ยกเลิกสารโบรมีนในเครื่องดื่ม

บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ของโลก “โคคา-โคล่า” ประกาศถึงแผนงานในช่วงปลายปีนี้ว่า บริษัทจะนำน้ำมันพืชที่ผ่านกรรมวิธีเติมโบรไมด์ หรือ BVO ออกจากการเป็นส่วนผสมของเครื่องดื่มที่ผลิตโดยบริษัท เช่น แฟนต้าและพาวเวอร์เรด

โดยก่อนหน้านี้คู่แข่งอย่างเป๊ปซี่ก็ได้นำ BVO ออกจากส่วนผสมเครื่องดื่มเกลือแร่ “แกตเตอเรด” แล้วเช่นกัน ทั้งยังมีแผนที่จะขยายการเลิกผสม BVO ไปยังเครื่องดื่มชนิดอื่นๆ อีกด้วย

ขณะที่ในการประกาศครั้งนี้ บริษัท โคคา-โคล่า ชี้แจงว่าไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องปัญหาความปลอดภัยใดๆทั้งสิ้น เนื่องจากเครื่องดื่มทุกชนิดของโคคา-โคล่า ประกอบไปด้วยส่วนผสมที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานอยู่แล้ว

นอกจากนี้โคคา-โคล่า ยังได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า จะมีการเปลี่ยนไปใช้สาร Sucrose acetate isobutyrate (SAIB) หรือ (Glycerol ester of rosin) ที่นิยมใช้ในการผลิตหมากฝรั่งแทน

โบรไมด์ (Brominated vegetable oil = BVO) หรือน้ำมันพืชชนิดผสมโบรไมด์ เป็นส่วนผสมในเครื่องดื่มรสผลไม้หลายชนิด เพื่อช่วยคงรสชาติ (Stabiliser) และความขุ่นในน้ำผลไม้ได้ โดยมีการใช้ BVO มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2474

โบรไมด์เป็นสารหนักทำให้น้ำมันไม่ลอยแยกจากน้ำ เช่นเดียวกับเครื่องดื่มรสส้ม มะนาว และเกรฟฟรุต (Grapefruit) เมื่อมีการใส่ในโซดาหรือในเครื่องดื่ม มักจะลอยอยู่ข้างบน ดังนั้นการเติมโบรไมด์จะทำให้ส่วนผสมรวมตัวกันดี

ในความเป็นจริง โบรไมด์ คือสารที่ใช้เพื่อลดปฏิกิริยาการติดไฟในสิ่งทอและพรม และจัดเป็นสารพิษต้องห้าม ที่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพ ทำให้สูญเสียความทรงจำ มีผลต่อผิวพรรณ รวมถึงระบบประสาทเสื่อมสภาพ

ดังนั้น ที่ผ่านมาจึงมีประชาชนและหลายกลุ่มในสหรัฐอเมริกาได้ออกแคมเปญรณรงค์ต่อต้านการใช้ BVO เป็นส่วนผสมในน้ำอัดลม ทำให้คาดว่า การประกาศยกเลิกการใช้ BVO ของโคคา-โคล่า น่าจะเป็นผลมาจากพลังกดดันทางสังคมเหล่านี้

โดยเมื่อปีที่ผ่านมา ชาวโลกออนไลน์ได้ร่วมกันเข้าชื่อต่อต้านกว่า 2 แสนรายชื่อ ทำให้เป๊ปซี่ บริษัทคู่แข่งของโคคา-โคล่า ประกาศยกเลิกการเติม BVO ในเครื่องดื่มบำรุงกำลังยี่ห้อ Gatorade พร้อมทั้งระบุว่าจะพยายามเลิกใส่ BVO ลงในเครื่องดื่มของเป๊ปซี่ทุกชนิด รวมถึงเมาเทนดิวและแอมป์

ทั้งนี้ในญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปได้ห้ามการผสม BVO ในอาหารไปแล้ว อย่างไรก็ดี บริษัทเครื่องดื่มในสหรัฐอเมริกาได้รับการอนุญาตให้ผสม BVO ได้ในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 0.0015 หรือ 15 ส่วนในล้านส่วน

อนึ่ง ในปี พ.ศ.2540 แพทย์ได้ตะลึงกับกรณีของชายอเมริกันคนหนึ่งที่มีอาการความจำเสื่อม สั่น (Tremor) อ่อนเพลีย (Fatigue) ไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ เปลือกตาหย่อน และอาการแย่ลงจนไม่สามารถเดินได้ ผลการตรวจเลือดพบว่า ชายคนนี้มีโบรไมด์อยู่ในระดับสูง และจากการสอบถามพบว่าเขาดื่มโซดา (ที่ผสม BVO) ในปริมาณ 2-4 ลิตร เป็นประจำทุกวัน ซึ่งในกรณีนี้แพทย์ได้ทำการรักษาด้วยการทำไดอะไลซิส อาการจึงดีขึ้น [Dialysis เป็นกระบวนการกรองของเสียจากเลือดของคนไข้]

แหล่งข้อมูล

  1. Coca-Cola to remove controversial drinks ingredient . http://www.bbc.com/news/business-27289259 [2014, May 17].
  2. Brominated vegetable oil. http://en.wikipedia.org/wiki/Brominated_vegetable_oil [2014, May 17].
  3. Brominated Vegetable Oil Q&A. http://www.webmd.com/food-recipes/news/20130129/brominated-vegetable-oil-qa [2014, May 17].