มาลาเรียไม่กลัวเหล้าหรอกนะจะบอกให้ (ตอนที่ 4)

มาลาเรียไม่กลัวเหล้าหรอกนะจะบอกให้

โรคมาลาเรียถือเป็นโรคที่รุนแรงสำหรับหญิงตั้งครรภ์และทารกที่กำลังเจริญเติบโต เพราะทำให้ทั้งคู่สามารถเสียชีวิตได้ ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์จึงไม่ควรเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีโรคมาลาเรียอยู่

ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมาลาเรีย ได้แก่

  • การอยู่อาศัยหรือเดินทางไปยังประเทศที่มีโรคมาลาเรีย
  • การเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีโรคมาลาเรีย โดย
    • ไม่ได้กินยาป้องกัน ก่อนหรือหลังการเดินทาง หรือกินยาไม่ถูกต้อง
    • อยู่ในที่แจ้งในตอนเย็นโพล้เพล้และตอนกลางคืนซึ่งยุงออกหากิน
    • ไม่มีการป้องกันตนเองจากการโดนยุงกัด
  • คนที่มีการตัดม้ามทิ้ง (Splenectomy)

นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับอายุ ประวัติการเป็นโรคมาลาเรีย อยู่ระหว่างตั้งครรภ์หรือไม่ ส่วนใหญ่แล้วผู้ใหญ่ที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีมาลาเรียจะมีภูมิต้านทานเพราะเคยติดเชื้อมาแล้ว ดังนั้นจึงไม่ค่อยเป็นโรครุนแรง แต่สำหรับเด็กและนักเดินทางแล้วจะมีความเสี่ยงมากกว่าเพราะไม่เคยมีภูมิต้านทานมาก่อน ส่วนหญิงตั้งครรภ์ถ้าติดเชื้อก็จะมีอาการรุนแรง เพราะภูมิตานทานจะถูกกดระหว่างการตั้งครรภ์

ในการวินิฉัยโรค แพทย์จะทำการตรวจเลือดและวินิจฉัยฟิล์มเลือดแบบหนาและบาง (Thick and thin blood smears) เพื่อหาเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคมาลาเรีย โดย

  • นำเอาเลือดป้ายบนสไลด์ (Blood smear) ก่อนนำไปย้อม
  • ถ้าการย้อมครั้งแรกไม่แสดงว่ามีเชื้อมาลาเรีย แต่แพทย์สงสัยว่าเป็น ควรทำการทดสอบใหม่ทุก 8-12 ชั่วโมง ในช่วงเวลา 36 ชั่วโมง
  • ระหว่างการรักษา แพทย์จะใช้วิธีนี้เพื่อทดสอบว่าเชื้อมาลาเรียในเลือดได้ลดลงแล้วหรือยัง

นอกจากนี้ยังอาจทำการทดสอบด้วยวิธีอื่น เช่น

  • การทดสอบการทำงานของตับ เพื่อดูว่าตับถูกทำลายหรือไม่
  • การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count = CBC) เพื่อดูภาวะเลือดจาง (Anemia) จากการที่เชื้อไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดง
  • การทดสอบระดับน้ำตาลในเลือด (Blood glucose test)

การใช้ยาสามารถใช้ป้องกันและรักษาโรคมาลาเรียได้ แต่เชื้อมาลาเรียบางตัวที่ดื้อยาก็อาจมีชีวิตคงอยู่ในตับได้ หากไม่มีอาการแทรกซ้อน อาการไข้จะหายใน 36-48 ชั่วโมง และเชื้อจะหายไปจากเลือดภายใน 2-3 วัน

แหล่งข้อมูล

1. Malaria. http://www.webmd.com/a-to-z-guides/malaria-topic-overview [2016, August 7].

2. Malaria. http://www.nhs.uk/conditions/Malaria/Pages/Introduction.aspx [2016, August 7].