มือ-เท้า-ปาก เปิดฉากจู่โจม (ตอนที่ 2)

นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวยืนยันว่าประเทศไทยยังไม่มีการกลายพันธุ์ของไวรัสโรคมือเท้าปาก และเชื้อที่ตรวจพบจากผู้ป่วยก็ยังเป็นเอ็นเทอโรไวรัส 71 และคอกซากี่ เอ 16 อยู่ อย่างไรก็ ตาม เมื่อตรวจอย่างละเอียดลึกลงไปพบว่า เป็นเอ็นเทอโรไวรัส 71 สายพันธุ์ บี 5

สายพันธุ์ดังกล่าวไม่รุนแรงและไม่ทำให้เกิดผลแทรกซ้อนทางสมองหรือหัวใจล้มเหลว อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่า การเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วย ไม่ได้เก็บทุกราย แต่จะมีการสุ่มตัวอย่างมาตรวจเท่านั้น เพียงแต่จนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่พบเอ็นเทอโรไวรัส 71 สายพันธุ์ ซี 4 (ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่รุนแรงจนอาจทำให้ เสียชีวิตได้) ในการระบาดรอบนี้

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาด (Centers for Disease Control and Prevention : CDC) ในสหรัฐอเมริกาเปิดเผยว่า โดยทั่วไปโรคมือเท้าปาก (Hand, foot and mouth disease : HFMD) ไม่ค่อยระบาด (Outbreak) ในสหรัฐอเมริกา แต่บางประเทศในทวีปเอเชีย มักเกิดโรคระบาดดังกล่าว

แต่ก็มีรายงานว่า ระหว่างวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เกิดมีโรคร้ายแรงที่เกิดจากไวรัสคอกซากี่ เอ 6 (Coxsackievirus A6) ระบาดไปทั่ว มีผู้ป่วยทั้งสิ้น 63 คน ในรัฐอลาบามา (38 ราย) รัฐเนวาดา (17 ราย) รัฐแคลิฟอร์เนีย (7 ราย) และรัฐคอนเน็กติคัต (1 ราย)

ในจำนวนผู้ป่วย 63 รายนั้น มี 63% ที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี และ 24% เป็นผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 18 ปี ในขณะที่ 70% ของผู้ป่วยติดเชื้อในสถานเลี้ยงเด็กและโรงเรียน และ 53% ของผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อมาจากการสัมผัสกับเด็กในสถานที่ดังกล่าว ซึ่งมีรายงานของโรคระบาด HFMD [และสอดคล้องกับความเข้าใจที่ว่า โรคนี้มักติดเชื้อในทารกและเด็กเล็ก]

อาการของผู้ป่วย HFMD ได้แก่เป็นไข้ 76% ผื่นบนมือหรือเท้าหรือในปาก 67% หรือผื่นที่ขา 46% ผื่นบนใบหน้า 41% ผื่นที่ก้น 35% และผื่นที่ลำตัว 19% ผื่นดังกล่าวมักเป็นจุดด่างดวงคราบ (Maculopapular) และตุ่มพอง (Vesicle) ใน 70% ของผู้ป่วย

ในจำนวนผู้ป่วยทั้ง 63 รายนั้น 81% ได้รับการดูแลจากแพทย์ในฐานะผู้ป่วยนอก ส่วนอีก 19%เข้านอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยเหตุผลต่างๆ กัน ซึ่งรวมทั้งภาวะขาดน้ำ (Dehydration) และ/หรือความเจ็บปวดอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม ไม่มีผู้ใดเสียชีวิตแม้แต่ผู้เดียว

ส่วนสถานการณ์ในเอเชียเป็นที่น่าวิตก เพราะองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) รายงานสถิติสูงสุดรายปีว่า จีนมีผู้ป่วยด้วย HFMD แล้วตาย 356 ราย จากจำนวนผู้ป่วยทั้งสิ้น 1,271,535 ราย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2555 เพิ่มขึ้นจาก 711,370 ราย ณ ต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2554 ในช่วงเวลาเดียวกัน สถิติของญี่ปุ่นแสดงว่ามีผู้ป่วย HFMD จำนวนลดลงจาก 65,834 ราย เหลือ 13,916 ราย ในขณะเดียวกัน เวียดนามกลับมีผู้ป่วย HFMD แล้วตาย 34 รายจากจำนวนผู้ป่วยทั้งสิ้น 63,780 ราย ณ กลางปีนี้ เปรียบเทียบกับไม่มีผู้ป่วยเลย ณ กลางปีที่แล้ว

แหล่งข้อมูล:

  1. ยันไทยยังไม่มีกลายพันธุ์ไวรัสมือเท้าปาก http://www.dailynews.co.th/politics/136696 [2012, July 20].
  2. CDC Morbidity and Mortality Weekly Report. http://www.cdc.gov/mmwr/preview/mmwrhtml/mm6112a5.htm [2012, July 20].
  3. Hand, foot and mouth disease situation update. http://www.wpro.who.int/emerging_diseases/HFMD/en/index.html [2012, July 20].