มาชูโป้ไวรัส

มาชูโป้ไวรัส-1

จากกรณี มีการแชร์ในโลกออนไลน์ว่า พบมาชูโป้ไวรัสปนเปื้อนในยาพาราเซตามอนแบบ 500 mg เพราะกินเข้าไปอาจได้รับอันตรายถึงตายนั้น ภก.ประพนธ์ อางตระกูล โฆษกสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า จากกรณียาดังกล่าวที่มีการแชร์กันนั้น เท่าที่เห็นในภาพแผงยาที่ถูกแชร์นั้นเป็นยาที่ผลิตจากประเทศอินเดีย และยืนยันว่าไม่ได้ขึ้นทะเบียนที่ประเทศไทย แปลว่าไม่มีวางขายที่ประเทศไทยแน่นอน อีกประเด็นคือ เชื้อมาชูโป้ไวรัสนั้นเป็นเชื้อที่ไม่สามารถเจริญเติบโตในที่แห้ง ดังนั้นมีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะที่จะปนเปื้อนตัวยาได้

ภก.ประพนธ์ กล่าวต่อว่า ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าสามารถทานยาพาราเซตามอนได้ปกติในไทย และอยากจะขอแจ้งเตือนว่าไม่ควรแชร์ข้อความดังกล่าวต่อเพราะจะเป็นการสร้างความตระหนกให้กับผู้อื่น ขอให้เชื่อมั่นว่าในไทยนั้นมีมาตราฐานการผลิตยาที่ดี มีสุขลักษณะการผลิตยาที่ดี สะอาดตามมาตรฐาน ผู้ที่มีหน้าที่ผลิตยานั้นก็มีสุขภาพพลานามัยที่ดี หากเจ็บป่วยก็ไม่สามารถทำงานได้ ดังนั้นการที่ยาจะปนเปื้อนเชื้อจุลลินทรีย์ต่างๆ เป็นไปไม่ได้

มาชูโป้ไวรัส (Machupo virus) เป็นเชื้อไวรัสหนึ่งในตระกูลอารีน่า (Arenaviridae family) ที่ค้นพบเมื่อปี พ.ศ.2506 ถือเป็นเชื้อที่ทำให้เกิดโรคที่รุนแรง มีระดับความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosafety level) ระดับที่ 4 กล่าวคือ มีระดับการควบคุมทางชีวภาพเพื่อป้องกันอันตรายจากเชื้อก่อโรคภายในห้องปฏิบัติการระดับสูงและระดับความเสี่ยงต่อชุมชนระดับสูง โดยเมื่อติดเชื้อเหล่านี้ยังไม่มีวิธีการรักษา

มาชูโป้ไวรัสเป็นต้นเหตุการระบาดของโรคไข้เลือดออกในโบลิเวีย หรือที่เรียกกันว่า Bolivian hemorrhagic fever (BHF) หรือ Black typhus หรือ Ordog Fever ซึ่งเป็นการติดเชื้อจากสัตว์มาสู่คน โดยโรคนี้มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 5-30

สัตว์ที่เป็นตัวพาหะของโรคนี้ก็คือ หนูที่มีขาสีขาวที่เรียกว่า Vesper mouse ซึ่งเป็นหนูพันธุ์พื้นเมืองของประเทศโบลิเวียตอนเหนือ โดยสัตว์ที่ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการ (Asymptomatic) ส่วนคนจะติดเชื้อนี้ด้วยการหายใจเอาละออง (Aerosolized) ที่มีเชื้อ การปนเปื้อนของเชื้อในอาหาร หรือการสัมผัสกับพื้นผิวที่มีเชื้อ ซึ่งเกิดจากน้ำลาย ปัสสาวะ หรืออุจจาระของสัตว์ที่ติดเชื้อ สำหรับการติดต่อจากคนสู่คนไม่ค่อยพบ

อาการของโรค BHF จะคล้ายกับอาการของโรคมาลาเรีย กล่าวคือ

  • เป็นไข้
  • อ่อนเพลีย (Malaise)
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดกล้ามเนื้อ (Myalgia)
  • ปวดข้อ (Arthralgia)
  • มีจุดเลือดออก (Petechiae) ในร่างกายส่วนบน (Upper body)
  • มีเลือดออกทางจมูกและเหงือก ซึ่งมักจะเกิดภายใน 7 วันหลังจากที่เริ่มมีอาการ

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาหรือยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคนี้โดยเฉพาะ แต่คนที่เคยได้รับเชื้อนี้แล้ว ร่างกายมักจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อในอนาคต ส่วนการรักษาที่ทำอยู่มักเป็นการให้ยาต้านไวรัส Ribavirin ทางหลอดเลือด และการป้องกันโรคที่ได้ผลที่สุดก็คือ การตัดความเชื่อมต่อระหว่างคนและหนู ด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์หนู

แหล่งข้อมูล:

  1. อย.ชี้ ข่าวไวรัสปนเปื้อนพาราฯ แทบเป็นไปไม่ได้ และไม่พบมีขึ้นทะเบียนในไทย. https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_246102 [2018, January 14].
  2. Bolivian hemorrhagic fever. https://en.wikipedia.org/wiki/Bolivian_hemorrhagic_fever [2018, January 14].
  3. Machupo.https://web.stanford.edu/group/virus/arena/2005/MachupoVirus.htm [2018, January 14].