มีบูทาเมต (Mebutamate)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยามีบูทาเมต(Mebutamate) เป็นยาในกลุ่มคาร์บาเมต (Carbamate) ทางคลินิกนำมาใช้บรรเทาอาการวิตกกังวล เป็นยาสงบประสาท/ยาคลายเครียด และมีฤทธิ์ลดความดันโลหิตด้วย คุณสมบัติของการลดความดันโลหิตของยามีบูทาเมตมิได้ออกฤทธิ์ต่อเส้นเลือด/หลอดเลือดโดยตรง แต่จะออกฤทธิ์บริเวณสมองส่วนที่เรียกว่า ไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) และเมดัลลา (Medulla) ส่งผลให้หลอดเลือดเกิดการขยายตัวและทำให้ความดันโลหิตลดลงมา อย่างไรก็ตามประวัติของการใช้ยานี้มีมานานเกือบ 70 ปีแล้ว ทำให้ปัจจุบัน มียาลดความดันโลหิต ยาคลายความวิตกกังวล/ยาสงบประสาทรุ่นใหม่ที่มีความแรงและระยะเวลาการออกฤทธิ์ที่ยาวนานกว่า ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องรับประทานยาบ่อยๆเหมือนกับยามีบูทาเมต ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการลืมรับประทานยาตามมาได้

อนึ่ง เราจะไม่พบเห็นการใช้ยานี้ในประเทศไทยภายใต้ชื่อการค้าใด แต่มีการจัดจำหน่ายในต่างประเทศภายใต้ชื่อการค้า เช่น Capla และ Dormate

มีบูทาเมตมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

มีบูทาเมต

ยามีบูทาเมตมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้เป็นยาลดความดันโลหิต
  • ใช้บรรเทาอาการวิตกกังวล ช่วยสงบประสาท/คลายเครียด

มีบูทาเมตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยามีบูทาเมตมีกลไกการออกฤทธิ์ในสมองหรือระบบประสาทส่วนกลางบริเวณ Hypothalamus และMedulla ส่งผลต่อสารสื่อประสาทต่างๆและเกิดการปรับสมดุลของสารสื่อประสาทเหล่านั้น จนเป็นผลทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

มีบูทาเมตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยามีบูทาเมตมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่มีส่วนประกอบของ Mebutamate ขนาด 300 มิลลิกรัม/เม็ด

มีบูทาเมตมีขนาดการรับประทานอย่างไร?

ยามีบูทาเมตมีขนาดการรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 300 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง หรือ ตามคำสั่งแพทย์ โดยรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้

อนึ่ง:แพทย์อาจใช้ขนาดรับประทานเริ่มต้นครั้งละ 150 มิลลิกรัม เช้า–กลาง–เย็น และปรับเป็น 300 มิลลิกรัม ก่อนนอน

  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยามีบูทาเมต ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยามีบูทาเมต อาจส่งผลให้ อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยามีบูทาเมต สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

*แต่ด้วยยามีบูทาเมต มีการออกฤทธิ์เป็นระยะเวลาสั้นๆ จึงต้องรับประทานยานี้กรณีเพื่อลดความดันโลหิตวันละ 3–4 ครั้ง การลืมรับประทานยานี้ จึงอาจเป็นเหตุให้ความดันโลหิตสูงขึ้นมาได้

มีบูทาเมตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยามีบูทาเมตสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ดังนี้ เช่น ก่อให้เกิดอาการ คลื่นไส้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และง่วงนอน แต่ยังไม่มีรายงานอาการข้างเคียงอื่นๆที่รุนแรง

มีข้อควรระวังการใช้มีบูทาเมตอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยามีบูทาเมต เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบด้วยจะทำให้ผลข้างเคียงจากยานี้รุนแรงขึ้น
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามหยุดการรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • หากพบอาการแพ้ยานี้เกิดขึ้น เช่น บวม และ/หรือมีผื่นคัน ตามร่างกาย หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยามีบูทาเมตด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

มีบูทาเมตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยามีบูทาเมตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยามีบูทาเมต พร้อมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ด้วยจะทำให้ความดันโลหิตต่ำลงมากจนเกิดอันตราย มีอาการวิงเวียนมาก และง่วงนอนมากตามมา

ควรเก็บรักษามีบูทาเมตอย่างไร?

ควรเก็บยามีบูทาเมตภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น หรือเก็บตามเงื่อนไขที่ระบุในเอกสารกำกับยา เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

มีบูทาเมตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Axiten (แอคซิเทน)Zambon
Butatensin (บูทาเทนซิน)Benvegna Neoterapici
Capla (แคพลา)Inibsa Laboratorios
Dormate (ดอร์เมต)MedPointe Healthcare
Mebutina (มีบูทินา)Formenti Farmaceutici
Sigmafon (ซิกเมฟอน)Reggiano Laboratorio Farmaceutico
Vallene (แวลลีน)Simes

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Mebutamate [2017,Feb4]
  2. http://drugs-about.com/ing/mebutamate.html [2017,Feb4]
  3. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2642072/pdf/jnma00683-0098.pdf [2017,Feb4]
  4. http://www.tabletwise.com/medicine/mebutamate [2017,Feb4]