มือ-เท้า-ปาก เปิดฉากจู่โจม (ตอนที่ 1)

บ่ายวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โรคมือเท้าปากในประเทศไทยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 15 กรกฎาคม ศกนี้ พบผู้ป่วยแล้วจำนวน 13,169 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 20.52 ต่อประชากรแสนคน ยืนยันว่ายังไม่มีผู้ใดผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยส่วนใหญ่พบในกลุ่มอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ พะเยา ภูเก็ต เชียงราย สุราษฎร์ธานี และระยอง

โรคมือเท้าและปาก (Hand, foot and mouth disease : HFMD) เป็นกลุ่มอาการที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสในลำไส้ (Intestine) ในตระกูลพิคอร์นาวิริดี (Picornaviridae) สายพันธุ์ส่วนใหญ่ที่เป็นสาเหตุของ HFMD คือ ไวรัสคอกซากี่เอ (Coxsackie A) และเอ็นเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71)

HFMD มักเกิดขึ้นบ่อยและมีผลกระทบต่อทารกและเด็กๆ เป็นเชื้อโรคติดต่อขั้นปานกลางซึ่งกระจายผ่านการสัมผัสโดยตรงกับเมือก (Mucus) น้ำลาย (Saliva) หรืออุจจาระ (Feces) ของผู้ติดเชื้อ มักแพร่เชื้อในวงแคบ อาทิ ในสถานเลี้ยงเด็ก หรือโรงเรียนอนุบาล ช่วงฤดูร้อนและต้นฤดูฝน ใช้เวลาฟักตัว (Incubation) ประมาณ 3 – 7 วัน

แม้จะไม่ค่อยเกิดในผู้ใหญ่ แต่ผู้ใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Immune deficiency) ก็มีความเสี่ยงสูงเหมือนกัน บางคนอาจสับสนคำว่า HFMD กับโรคปากและเท้า (Foot-and-mouth disease) ซึ่งบางทีเรียกว่า “โรคกีบเท้าและปาก (Hoof-and-mouth disease) อันหมายถึงโรคจากแกะ วัว ควาย และหมู แม้ว่า ทั้งสองโรคมีสาเหตุจากไวรัสตระกูลพิคอร์นาวิริดี เดียวกัน แต่ไม่สามารถติดต่อระหว่างคนกับปศุสัตว์ (Livestock)

กลุ่มอาการ HFMD ในระยะแรกได้แก่ เป็นไข้ ตามมาด้วยการเจ็บคอ ปวดศีรษะ อาเจียน (Vomit) เหนื่อยล้า (Fatigue) เบื่ออาหาร และอ่อนแรง (Malaise) หลังจากติดเชื้อได้ 1 – 2 วัน จะเกิดรอยแผล (Lesion) จากการเจ็บปาก จมูก หู หรือใบหน้า จากนั้นจะมีผื่น (Rash) ตามร่างกาย ผื่นดังกล่าวอาจคันในผู้ใหญ่ แต่ไม่คันในเด็ก

นอกจากนี้ ยังตามมาด้วยแผลเปื่อย (Ulcer) หรือพุพอง (Blister) บนฝ่ามือ หรือเท้า และอาจลามไปถึงริมฝีปาก ลิ้น และกระพุ้งแก้ม แล้วยังเกิดการระคายเคือง (Irritability) ในทารกหรือเด็กวัยเตาะแตะ (Toddler) และความเจ็บหรือพุพองที่ก้น (Buttock) ซึ่งเป็นต้นเหตุของอุจจาระร่วง (Diarrhea) ในเวลาต่อมา

ในปัจจุบัน ยังไม่มีการรักษาเฉพาะโรคนี้ เพราะเกิดจากเชื้อไวรัส แพทย์จำนวนมากไม่สั่งยาใดๆ แต่สามารถบรรเทาแต่ละอาการได้ อาทิ แพทย์อาจสั่งยาแก้ปวดลดไข้ (Analgesics) เพื่อบรรเทาไข้และเจ็บคอ ส่วนการติดเชื้อในเด็กโต วัยรุ่น (Adolescent) และผู้ใหญ่มักไม่รุนแรงและใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ อาการจะหายไปเอง

ตามปกติ จะมีผู้ป่วยเพียงจำนวนน้อยรายที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนทางประสาท (Neurological complications) อาทิ สมองอักเสบ (Encephalitis) เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) หรือ อัมพาตอ่อนแรงอย่างเฉียบพลัน (Acute flaccid paralysis) หรือ ปอดบวมน้ำ (Pulmonary edema) กล่าวคือมีเลือดออกในปอด (Pulmonary hemorrhage)

แหล่งข้อมูล:

  1. ยันไทยยังไม่มีกลายพันธุ์ไวรัสมือเท้าปาก http://www.dailynews.co.th/politics/136696 [2012, July 19].
  2. Hand, foot and mouth disease. http://en.wikipedia.org/wiki/Hand,_foot_and_mouth_disease [2012, July 19].