มีลอกซิแคม (Meloxicam)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

 มีลอกซิแคม (Meloxicam) คือ ยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAID, Non steroidal anti-inflam matory drug) ใช้บรรเทาอาการปวดและเป็นยาลดไข้ ตัวยาจะเริ่มออกฤทธิ์หลังจากรับประทานได้ประมาณ 30 - 60 นาที อาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงที่เด่นของยานี้เป็นเรื่องที่ตัวยาอาจทำให้เกิด ความดันโลหิตสูง   กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด   ภาวะหัวใจล้มเหลว กับผู้ป่วยบางรายสามารถเกิดการอุดตันจากลิ่มเลือดของเส้นเลือดและถึงขั้นตายได้ในที่สุด เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยก่อนการใช้ยานี้ควรต้องได้รับการตรวจคัดกรองและมีคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น

ยามีลอกซิแคมในต่างประเทศจะรู้จักกันดีในชื่อการค้าว่า “Mobic” รูปแบบของยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทานและยาฉีด

ยามีลอกซิแคมสามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ประมาณ 89% เมื่อยานี้เข้าสู่กระแสเลือด จะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 99% ตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยาอย่างต่อเนื่อง และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 20 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาประมาณ 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทยได้จัดให้ยามีลอกซิแคมเป็นยาอันตราย มีวางจำหน่ายตามร้านขายยาและสถานพยาบาลขนาดใหญ่ๆทั่วไป

มีลอกซิแคมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

มีลอกซิแคม

ยามีลอกซิแคมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น     

  • บรรเทาอาการปวดจากโรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis)
  • บรรเทาอาการปวดกระดูก/โรคข้อเสื่อม เข่าเสื่อม (Osteoarthritis)

มีลอกซิแคมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

 กลไกการออกฤทธิ์ของยาเมลอกซิแคมคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งเซลล์ของร่างกายในการสร้างสารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin, สารที่เกี่ยวข้องกับการปวด), ทรอมบอกเซน(Thromboxane, สารที่เกี่ยวข้องกับการหดตัวของหลอดเลือด และช่วยการจับตัวรวมกันของเกล็ดเลือด), และโพรสตาไซคลิน (Prostacyclin, สารที่เกี่ยวข้องกับการขยายตัวของหลอดเลือด) จากกลไกการลดสารเคมีเหล่านี้จึงอาจส่งผลให้เกิดฤทธิ์ของการรักษา

มีลอกซิแคมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยามีลอกซิแคมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 7.5 และ 15 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาฉีด ขนาด 15 มิลลิกรัม/1.5 มิลลิลิตร

มีลอกซิแคมมีขนาดรับประทานยาอย่างไร?

ยามีลอกซิแคมมีขนาดรับประทาน  เช่น

  • ผู้ใหญ่: เช่น รับประทาน 7.5 มิลลิกรัมวันละ1ครั้ง หากจำเป็นแพทย์จะปรับขนาดรับประทานเป็น 15 มิลลิกรัมวันละ1ครั้ง
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลระบุการใช้ยากับเด็กที่ชัดเจน การใช้ยานี้กับเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

อนึ่ง: สามารถรับประทานยานี้หลังหรือพร้อมอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเมลอกซิแคม ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น      

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเมลอกซิแคมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเมลอกซิแคม สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

มีลอกซิแคมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

 ยามีลอกซิแคมสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • อาจทำให้การทำงานของหัวใจและหลอดเลือดผิดปกติ
  • ความดันโลหิตสูง
  • ภาวะหัวใจล้มเหลว
  • กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • รู้สึกไม่สบายในช่องทางเดินอาหาร
  • เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ (แผลเปบติค)
  • มีภาวะเลือดออกง่าย
  • เกิดผิวหนังอักเสบ
  • มีอาการ Stevens - Johnson syndrome
  • เป็นพิษกับไต และ ทำให้ไตวายได้
  • อาจเกิดภาวะ ตับอักเสบ ตับวาย
  • คลื่นไส้
  • อ่อนเพลีย
  • ดีซ่าน

*อนึ่ง: สำหรับผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดจะมีอาการดังนี้ เช่น ง่วงนอน คลื่นไส้อาเจียน มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร (เลือดออกในทางเดินอาหาร) หากอาการพิษของยานี้รุนแรงมากสามารถพบภาวะความดันโลหิตสูง  ไตวายเฉียบพลัน ตับไม่ทำงาน/ตับวาย หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก เกิดอาการ โคม่า มีอาการชัก  หัวใจหยุดเต้น หากพบอาการดังกล่าวต้องรีบพาผู้ป่วยส่งแพทย์/ส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน  ซึ่งการปฐมพยาบาล แพทย์จะให้ยาถ่านกำมันต์เพื่อดูดซับพิษของยามีลอกซิแคม นอกจากนี้ อาจเร่งการกำจัดยามีลอกซิแคมออกจากร่างกายโดยให้กินยา Cholestyramine ขนาด 4 กรัม 3 ครั้ง/วัน และต้องเร่งให้มีการกำจัดยาโดยขับออกมากับปัสสาวะให้มากขึ้นโดยให้ดื่มน้ำสะอาดเพิ่มมากขึ้น อย่างน้อย 8 - 10แก้ว/วันเมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม

มีข้อควรระวังการใช้มีลอกซิแคมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยามีลอกซิแคม เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้หรือผู้ที่แพ้ยากลุ่ม Aspirin หรือแพ้ยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) -
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคหืด ผู้ที่เป็นลมพิษ ผื่นคัน
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดหัวใจ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้/แผลเปบติค ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง
  • ระวังการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยามีลอกซิแคมด้วย) ยาแผนโบราณ  อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด  และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

มีลอกซิแคมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยามีลอกซิแคมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น        

  • การใช้ยามีลอกซิแคม ร่วมกับยา Cyclosporine สามารถเพิ่มความเป็นพิษกับไตได้มากขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยามีลอกซิแคม ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นยา Warfarin สามารถเพิ่มความเสี่ยงของภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหารมากยิ่งขึ้น หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยามีลอกซิแคม ร่วมกับยาต้านไวรัส เช่นยา Tenofovir อาจก่อให้เกิดภาวะไตทำงานผิด ปกติ หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
  • ห้ามใช้ยามีลอกซิแคม ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นองค์ประกอบด้วยจะทำให้เกิดเลือดออกในทางเดินอาหารได้ง่ายยิ่งขึ้น

ควรเก็บรักษามีลอกซิแคมอย่างไร?

 สามารถเก็บยาเมลอกซิแคม:

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

มีลอกซิแคมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเมลอกซิแคม  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Cambic 15 (แคมบิก 15) L. B. S.
M.P. Osoth 15 (เอ็ม.พี. โอสถ 15) Osoth Interlab
Melcam (เมลแคม) Unison
Melobic (มีโลบิก) T.O. Chemicals
Mel-OD (เมล-โอดี) Zydus Cadila
Melox (มีลอกซ์) Siam Bheasach
Mobic (โมบิก) Boehringer Ingelheim

 

บรรณานุกรม

  1. https://www.mims.com/thailand/drug/info/meloxicam?mtype=generic   [2022,May21]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Meloxicam   [2022,May21]
  3. https://www.mims.com/thailand/drug/info/meloxicam?mtype=generic   [2022,May21]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/meloxicam.html  [2022,May21]