มารู้จัก DVT กัน ก่อนเดินทางสงกรานต์นี้ (ตอนที่ 4 และตอนจบ)

ในสหรัฐอเมริกา โรคหลอดเลือดดำอุดตัน (Deep vein thrombosis: DVT) เกิดขึ้นในอัตราส่วนปีละประมาณ 1 ต่อ 1,000 คนในผู้ใหญ่ มีการประมาณการกันว่า แต่ละปีชาวอเมริกันประมาณ 300,000 to 600,000 คนจะประสบภาวะลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือด (Venous thromboembolism: VTE) โดยที่ประมาณ 60,000 ถึง 100,000 จะถึงแก่ความตาย อันเนื่องมาจาก ภาวะหลอดเลือดอุดตันในปอด (Pulmonary embolism: PE)

DVT เกิดขึ้นในอัตราส่วนที่น้อยลงในเด็ก ประมาณ 1 ต่อ 100,000 คน ในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี จะป่วยเป็น DVT อาจเนื่องจากการเต้นของหัวใจต่อนาทีในอัตราสูง ที่เกิดจากวิถีชีวิตที่กระฉับกระเฉง (Active lifestyle) เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ใหญ่วัยกลางคนขึ้นไป ซึ่งระดับโปรตีนในเลือด ไม่เอื้ออำนวยต่อการจับตัวเป็นลิ่มของเลือด (Coagulation) และการเจ็บป่วยร่วม (Co-morbidity) อาทิ มะเร็ง (Malignancy)

ในการศึกษาวิจัยเรื่อง VTE ที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ ซึ่งผู้ป่วยทั้งหมดหรือส่วนใหญ่ ได้ผ่านการทดสอบตรวจวิเคราะห์ที่ถูกต้องแม่นยำแล้ว พบว่า อุบัติการณ์ของ VTE เกิดขึ้นระหว่าง 0.6 ถึง 1.7 ครั้ง (Eepisode) ต่อการคลอดลูกใน 1,000 ราย ในกรณีเกิดจากผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเข่าและสะโพก เกิด VTE (แม้ผู้ป่วยจะได้รับมาตรการป้องกัน) ในอัตราส่วนประมาณ 1 ต่อ 100 ราย หลังการใส่เข่าเทียมทั้งหมด หรือบางส่วน และประมาณ 1 ต่อ 200 ราย หลังการใส่สะโพกเทียมทั้งหมดหรือบางส่วน

ตามที่จารึกในประวัติศาสตร์ DVT เกิดขึ้นครั้งแรก ในศตวรรษที่ 13 ซึ่งมีการบันทึกถึง “ขาขวาของผู้ชายคนหนึ่งอายุ 20 ปี” หลังจากนั้นมีการตั้งข้อสังเกตถึงอุบัติการณ์ของ DVT ในผู้หญิงหลังการคลอดลูก ในปลายคริสต์ศักราช 1700s มีการออกประกาศสู่สาธารณชน แนะนำให้ทารกดื่มน้ำนมจากเต้าของมารดา (Breast feeding) เพื่อป้องกันปรากฎการณ์ดังกล่าว

DVT ได้รับการขนานนามว่า “ขานม” (Milk leg) เนื่องจากเป็นที่เข้าใจกันในเวลานั้นว่า เป็นผลมาจากการสะสมน้ำนมในขา ต่อมาในปี ค.ศ. 1856 พยาธิแพทย์ชาวเยอรมัน ชื่อ Rudolf Virchow ตีพิมพ์สิ่งที่เขาอ้างถึง ว่าเป็นสาเหตุ 3 ข้อ (Virchow's triad) ของภาวะหลอดเลือดมีลิ่มเลือด (Thrombosis) และเป็นกรอบการทำงานของเกิดภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ (Vernous thrombosis: VT) ที่ใช้อธิบายมาจนถึงปัจจุบัน

สาเหตุหลัก 3 ประการของ VT ก็คือ

  1. อัตราการไหลเวียนโลหิตดำต่ำลงหรือไม่ไหลเวียน (Venous stasis)
  2. การอักเสบของผนังหลอดเลือด (Endothelial damage and activation) และ
  3. การเพิ่มความเสี่ยงการอุดตันของหลอดเลือด [เลือดจะเป็นลิ่มได้ง่ายกว่าปรกติ] (Hyper-coagulability)

ส่วนวิธีแก้ไข และเป็นมาตรการป้องกันที่ได้ประสิทธิผล ก็คือการเดิน เพราะการเดินกระตุ้นให้กล้ามเนื้อของร่างกาย “อัดฉีด” (Pump) ให้เลือดพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ป้องกันการไหลช้าของเลือด ในกรณีที่ต้องนั่งบนเครื่องบิน หรือรถโดยสารเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในการเดินทางไกล ให้พยายามขยับข้อเท้า-ข้อเข่า โดยการกระดกข้อเท้าขึ้นลง งอเหยียดเข่า หรือถ้าเป็นไปได้ ให้ลุกขึ้นยืนสลับนั่งลง อย่างน้อยทุก 1 ชั่วโมง หรือลุกเดินไปมาทุกๆ 1–2 ชั่วโมง และไม่นั่งไขว้ขา (Cross legs) หรือไขว่ห้างนานเกิน 5 –10 นาทีต่อครั้ง เพื่อป้องกันการกดทับหลอดเลือดดำ โดยเฉพาะด้านหลังขาท่อนบนถึงน่อง นอกจากนี้ควรสวมชุดเดินทางให้หลวมเล็กน้อย ไม่สวมเสื้อผ้า ชุดชั้นใน หรือเข็มขัดรัดแน่นจนเกินไป

เมื่อได้เรียนรู้เรื่องราวของ DVT อย่างละเอียดเช่นนี้ คุณพร้อมที่จะเดินทางเที่ยวสงกรานต์ให้สนุกสนาน แล้วหรือยัง?

แหล่งข้อมูล:

  1. วิธีป้องกันหลอดเลือดอุดตัน+เส้นเลือดขอด+ขาบวม http://www.oknation.net/blog/health2you/2012/03/03/entry-3 [2012, April 10].
  2. Deep vein thrombosis. http://en.wikipedia.org/wiki/DVT [2012, April 10].