มินิพิล (Minipill)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยามินิพิล(Minipill) เป็นยาเม็ดคุมกำเนิดประเภทที่มีฮอร์โมนโปรเจสติน(Progestin หรือ Progestogen) อีกชื่อ คือยา POP(Progestogen only pill) เพียงตัวเดียวโดยไม่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเอสโตรเจน(Estrogen) โดยทั่วไป ปริมาณฮอร์โมนโปรเจนตินในยามินิพิลจะมีปริมาณที่น้อยกว่าโปรเจสตินในยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม(Estrogen + Progestin) ยามินิพิลมีกลไกการออกฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์อย่างง่ายๆ โดยฮอร์โมนโปรเจสตินจะทำให้ปากมดลูกมีเมือกออกมาเป็นปริมาณมากซึ่งกลไกดังกล่าวเป็นอุปสรรคที่ทำให้ตัวอสุจิไม่สามารถเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ของเพศหญิงได้ และทำให้เยื่อบุมดลูกบางตัวลง จนไม่เหมาะสมกับการฝังตัวเจริญเติบโตของไขที่ปฏิสนธิแล้ว นอกจากนี้ ยามินิพิลยังอาจกดการตกไข่ในสตรีเพศอีกด้วย ซึ่งแพทย์/เภสัชกร/พยาบาล มักจะแนะนำให้ผู้บริโภครับประทานยามินิพิลตรงตามเวลา และต่อเนื่อง เพื่อเกิดประสิทธิผลในการคุมกำเนิด

กลุ่มสตรีผู้ที่สามารถใช้ยามินิพิลในการคุมกำเนิดได้มีดังนี้ เช่น

  • อยู่ในภาวะเลี้ยงลูกด้วยนมบุตร: เป็นที่ทราบกันดีว่า ยาเม็ดคุมกำเนิดประเภทฮอร์โมนรวมที่มีเอสโตรเจนเป็นส่วนประกอบ จะส่งผลยับยั้งการหลั่งน้ำนมของมารดา ยามินิพิลซึ่งมีเพียงฮอร์โมนโปรเจสติน ไม่มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งน้ำนมมารดาจึงเหมาะที่จะใช้คุมกำเนิดในสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • สตรีที่มีปัญหาสุขภาพด้านหลอดเลือดในปอดอุดตันจากลิ่มเลือด หรือเป็นเส้นเลือด/หลอดเลือดขอด ที่อาจได้รับผลกระทบ(ผลข้างเคียง)มากขึ้น หากใช้ยาคุมกำเนิดที่มีส่วนประกอบของเอสโตรเจน
  • ยามินิพิลไม่ก่อให้เกิดความดันโลหิตสูง และยังใช้ได้กับสตรีที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป ยานี้จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้บริโภคกลุ่มนี้
  • ผู้ที่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีเอสโตรเจนเป็นส่วนประกอบแล้วเกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)มาก แพทย์จึงหลีกเลี่ยงการใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนรวม (Estrogen + Progentin)ดังกล่าว และแนะนำให้หันมาใช้ยามินิพิลซึ่งมีฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin) เพียงตัวเดียว

ยาเม็ดคุมกำเนิดมินิพิล สามารถตอบสนองต่อการคุมกำเนิดได้ดีในระดับหนึ่ง หากผู้ใช้มีความประสงค์อยากจะมีบุตร ก็สามารถหยุดการใช้ยามินิพิลเพื่อกลับมาตั้งครรภ์ได้ตามปกติ โดยใช้เวลาหลังหยุดการใช้ยามินิพิลเพียงไม่นาน

อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้ยามินิพิลมีข้อจำกัดอยู่หลายประการที่ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มไม่สามารถใช้ยาฮอร์โมนชนิดนี้ได้ เช่น

  • มีประวัติแพ้ยานี้ หรือแพ้โปรเจสติน
  • เป็นสตรีที่ป่วยหรือมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม
  • มีโรคตับเป็นโรคประจำตัว หรือมีเนื้องอกที่ตับ
  • มีประจำเดือนมาผิดปกติโดยที่ยังไม่ทราบสาเหตุ
  • อยู่ในช่วงลดน้ำหนักโดยอาศัยวิธีการผ่าตัด
  • ผู้ที่ได้รับยารักษาวัณโรค ยารักษาเอชไอวี/เอดส์ หรือยารักษาโรคลมชัก ควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกับยามินิพิล เพื่อป้องกันภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)
  • ผู้ที่ไม่สามารถรับประทานยาได้ตรงเวลา สม่ำเสมอ ทั้งนี้อาจขึ้นกับภาระหน้าที่ การงานหรือมีปัจจัยอื่นๆตามแต่บุคคล

ถึงแม้การใช้ยามินิพิล สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้มากกว่า 85% ขึ้นไป นั่นหมายความว่าผู้ที่ใช้ยามินิพิลก็มีโอกาสตั้งครรภ์ได้เช่นกัน หรือกรณีที่เกิดการตั้งครรภ์ขึ้นมาขณะที่ใช้ยามินิพิล ก็มีข้อมูลทางคลินิกมาสนับสนุนว่ายามินิพิล ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อทารกแต่อย่างใด เพียงต้องหยุดการใช้ยามินิพิล แล้วรีบมาพบสูตินารีแพทย์โดยเร็ว

ยามินิพิลเป็นฮอร์โมนที่ใช้คุมกำเนิด จึงไม่มีฤทธิ์ต่อต้านหรือรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ นอกจากนั้น ผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดอย่างยามินิพิล อาจได้รับอาการข้างเคียงเกิดขึ้นได้บ้าง อย่างเช่น ซึมเศร้า อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้ เกิดซีสต์/Cyst/ถุงน้ำรังไข่ น้ำหนักตัวเพิ่มหรือลดลง

ผู้ที่มีความประสงค์จะใช้ยามินิพิล ควรต้องผ่านการตรวจคัดกรองจากแพทย์ก่อน และสามารถสอบถามข้อมูลก่อนการใช้ยานี้ได้จากเภสัชกรตามร้านขายยาโดยทั่วไป

มินิพิลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

มินิพิล

ยามินิพิลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้เป็นยาเม็ดคุมกำเนิดในสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร หรือในผู้ที่แพ้ฮอร์โมนเอสโตรเจนในยาเม็ดคุมกำเนิดแบบชนิดรวม
  • ช่วยบรรเทากลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน

มินิพิลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยามินิพิลประกอบไปด้วยฮอร์โมนโปรเจสตินที่มีกลไกการออกฤทธิ์กระตุ้นให้เกิดเมือกในบริเวณปากมดลูก ทำให้การเดินทางของตัวอสุจิที่จะผ่านเข้าโพรงมดลูกเป็นไปได้ยาก โปรเจสตินยังส่งผลทำให้เยื่อบุมดลูกบางและมีการสร้างหลอดเลือดที่เป็นทางลำเลียงอาหารมาเลี้ยงตัวอ่อนน้อยลงจึงไม่เหมาะกับการฝังตัวของไข่ นอกจากนี้ โปรเจสติน อาจยับยั้งการตกไข่จากรังไข่ได้อีกด้วย ด้วยกลไกดังที่กล่าวมา จึงส่งผลให้ยามินิพิลมีคุณสมบัติในการคุมกำเนิดตามสรรพคุณ

มินิพิลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยามินิพิลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาเม็ดชนิดรับประทานบรรจุฮอร์โมนโปรเจสตินที่มีชื่อว่า Desogestrel ขนาด 75 ไมโครกรัม/เม็ด ขนาดบรรจุ 28 เม็ด/แผง

มินิพิลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยามินิพิลมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาเม็ดแรกในวันแรกที่เริ่มมีประจำเดือน โดยเลือกยาจากแถวบน ของแผงยาให้ตรงกับวันที่รับประทาน เช่น มีประจำเดือนวันพุธก็ให้รับประทานยาที่ระบุของวันพุธ โดยดูวันกำกับจากด้านหลังของแผงยา จากนั้นให้รับประทานยาต่อเนื่องวันละเม็ดในเวลาเดิมไปจนหมดแผง
  • เด็ก: ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก

อนึ่ง:

  • ห้ามใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์
  • สามารถรับประทานยานี้ ก่อนหรือหลัง อาหารก็ได้
  • หากเริ่มรับประทานยานี้ในวันที่ 2 – 5 ของการมีประจำเดือน ควรต้องใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมใน 7 วันแรกของการรับประทานยามินิพิล เช่น การใช้ถุงยางอนามัยชาย
  • ระหว่างที่รับประทานยามินิพิลแล้วเกิดมีประจำเดือน ไม่ต้องหยุดรับประทาน ให้รับประทานยาต่อเนื่องเหมือนปกติ
  • เมื่อรับประทานยาหมดแผงแล้ว สามารถเริ่มรับประทานยาแผงใหม่ในวันถัดไปได้เลย
  • กรณีเปลี่ยนการใช้ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมมาเป็นยามินิพิล หลังจาก รับประทานยาฮอร์โมนรวมเม็ดสุดท้ายแล้ว ในวันถัดมาก็สามารถรับประทานยามินิพิลต่อเนื่องได้เลย
  • กรณีเปลี่ยนจากการใช้ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนชนิดฉีด(ยาฉีดคุมกำเนิด)มาเป็นยามินิพิล เมื่อถึง กำหนดวันที่จะต้องฉีดยาคุมกำเนิดครั้งใหม่ ก็ให้หยุดการฉีดยาฮอร์โมนคุมกำเนิดดังกล่าว แล้วเริ่มรับประทานยามินิพิลได้ทันที
  • หลังคลอดบุตร หากต้องการใช้ยามินิพิล ให้เริ่มรับประทานยาในช่วงวันที่ 21 – 28 หลังจากที่คลอดบุตร หากเริ่มรับประทานยามินิพิลหลังจากวันที่ 28 ของการคลอดบุตร ในช่วง 7 วันแรกของการรับประทานยามินิพิล จะต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอื่น อย่างการใช้ถุงยางอนามัยชายร่วมด้วย
  • กรณีเกิดการตั้งครรภ์ขณะใช้ยามินิพิล ให้หยุดการใช้ยานี้ แล้วรีบมาพบสูตินรีแพทย์เพื่อทำการฝากครรภ์
  • การใช้ยามินิพิลกับสตรีที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร พบว่าตัวยามิได้รบกวนการสร้างน้ำนมของมารดา ตัวยาอาจผ่านทางน้ำนมไปถึงทารกได้บ้าง แต่มีรายงานทางคลินิกว่า ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบ(ผลข้างเคียง)ต่อทารกแต่อย่างใด
  • เมื่อหยุดการใช้ยามินิพิล ก็สามารถกลับมาตั้งครรภ์ได้เหมือนปกติ

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยามินิพิล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคลมขัก มีเส้นเลือด/หลอดเลือดขอด รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยามินิพิลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยามินิพิลเป็นเวลาน้อยกว่า 12 ชั่วโมง ให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แล้วรับประทานยามื้อต่อไปในวันถัดไปตามปกติที่เคย

หากลืมรับประทานยามินิพิลนานมากกว่า 12 ชั่วโมง ให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ และรับประทานยามื้อถัดๆไปในเวลาเดิม(หมายความว่า วันนั้นกินยา 2 เม็ด)

*อนึ่ง เพื่อประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด ควรรับประทานยามินิพิลตรงตามเวลาและต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง และเมื่อลืมรับประทานยานี้ ควรใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่น อย่างเช่น ถุงยางอนามัยชาย ร่วมด้วยในช่วง 7 วันถัดจากวันที่ลืมรับประทานยานี้

มินิพิลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยามินิพิลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆในร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ซึมเศร้า อารมณ์ทางเพศถดถอย
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดสิว ผมร่วง ผื่นคัน
  • ผลต่อกระบวนการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น คัดตึงเต้านม เต้านม ขยายใหญ่ขึ้น ประจำเดือนผิดปกติ ประจำเดือนขาด ปวดประจำเดือน น้ำหนักตัวเพิ่ม อ่อนเพลีย ตัวบวม

มีข้อควรระวังการใช้มินิพิลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยามินิพิล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับ เด็ก สตรีตั้งครรภ์ ผู้ที่มีเลือดประจำเดือนมาผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ ผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดแดง ผู้ป่วยเนื้องอกในตับ ผู้ที่มีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้เป็นยาป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ห้ามซื้อยารับประทานเองโดยไม่ขอคำปรึกษาก่อนจากแพทย์หรือเภสัชกรประจำร้านขายยา
  • ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ที่เป็นซีสต์/ถุงน้ำรังไข่ ผู้ที่มีแนวโน้มป่วยเป็นโรคตับ ผู้ที่มีอาการดีซ่าน ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคหืด ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ป่วยไมเกรน ผู้ที่มีอารมณ์ซึมเศร้า รวมถึงผู้ที่มีภาวะ Thromboembolism(ลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ)
  • กรณีที่รับประทานยามินิพิลเกินขนาด อาจพบอาการ คลื่นไส้ อาเจียน และมี ประจำเดือนมาเล็กน้อย
  • ระหว่างใช้ยามินิพิล ควรหลีกเลี่ยงการออกแดดจัดโดยตรง เพราะอาจเกิดผื่นแพ้แสงแดดได้ง่าย
  • การใช้ยาฮอร์โมนคุมกำเนิดที่รวมถึงยามินิพิล ควรต้องเรียนรู้การตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตนเองร่วมด้วย เช่น การตรวจคลำเต้านมด้วยตนเองว่า มีก้อนเนื้ออะไรผิดปกติหรือไม่ ปวดศีรษะไมเกรนบ่อย หรือมีหลอดเลือดขอดเพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งหากพบอาการผิดปกติต่างๆดังกล่าวต้องรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล
  • ควรตรวจร่างกายประจำปี เพื่อตรวจสอบ และควบคุมความผิดปกติต่างๆของร่างกายจากการใช้ยาคุมกำเนิด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยามินิพิลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

มินิพิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยามินิพิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยามินิพิล/Desogestrel ร่วมกับยา Phenobarbital, Amprenavir, Boceprevir/ยาต้านไวรัส, Carbamazepine, Griseofluvin, Rifampin, Clarithromycin, อาจทำให้ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดของยามินิพิลด้อยลงไป หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ Desogestrel ร่วมกับยารักษาโรคเบาหวาน อย่างเช่น Metformin, Glimepiride, อาจทำให้ประสิทธิภาพการควบคุมน้ำตาลในเลือดด้อยลงไป หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ Desogestrel ร่วมกับยา Theophylline อาจทำให้ระดับความเข้มข้นของยา Theophylline ในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น จนอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากยา Theophylline สูงขึ้น กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ Desogestrel ร่วมกับยา Diltiazem อาจทำให้ระดับของยา Desogestrel ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงสูงขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป

ควรเก็บรักษามินิพิลอย่างไร?

ควรเก็บยามินิพิลภายใต้อุณหภูมิ 2 – 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

มินิพิลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยามินิพิล ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Cerazette (เซราเซท)MSD
Nacrez (นาเครซ)Teva UK Limited

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Camila, Errin, Heather, Jolivette, Micronor, Nor-Q.D, Norethindrone, Cerelle, Norgestrel, Femulen, Norgeston, Noriday

บรรณานุกรม

  1. http://www.mayoclinic.org/tests-procedures/minipill/basics/why-its-done/prc-20012857[2016,Nov12]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/cerazette/?type=brief[2016,Nov12]
  3. http://www.netdoctor.co.uk/conditions/sexual-health/a2226/the-mini-pill-progestogen-only-pill-or-pop/[2016,Nov12]
  4. http://www.netdoctor.co.uk/medicines/sexual-health/a8922/aizea-desogestrel/[2016,Nov12]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/cerazette/dosage[2016,Nov12]
  6. https://www.drugs.com/uk/pdf/leaflet/825858.pdf[2016,Nov12]
  7. http://www.mims.com/thailand/drug/info/desogestrel/?q=desogestrel&mtype=generic[2016,Nov12]