์ทำให้รู้สึกสบายใจ(Euphoriants)
  • สารระเหยหรือตัวทำละลาย(Solvents) เช่น Thinner ที่ใช้ล้างสีทาบ้านหรือล้างยาทาเล็บ

เรามักจะพบเห็นหรือได้ยินการใช้ยากระตุ้นความบันเทิงในหมู่วัยรุ่น ซึ่งประกอบไปด้วยสารหลากหลายประเภท อย่างเช่น เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ กัญชา บุหรี่ กาแฟ/กาเฟอีน ตลอดจนกระทั่งยาที่มีฤทธิ์เป็นสาร/ยาเสพติด และยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทชนิดต่างๆ เหล่านักวิจัยได้ทำการสำรวจและหาสาเหตุที่ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มมีความนิยมยากระตุ้นความบันเทิง และพอจะสรุปเหตุได้ดังนี้

  • เป็นกลุ่มที่มีปัญหาทางจิตประสาท/จิจใจ/อารมณ์ ต้องการลดความกลัดกลุ้ม ความวิตกกังวล ความหวาดกลัว
  • มาจากบุคลิกลักษณะในการดำรงชีวิต อยากทดลอง อยากค้นหาสิ่งแปลกใหม่
  • ใช้ยาบางประเภทรักษาตนเองโดยมิได้ปรึกษาแพทย์จนเกิดอาการติดยา ทำให้ไม่สามารถเลิกยาเหล่านั้นได้
  • อายุในช่วงวัยรุ่นที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เป็นวัยคึกคะนอง อยากมีส่วนร่วมในกลุ่มเพื่อน และขาดความยับยั้งชั่งใจ หรือขาดความรู้เกี่ยวกับยากระตุ้น ต่างๆ ทำให้หลงเชื่อว่าการใช้สารกระตุ้นเป็นเรื่องปกติที่ใครๆก็ใช้กันได้
  • อยู่ในสภาพแวดล้อม หรืออยู่ในกลุ่มผู้ที่ใช้ยากระตุ้นความบันเทิงจนเกิดความคล้อยตาม หรือไม่ก็ถูกบังคับให้ใช้ยาเหล่านั้น
  • มีประวัติเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น เกิดบาดแผล/อาการปวดที่รักษาแล้วไม่หายขาด จึงหันมาพึ่งยากระตุ้นความบันเทิงที่สามารถช่วยบรรเทาอาการป่วยได้
  • ล้มเหลวจาก ชีวิตการงาน การเรียน หรือได้รับความกดดันเรื่องเศรษฐกิจ และ หาทางออกไม่ได้ จึงมีความต้องการลบภาพความล้มเหลวออกจากชีวิตของตนเอง โดยหันมาใช้ยากระตุ้นความบันเทิง

ทั้งนี้ ยังมีสาเหตุและเหตุผลอีกมากมายที่ไม่สามารถนำมาบรรจุไว้ในบทความนี้ได้ทั้งหมด แต่การประสพปัญหาชีวิต ความคิดทางศีลธรรมจริยธรรม และสภาพแวดล้อมที่แตกต่างทางสังคม ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้แต่ละบุคคลมีความสามารถแก้ไขปัญหาได้ต่างกัน อย่างน้อยความรู้ทางวิชาการที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายในปัจจุบัน ก็อาจทำให้เกิดความเข้าใจ ช่วยหยุดการทดลอง หรือช่วยลดการมีส่วนร่วมการใช้ยากระตุ้นความบันเทิงลงได้ระดับหนึ่ง

สารหรือยากระตุ้นความบันเทิงมีอะไรบ้าง?

ยากระตุ้นความบันเทิง

ขอยกตัวอย่างสาร/ยากระตุ้นความบันเทิงที่พบเห็นอยู่ในสังคมปัจจุบัน และพอจะจัดกลุ่มออกมาได้ดังนี้

1 แอลกอฮอล์(Alcohol drink): เครื่องดื่มประเภทนี้สามารถทำให้รู้สึกผ่อนคลายได้ก็จริง แต่การ ดื่มจัด ดื่มบ่อย ล้วนแต่เป็นผลเสียทั้งสิ้น หาประโยชน์ได้น้อย ซึ่งหากร่างกายได้รับแอลกอฮอล์เป็นปริมาณมากๆทุกๆวัน จะทำให้เนื้อเยื่อและอวัยวะภายในเสื่อม และ มีอายุสั้น เกิดภาวะ/โรคตับแข็ง สมองเสื่อม มีแผลในทางเดินอาหาร(เช่น แผลในกระเพาะอาหาร) และยังส่งผลทำให้ภูมิต้านทาน/ภุมิคุ้มกันต้านทานโรคของโรคมะเร็งของร่างกายถดถอย

2 Amphetamine: ใช้กระตุ้นให้เกิดความตื่นตัว และรู้สึกว่ามีกำลัง เคยมีการใช้ในวงการศึกษาเพื่อให้อ่านหนังสือตำราได้ตลอดทั้งคืน หรือใช้กับหมู่นักเต้นให้มีกำลังวังชาเต้นรำได้นาน ทางคลินิกเคยใช้ Amphetamine บำบัดอาการโรคสมาธิสั้น โรคลมหลับ อาการซึมเศร้า และใช้เป็นยาลดน้ำหนัก ปัจจุบันยานี้ ได้ถูกลดบทบาทลงไปอย่างมาก ด้วยผลการกระตุ้นทำให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ทางจิตประสาทอย่างรุนแรงจนเป็นเหตุต่อการเกิดอาชญากรรม

3 กัญชา: มีการเสพโดยการรับประทานหรือสูบ สารออกฤทธิ์ของกัญชาจะเป็นพวกสาร Cannabinoids(สารประกอบที่มีในพืชกลุ่มกัญชา)ซึ่งสามารถแสดงฤทธิ์ปกป้องเซลล์ประสาทโดยชะลอการอักเสบของเซลล์ประสาท กลไกนี้เหมาะต่อการนำ Cannabinoids ของกัญชามารักษา อาการโรคอัลไซเมอร์ แต่จะต้องเข้ากระบวนการพิจารณาผลดี-ผลเสียที่จะเกิดต่อผู้บริโภคจากแพทย์เสียก่อน

4 กาแฟ/กาเฟอีน: มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท/สมอง ทำให้ตื่นตัวและรู้สึกมีกำลังวังชาในการทำงาน

5 เอมดีเอมเอ/ยาอี/Ecstasy (MDMA, Methylenedioxymethamphetamine): มีฤทธิ์ต่อสมอง ทำให้รู้สึกสบายใจ เคลิบเคลิ้มเป็นสุข กระตุ้นทำให้รู้สึกไม่อยากอาหาร เกิดความรู้สึกว่ามีกำลัง ลดอาการง่วงนอน

6 Ketamine: ใช้ในกระบวนการวางยาสลบ และมีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว มีการลักลอบนำยาชนิดนี้มาใช้เพื่อความบันเทิงในลักษณะยากล่อมประสาท/ยาคลายเครียด

7 LSD หรือ Lysergic acid diethylamide: เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 1 และมีการลักลอบนำมาใช้เพื่อทำให้เกิดการหลอนประสาท/ประสาทหลอน

8 Nitrous oxide: ถูกควบคุมการใช้ในคลินิกทันตกรรม ในฐานะยาคลายความ วิตกกังวล และใช้เป็นยาชา/ยาสลบ การใช้ Nitrous oxide ในลักษณะยากระตุ้นความบันเทิง โดยผสมลงในวิปครีมเพื่อทำให้เกิดอาการหลอนประสาท/ประสาทหลอน

9 Opioids: เป็นกลุ่มยาแก้ปวดที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท และมีอยู่หลายรายการที่ถูกใช้เป็นยากระตุ้นความบันเทิง อาทิ Oxycodone, Hydrocodone, Fentanyl, Heroin, และ Morphine กลุ่มยาดังกล่าวสามารถทำให้เกิดการเสพติด และเสี่ยงต่อการมีภาวะถอนยาตามมา

10 เห็ดขี้ควาย (Psilocybin mushroom): มักขึ้นตามกองมูลขี้ควายแห้ง ผู้ที่ รับประทานเข้าไปจะมีอาการ มึนเมา ประสาทหลอน เกิดเห็นภาพแสงสีต่างๆ ในประเทศไทยมีการออกกฎหมาย ห้ามขยายพันธุ์และห้ามจำหน่ายเห็ดนี้

11 บุหรี่ซึ่งมีสาร Nicotine: สำหรับคนที่ชอบสูบบุหรี่เพราะเชื่อว่าจะทำให้สมองมีความตื่นตัว และมีความคิดอ่านในการทำงานได้ดีขึ้น แต่ไม่คำนึงถึงผลเสีย(ผลข้างเคียงรุนแรง)ที่จะเกิดต่อร่างกายตามมา โดยเฉพาะต่อปอดของผู้สูบบุหรี่เป็นประจำ จะมีลักษณะดำด้วยการสะสมเขม่าควันต่างๆเข้าไปมากในปอด ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน มีผลกระทบไปถึงหลอด เลือดและการทำงานของหัวใจ

12 ยาที่มีฤทธิ์ระงับประสาทหรือยากล่อมประสาท/ยากดประสาทส่วนกลาง เช่น Barbiturates, Benzodiazepines, ใช้เป็นยาคลายกังวล/ยาคลายเครียด แต่การใช้ยานี้นานๆ จะทำให้เกิดสมองเสื่อม และเสี่ยงต่อเกิดอาการถอนยา

13 เมฟีโดรน(Mephedrone): เป็นยากระตุ้นที่สังเคราะห์ขึ้น และถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับยา Amphetamine และ Cathinone

14 ตัวทำละลาย, กาว: ผู้ที่ติดสารระเหยเหล่านี้จะรู้สึกเหมือนมีความสุขหลังการ สูดดม สารประเภทนี้สามารถทำให้เกิดอาการวิงเวียน และเกิดประสาทหลอน ตามมา

อนึ่ง ยังมีรายการยากระตุ้นความบันเทิงอีกหลายรายการที่ไม่สามารถหยิบยกขึ้นมากล่าวได้ทั้งหมด แต่ส่วนมากมักจะเป็นกลุ่มยาที่ถูกลักลอบนำมาใช้ และสามารถสร้างผลเสียต่อร่างกายได้อย่างมากมาย

ผลกระทบจากการใช้ยากระตุ้นความบันเทิงมีอะไรบ้าง?

จากการรวบรวมทางสถิติพบว่า ยากระตุ้นความบันเทิง สามารถสร้างผลกระทบ/ผลข้างเคียงรุนแรงต่อร่างกายและสภาพสังคมดังนี้ เช่น

  • ทำให้ผู้เสพมีภาวะติดเชื้อง่าย เกิดภาวะตับอักเสบ โดยมีสาเหตุมาจากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
  • เกิดภาวะติดยาและต้องใช้ยากระตุ้นความบันเทิงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนส่งผลให้มี อาการถอนยาตามมา
  • สูญเสียเงินทอง จนกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวม
  • เป็นเหตุให้เกิดอาการทางจิตประสาท เช่น มีอาการซึมเศร้า วิตกกังวล ประสาทหลอน หรือไม่ก็คลุ้มคลั่ง
  • ถ้าได้รับยาเหล่านี้เกินขนาดจะส่งผลทำให้เสียชีวิตตามมา
  • เกิดอุบัติเหตุที่รวมถึงอุบัติเหตุรุนแรงได้ง่าย ด้วยผู้ที่ใช้ยากระตุ้นความบันเทิงเกิดอาการเมายาจนไม่สามารถควบคุมตนเองได้
  • สมรรถภาพทางเพศถดถอยทั้งบุรุษและสตรี

รูปแบบการจัดจำหน่ายยากระตุ้นความบันเทิงมีอะไรบ้าง?

รูปแบบการจัดจำหน่ายยากระตุ้นความบันเทิง มีทั้ง

  • ยาชนิดรับประทาน
  • ยาอม
  • ยาฉีด
  • ยาสูดพ่น
  • ยาเหน็บทวาร และ
  • ในลักษณะของเครื่องดื่มในรูปแบบต่างๆ

ยากระตุ้นความบันเทิงมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

ยากระตุ้นความบันเทิงมักมีกลไกการออกฤทธิ์ต่อสมอง ที่ทำให้เกิดการเสพติดในระดับที่แตกต่างกัน ผลการกระตุ้นประสาทส่วนกลาง/สมองมากจนเกินไป สามารถทำให้เกิดอาการทางจิตประสาทต่างๆ เช่น เห็นภาพหลอน คลุ้มคลั่ง มีอาการตื่นเต้น ตื่นตัว การเคลื่อนที่ของร่างกายทำได้ไม่ดี หัวใจเต้นเร็ว เกิดความรู้สึกเร้าอารมณ์ ความดันโลหิตสูง ตัวร้อน/มีไข้ ในกรณีรุนแรงเมื่อได้รับยากระตุ้นฯเกินขนาดอาจทำให้การทำงานของหัวใจล้มเหลว จนเสียชีวิตในที่สุด

อยากเลิกการใช้ยากระตุ้นความบันเทิงควรทำอย่างไร?

กรณีอยากเลิกการใช้สาร/ยากระตุ้นความบันเทิงควรปฏิบัติดังนี้ เช่น

  • กรณีที่ใช้ยากระตุ้นความบันเทิงมาไม่นาน การยุติการใช้สาร/ยาเหล่านั้น อาจมาจากความเข้มแข็งของจิตใจของตัวผู้บริโภคเอง
  • หลีกเลี่ยงการคบหาผู้ที่ติดยากระตุ้นความบันเทิง เพื่อตัดปัจจัยหรือต้นเหตุที่ทำให้มีการใช้สาร/ยาเหล่านี้เกิดขึ้น
  • ปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น หันมาเล่นกีฬา โยคะ รำมวยจีน ฯลฯ เพื่อลดการหมกมุ่นและคิดถึงสาร/ยากระตุ้นความบันเทิง
  • เข้าปรึกษาแพทย์ในสถานพยาบาล และแจ้งความจำนงขอความช่วยเหลือเพื่อให้ลดการใช้ยากระตุ้นความบันเทิงได้อย่างจริงจัง

มีวิธีใดบ้างที่ช่วยป้องกันการใช้ยากระตุ้นความบันเทิง?

มีวิธีที่ช่วยป้องกันการใช้สาร/ยากระตุ้นความบันเทิง เช่น

  • ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมมือในการกระจายข่าว ข้อมูลของสาร/ยากระตุ้นฯในรูปแบบต่างๆ กล่าวถึงข้อดี-ข้อเสีย อันตรายที่อาจเกิดขึ้นตามมาผ่านสื่อต่างๆ เช่น ทางเว็บไซด์ โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ที่สำคัญคือ ทางโทรศัพท์มือถือ
  • ช่วยกันกับเจ้าหน้าที่ฯในการตรวจตราพื้นที่ในชุมชนอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งจำหน่ายยากระตุ้นฯ และไม่ปล่อยปละละเลยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
  • ความรัก ความเข้าใจ ของสมาชิกในครอบครัว ไม่ใช้ความรุนแรงในการ สั่งสอนบุตรหลาน เน้นขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมที่ดีงามของประเทศ สร้างความภาคภูมิใจในตนเองเพื่อสามารถวางสถานะตนเองในสังคมได้อย่างเหมาะสม
  • การให้ความรู้กับนักเรียนนักศึกษาในสถานศึกษา โดยครอบคลุมทุกระดับเพื่อ เป็นภูมิต้านทานให้กับกลุ่มผู้ที่เป็นอนาคตของชาติ
  • รณรงค์ในสถานที่ทำงาน โรงเรียน ช่วยต่อต้านการใช้สารเสพติด รวมถึงยากระตุ้นฯชนิดต่างๆ

*****สร้างความต่อเนื่องในข้อปฏิบัติที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่ทำเพียงฉาบฉวยหรือรณรงค์เพียงตามกระแสสังคม กระบวนการป้องกัน ต้องอาศัยการปฏิบัติอย่าง ต่อเนื่องเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งได้อย่างคงทนถาวร

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Recreational_drug_use [2017,Dec30]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Depressant [2017,Dec30]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Stimulant [2017,Dec30]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Hallucinogen [2017,Dec30]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Alcohol#Toxicity [2017,Dec30]
  6. https://patient.info/health/recreational-drugs#nav-0 [2017,Dec30]
  7. http://narcotic.fda.moph.go.th/welcome/?p=2541 [2017,Dec30]
  8. https://www.nap.edu/read/10021/chapter/9#209 [2017,Dec30]
  9. https://www.nap.edu/read/10021/chapter/9#212 [2017,Dec30]