โรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา มะเร็งไฝ (Cutaneous melanoma)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา หรือมะเร็งไฝ (Cutaneous melanoma หรือ Cutaeous malignant melanoma) เป็นโรคมะเร็งผิวหนังชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสีของผิวหนังที่ตำแหน่งใดก็ได้ ที่ชื่อว่า Melanocyte เกิดกลายพันธ์ไปเป็นเซลล์มะเร็ง กล่าวคือ เซลล์กลายพันธ์นี้จะเจริญแบ่งตัวอย่างรวดเร็วและร่างกายควบคุมการเจริญแบ่งตัวนี้ไม่ได้ จนเกิดเป็นก้อนมะเร็ง/แผลมะเร็งที่รุกราน/ลุกลามทำลายเนื้อเยื่อผิวหนังส่วนที่เกิดโรค ต่อจากนั้นจะรุกราน/ทำลายเนื้อเยื่ออวัยวะที่อยู่ข้างเคียง รวมถึงต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง และในที่สุดจะลุกลามเข้าระบบน้ำเหลืองรุกราน/ทำลายต่อมน้ำเหลืองที่ไกลออกไปทั่วตัวและ/หรือรุกราน/ทำลายเข้ากระแสเลือด/โลหิตไปทำลายอวัยวะต่างๆทั่วตัว พบบ่อยที่ ปอด กระดูก และสมอง

โรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา เป็นโรคมะเร็งที่เกิดกับผิวหนังตำแหน่งใดก็ได้ทั่วร่างกาย รวมทั้งผิวหนังส่วน หนังศีรษะ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และอวัยวะเพศ แต่พบได้สูงกว่าในตำแหน่งผิวหนังที่ได้รับแสงแดดเรื้อรัง

โรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา เป็นโรคมะเร็งของผู้ใหญ่ เป็นโรคที่พบได้เรื่อยๆ ไม่ถึงกับบ่อยนัก แต่มีรายงานพบสูงขึ้น ในคนผิวขาว ในเชื้อชาติตะวันตก และในวัยกลางคน โดยประ มาณ 60% ของผู้ป่วย พบโรคก่อนอายุ 65 ปี แต่มีรายงานพบในเด็กโตได้บ้างประปราย พบในผู้ชายได้สูงกว่าในผู้หญิง ทั้งนี้ มีรายงานพบในผู้ชายผิวขาว 30.9 ต่อประชากรชาย 100,000 คน ในผู้หญิงผิวขาว 19.7 รายต่อประชากรหญิง 100,000 คน ในขณะที่พบได้ 1.6 ราย และ 1.3 รายในชายและหญิงชาวเอเชีย และ 1.2 ราย และ 0.9 รายในชายและหญิงผิวดำ ต่อประชา กรชาย 100,000 คนและหญิง 100,000 คน ตามลำดับ

ส่วนในประเทศไทย ผู้ป่วยช่วงปีพ.ศ. 2553 – 2556(รายงานในปี พ.ศ. 2558) พบในผู้ชาย 0.5 ราย ต่อประชากรชาย 100,000 และในผู้หญิง 0.6 รายต่อประชากรหญิง 100,000 คนต่อปี

อนึ่ง เซลล์ Melanocyte นอกจากพบในผิวหนังแล้ว ยังพบได้ในเยื่อเมือก/เยื่อบุภายในอวัยวะต่างๆ (Mucosa) และในลูกตาได้อีกด้วย ดังนั้นโรคมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ Melanocyte จึงแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ที่มีธรรมชาติของโรคแตกต่างกัน คือ

  • โรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา (เกิดกับผิวหนัง) ซึ่งพบได้บ่อยกว่าอีก 2 กลุ่มมาก
  • โรคมะเร็งเยื่อเมือกเมลาโนมา (Mucosal melanoma) เป็นชนิดเกิดกับเยื่อเมือก
  • และที่เกิดในลูกตา คือ โรคมะเร็งลูกตาเมลาโนมา (Ocular melanoma)

แต่ในบทความนี้ จะกล่าวถึงเฉพาะ “โรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา” เท่านั้น ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยกว่ามะเร็งที่เหลืออีก 2 ชนิดมาก และได้แยกเขียนโรคมะเร็งทั้ง 2 ชนิดหลังในแต่ละบท ความ แนะนำอ่านเพิ่มเติมทั้ง2บทความได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง

  • มะเร็งเยื่อเมือกเมลาโนมา
  • และเรื่อง มะเร็งลูกตาเมลาโนมา

โรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมามีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

มะเร็งไฝ

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุเกิดของโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาที่แน่นอน แต่พบมีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่

  • เชื้อชาติ คนผิวขาวมีโอกาสเกิดโรคได้สูงกว่าคนเอเชียและคนผิวดำ
  • คนที่มีลักษณะผิวหนังบาง
  • คนที่แพ้แสงแดด หรือผิวไวต่อแสงแดด เช่น ขึ้นผื่น หรือเกิดตุ่มพองง่ายเมื่อตากแดด
  • ได้รับแสงแดดจัดเรื้อรัง
  • คนที่ตกกระมาก
  • มีไฝ หรือขี้แมลงวัน ตามตัวมาก มักมากกว่า 50 ไฝ/ขี้แมลงวันขึ้นไป
  • มีไฝขนาดใหญ่ตั้งแต่กำเนิด มักขนาดใหญ่กว่า 20 เซนติเมตร
  • มีไฝบางชนิด ที่เรียกว่า ไฝนอกแบบ (Atypical nervi ไฝที่มีลักษณะคล้ายกับก้อนเนื้อมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา)
  • มีไฝขนาดใหญ่ที่ขอบเขตของไฝไม่เรียบ
  • เคยเป็นโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา มาก่อน
  • มีคนในครอบครัว โดยเฉพาะสายตรง (พ่อ แม่ พี่ น้อง พ่อแม่เดียวกัน) เป็นมะเร็งชนิดนี้
  • เคยปลูกถ่ายอวัยวะ
  • มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง

โรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมามีอาการอย่างไร?

อาการของมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา ได้แก่

  • อาการของโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา ระยะที่โรคยังไม่ลุกลามแพร่กระจาย คือ มีการเปลี่ยนแปลงของไฝ หรือกระ ที่เรียกว่า เอ บี ซี ดี อี (ABCDE)
    • เอ/A คือ ไฝรูปทรงเปลี่ยนไป แต่ละข้างของตุ่มไฝโตไม่เท่ากัน คือไม่ได้สมมาตร (Asymmetry)
    • บี/B คือ ขอบ (Border) ของไฝ ไม่สม่ำเสมอ ไม่เรียบ
    • ซี/C คือ สี (Color) สีของไฝ ตลอดทั้งไฝมีหลากหลายเฉดสี เช่น ดำ น้ำตาล น้ำตาลแก่ น้ำตาลอ่อน และ/หรือ สีเนื้อ เป็นต้น
    • ดี/D คือ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง (Diameter) ของไฝใหญ่ขึ้นกว่าเดิม โดยทั่วไปมักใหญ่กว่า 6 มิลลิเมตร
    • อี/E คือ ไฝมีการเปลี่ยนแปลง (Evolving) เช่น ขนาดโตขึ้นต่อเนื่อง รูปร่างผิดปกติ สีผิด ปกติไปจากเดิม หรือ มีแผล หรือมีเลือดออก เป็นต้น
  • อาการในระยะที่โรคลุกลาม คือ นอกจากอาการจาก ’ตัวไฝ’ ดังกล่าวแล้วในข้อ’โรคยังไม่ลุกลามแพร่กระจาย’ ยังจะคลำได้ต่อมน้ำเหลืองใกล้รอยโรค (ส่วนที่ต่อเนื่องกับผิวหนังที่เกิดโรค) โต คลำได้ไม่เจ็บ เช่น เป็นมะเร็งที่เท้า อาจคลำได้ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบด้านเดียวกับโรค เป็นต้น
  • อาการในระยะที่โรคแพร่กระจาย ซึ่งจะขึ้นกับว่าโรคแพร่กระจายไปอวัยวะใด เช่น ปวดหลังมาก เมื่อโรคแพร่กระจายเข้ากระดูกสันหลัง หรือ ปวดศีรษะมาก ร่วมกับ คลื่นไส้ อาเจียน และแขนขาอ่อนแรง เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต เมื่อโรคแพร่กระจายไปสมอง เป็นต้น

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งผิวหนังได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ซึ่งที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังกล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจโดยการ ดู /คลำ ลักษณะของไฝ
  • และการตรวจคลำต่อมน้ำเหลือง
  • แต่ที่ได้ผลแน่นอน คือ การตัดไฝ หรือตัดชิ้นเนื้อจากไฝ เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
  • นอกจากนั้น คือ การตรวจเพื่อประเมินระยะของโรคมะเร็ง เช่น
    • เอกซเรย์ปอด ดูโรคแพร่ กระจายเข้าปอด
    • อัลตราซาวด์ตับ ดูโรคแพร่กระจายเข้าตับ
    • และ/หรือการสะแกนกระดูก (Bone scan) ดูการแพร่กระจายของโรคเข้ากระดูก เป็นต้น

โรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมามีกี่ระยะ?

ระยะโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา แบ่งเป็น 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งทั่วไป โดยบางระยะแบ่งย่อยได้อีก แต่ใช้สำหรับแพทย์โรคมะเร็งเพื่อใช้ช่วยในการพิจารณาวิธีรักษา การพยากรณ์โรค และเพื่อการศึกษา ระยะต่างๆของโรคได้แก่

  • ระยะที่ 1 ก้อนหรือแผลมะเร็งขนาดโตไม่เกิน 2 มิลลิเมตร (มม.) โดยแบ่งย่อยตามขนาดก้อน การแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง และการมีแผลแตก เป็นระยะ1A และ1B
  • ระยะที่ 2 ก้อนหรือแผลมะเร็งขนาดโตมากกว่า 2 มม. โดยแบ่งย่อยตามขนาดก้อน การแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง และการมีแผลแตก เป็นระยะ2A ระยะ2B และระยะ 2C
  • ระยะที่ 3 โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง โดยแบ่งย่อยตามขนาดก้อน การแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง การมีแผลแตก และจำนวนต่อมน้ำเหลืองที่โรคลุกลาม เป็นระยะ 3A ระยะ3B และระยะ3C
  • ระยะที่ 4 โรคแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต ซึ่งเมื่อแพร่กระจายมักแพร่กระจายสู่ ปอด กระดูก และสมอง

อนึ่ง ถ้าเซลล์มะเร็งลุกลามอยู่เฉพาะในเนื้อเยื่อบุผิว เรียกว่า เป็นมะเร็งระยะยังไม่มีการรุกราน(Preinvasive หรือ Preinvasive cancer) จัดเป็น ‘มะเร็งระยะศูนย์(Stage0)’ ดังนั้น หลายท่านจึงยังไม่จัดโรคระยะ0 นี้เป็นมะเร็งอย่างแท้จริง เพราะมะเร็งแท้จริงต้องมีการรุนราน(Invasive) ซึ่งโรคมะเร็งผิวหนังระยะนี้ ยังพบได้น้อยมาก

รักษาโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาที่สำคัญ และมีประสิทธิภาพที่สุด คือ การผ่าตัด ทั้งนี้เพราะโรคมะเร็งชนิดนี้ ค่อนข้างดื้อ ต่อยาเคมีบำบัด ต่อรังสีรักษา และต่อยารักษาตรงเป้า/ ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง (ซึ่งยานี้ ยังมีราคาแพงมากๆๆ เกินกว่า ผู้ป่วยทุกคนจะเข้าถึงยาได้)

ส่วนในระยะที่โรคลุกลาม หรือ มีการแพร่กระจายแล้ว ภายหลังการผ่าตัด แพทย์จะพิจารณาผู้ป่วยเป็นรายๆไป เพื่อการรักษาเพิ่มเติมต่อเนื่อง โดยอาจเป็นยาเคมีบำบัด รังสีรักษา และ/หรือยารักษาตรงเป้า /ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง (ยากลุ่มนี้ ได้มีการนำมารักษาทางคลินิกแล้ว แต่ยังไม่สามารถรักษาให้โรคหายขาดได้ เพียงแต่ในผู้ป่วยบางราย ยาอาจช่วยชะลอการลุกลามของโรคลงได้ในระยะเวลาเป็นเดือน) ทั้งนี้ขึ้นกับ ระยะโรค ผลชิ้นเนื้อหลังผ่าตัดจากการตรวจทางพยาธิวิทยา อายุ และสุขภาพร่างกายผู้ป่วย

มีผลข้างเคียงจากการรักษาอย่างไรบ้าง?

ผลข้างเคียง หรือ ผลแทรกซ้อนจากการรักษาโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา ขึ้นอยู่กับวิธีรักษา โดยผลข้างเคียงจะสูงขึ้นเมื่อ

  • ใช้หลายๆวิธีรักษาร่วมกัน
  • เมื่อมีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และ/หรือ โรคไขมันในเลือดสูง
  • เมื่อสูบบุหรี่
  • เมื่อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • และในผู้สูงอายุ

อนึ่ง ตัวอย่างผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากวิธีรักษาต่างๆ ได้แก่

  • การผ่าตัด: ผลข้างเคียง เช่น การสูญเสียอวัยวะ แผลผ่าตัดเลือดออก แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการใช้ยาสลบ
  • รังสีรักษา: เช่น ผลข้างเคียงต่อผิวหนัง และเนื้อเยื่อส่วนได้รับรังสี (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมใน เว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา)
  • ยาเคมีบำบัด: เช่น อาการ คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งส่งผลให้เลือดออกได้ง่าย และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ / หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง)
  • ยารักษาตรงเป้า: เช่น การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลต่างๆติดยาก เมื่อเกิดบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุให้ลำไส้ทะลุได้

โรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมารุนแรงไหม?

โดยธรรมชาติของโรค มะเร็งผิวหนังเมลาโนมาเป็นโรคที่มีความรุนแรง /มีการพยากรณ์โรคไม่ค่อยดี จากมีอัตราการลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง และ/หรือแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิตได้สูง และจากที่ได้กล่าวแล้วว่า เป็นโรคมะเร็งที่ค่อนข้างดื้อต่อ ยาเคมีบำบัด รังสีรักษา และต่อยารักษาตรงเป้า

โดยทั่วไป โรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา อัตรารอดที่ 5 ปีภายหลังการรักษาในโรค

  • ระยะที่ 1 ประมาณ 75-80 %
  • ระยะที่ 2 ประมาณ 40-70%
  • ระยะที่ 3 ประมาณ 30-40%
  • และระยะที่ 4 ประมาณ 0-10 %

มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ปัจจุบัน วิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาที่ดีที่สุด คือ

  • การหมั่นสำรวจผิวหนังของตนเอง โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยง ควรสำรวจผิวหนังของตนเองอย่างน้อยทุกเดือน
  • และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของ จำนวน ขนาด และลักษณะของไฝ หรือ ขี้แมลงวัน หรือมีความกังวลในไฝ/ขี้แมลงวันของตนเอง ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อการวินิจฉัยโรคที่แน่นอน

ป้องกันโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาอย่างไร?

วิธีป้องกันโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาที่มีการศึกษายืนยันว่า อาจช่วยลดโอกาสเกิดโรคลงได้ คือ

  • การหลีกเลี่ยงไม่ให้ผิวหนังได้รับแสงแดดจัดโดยตรงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแสง แดดในช่วงตอนเที่ยง ด้วยการสวมใส่เสื้อผ้าแขน ขายาว สวมหมวกปีกกว้าง และสวมแว่นกันแดดชนิดป้องกันแสงยูวี (UV) ได้อย่างน้อย 90% (ป้องกันมะเร็งชนิดนี้ต่อเนื้อเยื่อลูกตา) เมื่อต้องออกแดด แต่การใช้ครีมกันแดด ยังให้ผลในการป้องกันโรคมะเร็งชนิดนี้ได้ไม่ชัดเจน

ดูแลตนเอง ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิดที่รวมถึงมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาจะคล้ายกัน ปรับใช้ด้วยกันได้ ซึ่งที่สำคัญคือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง เช่น ก้อนเนื้อโตขึ้น
    • มีอาการที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น คลำพบต่อมน้ำเหลืองโตโดยที่ไม่เคยมีมาก่อน
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น ท้องเสียเรื้อรัง วิงเวียนศีรษะมาก
    • กังวลในอาการ

นอกจากนี้ แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในการดูแลผู้ป่วย/ดูแลตนเอง ได้ในเว็บ haamor.com ในบทความเรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง
  • และเรื่องการดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

บรรณานุกรม

  1. AJCC cancer staging manual , 8th edition
  2. Cyr, P. (2008). Atypical moles. Am Fam Physician. 78, 735-740.
  3. DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles& practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
  4. Haffty, B., and Wilson, L. (2009). Handbook of radiation oncology: basic principles and clinical protocols. Boston: Jones and Bartlett Publishers.
  5. Imsamran, W. et al. (2015). Cancer in Thailand vol Viii, 2010-2012, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
  6. Lemech,C., and Arkenau, H. (2012). Novel treatment for metastatic cutaneous melanoma and the management of the emergent toxicity. Clin Med Insights Oncol.6, 53-56.
  7. Perez,C., Brady, L., Halperin, E., and Schmidt-Ullrich, R. (2004). Principles and practice of radiation oncology. (4th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
  8. Rager., E. et al. (2005). Cutaneous: update on prevention, screening, diagnosis, and treatment. Am Fam Physician. 72, 269-276.
  9. Shenenberger, D. (2012). Cutaneous melanoma: a primary care perspective. Am Fam Physician. 85, 161-168.
  10. https://en.wikipedia.org/wiki/Melanoma [2019,Jan5]
  11. https://emedicine.medscape.com/article/1100753-overview#showall [2019,Jan5]