มะเร็งเส้นประสาท (ตอนที่ 3)

แพทย์สามารถทดสอบเพื่อวิเคราะห์ชนิดมะเร็งและการแพร่กระจาย เพื่อหาวิธีการรักษาที่ได้ผลดีที่สุด เนื้องอกบางชนิดสามารถวิเคราะห์ว่าเป็นมะเร็งได้ด้วยวิธีการตัดเนื้อเยื่อไปตรวจ (Biopsy) เพียงอย่างเดียว หากไม่สามารถตัดเนื้อเยื่อไปตรวจได้ แพทย์อาจหาวิธีอื่นเพื่อช่วยในการวิเคราะห์ การถ่ายภาพ (Imaging) สามารถใช้ดูว่ามะเร็งได้กระจายไปถึงไหน

การวิเคราะห์และการตรวจเพื่อประเมินผลสามารถทำได้โดยวิธีการต่างๆ ดังนี้

  • การตัดเนื้อเยื่อไปตรวจ (Biopsy) – วิธีอื่นๆ สามารถระบุได้ว่าเป็นมะเร็ง แต่มีเพียงวิธีการตัดเนื้อเยื่อไปตรวจเท่านั้นที่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าเป็นมะเร็งชนิดไหน
  • การตรวจเลือด/ปัสสาวะ (Blood/urine tests) แพทย์อาจนำตัวอย่างเลือดและปัสสาวะของคนไข้ไปตรวจดูระดับฮอร์โมนและสารอื่นๆ การตรวจปัสสาวะสามารถดูระดับฮอร์โมนอะดรีนาลีนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหากมีมากก็สามารถใช้เป็นการบ่งชี้ของการเป็นเนื้องอกประสาทต่อมไร้ท่อ (Pheochromocytoma) การตรวจเลือดด้วยการทดสอบกลูคากอน (Glucagon stimulation test) และ การทดสอบด้วยคลอนิดีน (Clonidine suppression test) เป็นการใช้วัดระดับฮอร์โมนอะดรีนาลีนซึ่งสามารถบ่งชี้ถึงเนื้องอกได้
  • การเอกซเรย์ (X-ray) เพื่อดูภาพภายในร่างกาย
  • การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan = Computed tomography scan) หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่วยในการระบุตำแหน่ง (CT-guided needle biopsy) การใช้ภาพ 3 มิติเพื่อดูภาพในร่างกาย ดูขนาดของก้อนเนื้องอก อาจมีการใส่สีเพื่อให้ภาพชัดขึ้นด้วยการฉีดสีหรือการกินสารย้อมสี
  • การตรวจด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอ (MRI = Magnetic resonance imaging) เป็นการใช้สนามแม่เหล็ก ไม่ใช่เอ็กซเรย์ เพื่อดูภาพในร่างกาย อาจมีการใส่สีเพื่อให้ภาพชัดขึ้นด้วยการฉีดสีหรือการกินสารย้อมสี

สำหรับการรักษานั้นขึ้นอยู่กับชนิดของก้อนเนื้อและอาการของผู้ป่วย มีทั้งการผ่าตัด การให้รังสีบำบัด/รังสีรักษา (Radiation) และการให้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) ซึ่งการรักษาผู้ป่วยที่เป็น Neurogenic Tumor ที่ก้อนเนื้อทรวงอกส่วนหลังนั้นมักใช้วิธีการผ่าตัดเป็นหลัก

นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ในกลุ่มมะเร็งที่พบมากในวัยรุ่นและมักคิดไม่ถึง เนื่องจากอาจเข้าใจว่ามาจากการเจ็บปวดจากการเล่นกีฬา หรือการทำกิจกรรมต่างๆ มากเกินไป คือ มะเร็งกล้ามเนื้อ จะพบว่ามีก้อนเนื้อใต้ผิวหนังปูดขึ้นมาจนเห็นได้ชัด หรือในกรณีไม่สามารถมองเห็นชัดเจน แต่สามารถคลำจนพบผิดสังเกตและมีอาการเจ็บ ซึ่งแตกต่างจากการเป็นซีสต์ที่มีลักษณะก้อนเล็กๆ นิ่มๆ และมักหายเองได้

ทั้งนี้ หากมีลักษณะดังกล่าวและรู้สึกว่าไม่หายเองประมาณ 2 สัปดาห์ ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย นอกจากนี้ ยังมีมะเร็งกระดูกซึ่งส่วนใหญ่จะพบในวัยอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่บางครั้งก็พบได้ในกลุ่มอายุน้อยแต่ไม่มาก โดยบางครั้งวิ่งๆ อยู่ หรือแทบไม่ได้ทำอะไรเกิดอาการขาหัก กระดูกหัก ไม่ทราบสาเหตุ สิ่งเหล่านี้ก็ควรมีการตรวจวินิจฉัยด้วยเช่นกัน

แหล่งข้อมูล:

  1. คุณหมอเตือนภัย โรคร้ายของวัยทีน http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1373688910&grpid=&catid=09&subcatid=0902 [2013, July 15].
  2. Neuroendocrine Tumor. http://www.cancer.net/cancer-types/neuroendocrine-tumor [2013, July 15].
  3. Mediastinal Tumor. http://health.nytimes.com/health/guides/disease/mediastinal-tumor/overview.html [2013, July 15].