ยกระดับ “ซูโดอีเฟดรีน” เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยว่า ในปัจจุบัน ยาซูโดอีเฟดรีนที่จับได้มีประมาณ 18 เปอร์เซ็นต์ เป็นยาที่หลุดลอดออกมาจากในวงการสาธารณสุข และอีก 80 กว่าเปอร์เซ็นต์ เป็นยาที่ลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ได้ประสานไปกับประเทศเกาหลี ที่มีตัวเลขนำเข้าประเทศไทยโดยไม่ได้แจ้งให้ไทยทราบตามอนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งทางเกาหลีแจ้งมาว่า ที่ผ่านมาซูโดอีเฟดรีนในเกาหลีไม่ได้เป็นยาเสพติด จึงไม่ได้แจ้ง

วัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 เป็นสารที่มีศักยภาพในการก่อให้เกิดการใช้ยาในทางที่ผิดสูง มีความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพสูงและไม่มีการใช้ในทางการแพทย์ ยาส่วนใหญ่มีฤทธิ์หลอนประสาท เช่น Mescaline, GHB เป็นต้น ทั้งนี้ให้รวมทั้งวัตถุที่มีชื่อทางเคมีอย่างเดียวกันแต่เรียกชื่ออย่างอื่น เกลือของวัตถุดังกล่าวและวัตถุตำรับใดๆ ที่มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ปรุงผสมอยู่ด้วย

วัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 เป็นยาที่มีศักยภาพในการก่อให้เกิดการใช้ในทางที่ผิดสูง มีอันตรายต่อสุขภาพมาก มีการใช้ในทางการแพทย์อยู่ในวงจำกัด เช่น Secobarbitol, Phenthermine, Pseudoephedrine เป็นต้น ทั้งนี้รวมทั้งวัตถุที่มีชื่อทางเคมีอย่างเดียวกัน แต่เรียกชื่ออื่น เกลือของวัตถุดังกล่าว และวัตถุตำรับใดๆ ที่มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ปรุงผสมอยู่ด้วย

วัตถุออกฤทธิ์ประเภท 3 เป็นยาที่มีศักยภาพในการก่อให้เกิดการใช้ในทางที่ผิดปานกลาง มีอันตรายต่อสุขภาพปานกลาง แต่มีใช้ในทางการแพทย์มาก เช่น Pentobarbital, Meprobamate เป็นต้น ทั้งนี้รวมทั้งวัตถุที่มีชื่อทางเคมีอย่างเดียวกัน แต่เรียกชื่ออื่น เกลือของวัตถุดังกล่าว และวัตถุตำรับใดๆ ที่มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 ปรุงผสมอยู่ด้วย

วัตถุออกฤทธิ์ประเภท 4 เป็นยาที่มีศักยภาพในการก่อให้เกิดการใช้ในทางที่ผิดต่ำ มีความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพน้อย มีการใช้ในทางการแพทย์มาก เช่น Diazepam, Phenobarbital (เว้นแต่ฟีโนบาร์บิตาลที่ปรุงผสมอยู่ในตำรับยาที่มีความมุ่งหมายสำคัญ เพื่อบรรเทาอาการหอบหืด โดยมีปริมาณของฟีโนบาร์บิตาลสำหรับรับประทาน หรือสอดทางทวารหนัก ครั้งละไม่เกิน 15 มิลลิกรัม) เป็นต้น

ทั้งนี้ กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้ควบคุมการนำเข้าและจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบโรคศิลปแผนปัจจุบันชั้นหนึ่งในสาขาทันตกรรม และผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ชั้นหนึ่ง เพื่อใช้ประโยชน์ในการรักษาพยาบาลสำหรับคนไข้หรือสัตว์ที่ตนบำบัดอยู่

แพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์สามารถมีวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2, 3 และ 4 ไว้ครอบครองได้ในปริมาณที่กำหนดเท่านั้น เช่น Midazolam ให้มีได้เพียง 15 กรัม Pseudoehpedrine ให้มีได้เพียง 120 กรัม Phentermine ให้มีได้เพียง 15 กรัม Diazepam ให้มีได้เพียง 10 กรัม Lorazepam ให้มีได้เพียง 2 กรัม Alprazolam ให้มีได้เพียง 1 กรัม เป็นต้น หากมีปริมาณที่ครอบครองเกินกำหนด ก็มีการกำหนดบทลงโทษไว้เช่นกันเพราะถือว่าปริมาณส่วนเกินเป็นการมีไว้เพื่อขายโดยไม่ได้รับอนุญาต

ในส่วนของร้านขายยาที่ได้รับใบอนุญาตแผนปัจจุบันแล้ว และมีเภสัชกรอยู่ปฏิบัติการตลอดเวลาทำการ สามารถขอรับใบอนุญาตขายวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 3 และ 4 ได้ แต่ห้ามจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 และ 2 โดยเด็ดขาด ทั้งนี้การจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 3 และ 4 นั้นมีการกำหนดเงื่อนไขไว้คือ 1) ขายให้แก่หน่วยราชการตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาเช่น สภากาชาด องค์การเภสัชกรรม 2) ขายโดยตรงให้แก่แพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์ 3) ขายให้ผู้มีใบสั่งยาของแพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์ โดยจ่ายตามใบสั่งยาได้เพียงครั้งเดียว หากมีการจ่ายยาซ้ำจะซ้ำได้ไม่เกิน 3 ครั้ง แต่ละครั้งจ่ายได้ไม่เกิน 30 วัน และใบสั่งแต่ละใบใช้ได้ไม่เกิน 90 วันนับแต่วันที่ออก

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ.ย้ำสั่งยกระดับซูโดฯ เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9550000053647 [2012, May 7].
  2. วัตถุเสพติด http://www.fda.moph.go.th/fda-net/html/product/addict/narcotics2/drug2.html [2012, May 7].
  3. วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท http://www.childrenhospital.go.th/main/ph/PEOPLE/MEDICINE/049.htm [2012, May 7].